ส่องม.44ลัดขั้นตอน"อีไอเอ"

fas fa-pencil-alt
ข่าวสด
fas fa-calendar
15 มีนาคม 2559

เสียงค้านดังกระหึ่มต่อการใช้อำนาจตาม ม.44 แก้ไขกฎหมายสิ่งแวดล้อมของคสช.

เนื่องจากเปิดช่องให้รัฐหาผู้รับเหมาโครงการได้ในระหว่างรอผลการวิเคราะห์ผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม หรืออีไอเอ

ภาคประชาชนยื่นคัดค้านทันที เพราะมองว่าเป้าหมายเพื่อเร่งรัดการลงทุนขนาดใหญ่ ซึ่งมักมีปัญหาเรื่องการทำลายสิ่งแวดล้อมและมีผลกระทบต่อสุขภาพประชาชน

จินตนา แก้วขาว

ประธานกลุ่มอนุรักษ์ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมบ้านกรูด จ.ประจวบคีรีขันธ์

มาตรา 44 ไม่เหมาะที่จะนำมาใช้กับเรื่องสิ่งแวดล้อม จะไม่มีหลักยึดในการดำเนินการเรื่องสิ่งแวดล้อมในไทยเลย ทำให้ขาดการมีส่วนร่วมของประชาชน และประชาชนไม่สามารถเรียกร้องเรื่องที่ส่งผลกระทบกับพวกเขาได้เลย และยังจะไม่มีเครื่องมือประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม

แม้ที่ผ่านมาตัวรายงานอีไอเอจะมีปัญหาความน่าเชื่อถือมาโดยตลอด เพราะรายงานทุกโครงการเมื่อตรวจสอบตรงจุดไหนก็มีปัญหา แต่อย่างน้อยอีไอเอยังถูกใช้เป็นเครื่องมือต่อรองกับรัฐ

เป็นเครื่องมือที่ทำให้ชาวบ้านเข้าไปมีส่วนร่วมแสดงความคิดเห็นในโครงการที่จะส่งผลกระทบต่อชีวิตและปากท้อง และยังสามารถชะลอโครงการที่รัฐกำลังจะก่อสร้างได้

คำสั่งที่อนุญาตให้ดำเนินโครงการก่อนอีไอเอผ่านได้นั้นขัดหลักการสิ่งแวดล้อม เพราะไม่มีทางที่ผู้ทำโครงการไปแล้วจะรื้อสิ่งที่เขาทำได้หากโครงการไม่ผ่าน

เช่น หากมีการสร้างท่าเรือน้ำลึกปากบารา จ.สตูล ลงเสาเข็มไปแล้วจะถอนออกได้หรือไม่ ฉะนั้นเมื่ออีไอเอตามหลังก็ต้องทำตามธงที่ได้ตั้งไว้ จะหลีกเลี่ยงประเด็นข้อสงสัยต่างๆ เพื่อทำให้อีไอเอผ่าน

จากนี้ไปเชื่อว่าจะมีการเร่งอนุมัติโครงการต่างๆ ทั้งท่าเรือน้ำลึกปากบารา จ.สตูล ถนนเลียบเจ้าพระยา และการก่อสร้างเขื่อนต่างๆ เช่น เขื่อนแม่วงก์ ซึ่งเป็นโครงการที่ประชาชนในพื้นที่ออกมาต่อต้าน สังคมโดยมากไม่ยอมรับ และไม่สามารถทำได้เลยหากเป็นวิธีการปกติ

เช่น ท่าเรือน้ำลึกปากบารา ถ้าจะดำเนินการต้องเพิกถอนพื้นที่อุทยานแห่งชาติ จึงมีความพยายามจะใช้คำสั่งดังกล่าวเร่งรัดการดำเนินการ ชาวบ้านในพื้นที่เป้าหมายต้องเตรียมตัวรับมือและเฝ้าระวังกับการพัฒนาที่จะเกิดขึ้น

คำสั่งดังกล่าวจะทำให้เกิดความขัดแย้งขึ้นในพื้นที่อย่างแน่นอน แต่เดิมคู่ขัดแย้งที่เกิดจากการพัฒนาคือทุนกับชาวบ้าน แต่การออกคำสั่งนี้เหมือนฝ่ายทุนให้รัฐเข้ามาเป็นคู่ขัดแย้ง และจัดการกับชาวบ้าน โดยที่รัฐมีมาตรา 44 และหน่วยงานความมั่นคงอยู่ในมือ

อยากเสนอให้รัฐบาลยกเลิกคำสั่ง เพราะกลไกปกติสามารถลงทุนและพัฒนาอุตสาหกรรมได้อยู่แล้ว

เพียรพร ดีเทศน์

นักสิ่งแวดล้อมลุ่มน้ำโขง-สาละวิน

คำสั่งนี้ทำลายกระบวนการทั้งหมดในการตัดสินใจอย่างมีส่วนร่วม ทำลายกระบวนการป้องกันและบรรเทาผลกระทบที่จะเกิดขึ้นจากโครงการพัฒนาทั้งเขื่อน รถไฟ โรงไฟฟ้า เขตเศรษฐกิจพิเศษ ฯลฯ

และถีบชาวบ้านผู้ได้รับผลกระทบให้หลุดออกไปจากกระบวนการตัดสินใจอย่างเสร็จสมบูรณ์ ที่สำคัญเป็นการเอาทรัพยากรส่วนรวมประเคนให้กลุ่มทุนอุตสาหกรรมก่อสร้าง

ในทางสากล มาตรฐานต่ำสุดของโลกในการดำเนินโครงการที่มีผลกระทบร้ายแรงต่อชุมชนและสิ่งแวดล้อมคือการจัดทำรายงานอีไอเอ ซึ่งใช้ในการประกอบการตัดสินใจว่าโครงการนั้นๆ มีผลกระทบหรือไม่ หากมีจะบรรเทาและแก้ไขอย่างไร หรือถ้ามีผลกระทบร้ายแรงมากอาจนำไปสู่การยกเลิกโครงการ หรือพิจารณาทางเลือกอื่นๆ

จากประสบการณ์การทำงานในการเมืองระบอบปกติ รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง อีไอเอมีความหมายน้อยมาก แทบจะเป็นเพียงแค่ตรายางที่ทำให้โครงการได้รับอนุมัติเท่านั้น แต่ขณะนี้อีไอเอยิ่งถูกลดทอนความสำคัญ แทบไม่มีความหมายใดๆ ตามคำสั่งนี้

การออกคำสั่งดังกล่าวอาจเกี่ยวกับการเร่งลงทุนโครงการเขื่อนต่างๆ โดยเฉพาะเขื่อนที่เกี่ยวข้องกับข้ออ้างเรื่องแก้ปัญหาภัยแล้ง อาทิ โครงการเขื่อนแม่แจ่ม เขื่อนแม่ขาน เขื่อนคลองชมพู เขื่อนแก่งเสือเต้น เขื่อนห้วยตั้ง เขื่อนแม่วงก์ เขื่อนท่าแซะ เขื่อนรับร่อ เขื่อนคลองกลาย เขื่อนลำสะพุง

หรือโครงการผันน้ำจากลุ่มน้ำนอกประเทศ ทั้งจากลุ่มน้ำโขง และลุ่มน้ำสาละวิน ซึ่งจะยิ่งเกิดปัญหาผลกระทบข้ามพรมแดนซับซ้อนขึ้นไปอีก

นอกจากนี้ อาจรวมถึงโครงการท่าเรือน้ำลึกชุมพร และปากบารา และรถไฟสีต่างๆ ที่กำลังเร่งผลักดันอยู่ในขณะนี้

วิธีการที่ทำให้อีไอเอเป็นแค่น้ำจิ้ม ไม่ได้เป็นฐานข้อมูลในการตัดสินใจ จะทำให้เสี่ยงต่อการเกิดผลกระทบรุนแรงและกว้างขวางต่อสิ่งแวดล้อมและทรัพยากร รวมทั้งประชาชนในพื้นที่

ประสิทธิ์ชัย หนูนวล

เครือข่ายปกป้องอันดามันจากถ่านหิน

ไม่เห็นด้วยกับคำสั่งดังกล่าว เป็นการเขียนที่ส่อเจตนา เป็นการลักลั่น เสมือนเป็นการผลักดันโครงการของรัฐหรือรัฐวิสาหกิจ เช่นเดียวกับคำสั่งยกเว้นการใช้บังคับกฎหมายผังเมืองและกฎหมายควบคุมอาคารในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ และคำสั่งยกเว้นการใช้บังคับกฎหมายผังเมืองรวม

ไม่รู้ว่าต่อไปจะปลดล็อกเรื่องอะไรอีก อาจมีมาตรการบังคับระยะเวลาในการพิจารณาอีไอเอ หรือมีเงื่อนไขบางอย่างเข้ามาแทรกแซงแบบเบ็ดเสร็จ คำสั่งเหล่านี้ล้วนมีช่องว่างเอื้อประโยชน์ให้มีการสร้างโครงการต่างๆ ทั้งสิ้น โดยไม่สนใจชาวบ้าน องค์กร หรือเครือข่ายที่ต่อต้านเลย

มองว่าคำสั่งไม่มีข้อดีแม้แต่นิดเดียว เพราะส่งผลกระทบทั้งด้านสิ่งแวดล้อม หลักธรรมาภิบาล สิทธิชุมชน หากจะอ้างว่าเพื่อช่วยลดระยะเวลาดำเนินการให้สั้นลง คงฟังไม่ขึ้น รวดเร็วแต่ส่งผลกระทบรอบด้าน คำสั่งนี้คงจะดีกับกลุ่มนายทุนเพียงกลุ่มเดียว

หากเป็นการย่นระยะเวลาให้รวดเร็วขึ้นย่อมมีช่องว่างของการทุจริต เพราะไม่เคร่งครัดตามกระบวนการที่ควรจะเป็น ขั้นตอนของอีไอเอจะมีรายละเอียดทุกอย่างของโครงการ ทั้งการก่อสร้าง เนื้อที่ก่อสร้าง หรือสร้างผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมมากแค่ไหน

การใช้งบประมาณ แต่หากไปดำเนินการจัดจ้าง หรือประกวดราคากันไว้ตั้งแต่ต้นก็เหมือนล็อกบริษัทที่มาร่วมประมูลไว้แล้ว เพราะหากมีการพิจารณาอีไอเอแล้วต้องปรับโครงสร้างการก่อสร้างจะทำอย่างไรต่อ เป็นกระบวนการที่ผิดสังเกต ทำไมต้องเร่งผลักดัน มีใครเข้าไปเกี่ยวข้องกับคำสั่งนี้หรือไม่

คำสั่งที่ระบุว่าเป็นโครงการเร่งด่วนใน 5 ด้าน ได้แก่ การคมนาคมขนส่ง การชลประทาน การป้องกันสาธารณภัย โรงพยาบาล และที่อยู่อาศัย โดยโครงการของระบบชลประทาน กับการคมนาคมค่อนข้างน่ากลัวเพราะสามารถครอบคลุมถึงเขื่อน หรือท่าเรือขนส่งถ่านหินได้

โครงการหรือกิจการทั้ง 5 ด้านสามารถตีความได้กว้างมาก นั่นหมายถึงหายนะที่กำลังจะเกิดในประเทศไทยที่ต้องสูญเสียทรัพยากรธรรมชาติไปอย่างมหาศาล


เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง