ต้าน “แก่งเสื้อเต้น”ลั่นต่อสู้รักษาป่าสัก/เผาหุ่นแช่งนายกฯ
ชาวบ้านร่วม 300 คนทำพิธีสาปแช่งเผาหุ่น “สมัคร”ยืนยันต่อสู้รักษาป่าสักทองผืนสุดท้ายจนวันตาย พร้อมท้าลงนับรายต้นว่ามีน้อยกว่า 5 หมื่นต้นจริงหรือไม่ ด้านนายอำเภอสองประกาศเข้าข้างคนถูกต้อง ส่วนกมส.เตรียมส่งข้อเท็จจริงหลังบุกพิสูจน์พื้นที่ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
เมื่อวันที่ 21 มิ.ย.51 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่บริเวณหน่วยพิทักษ์ผาอิง อุทยานแห่งชาติแม่ยม จ.แพร่ นายบำเพ็ญ บินไทยสงค์ นายอำเภอสอง จ.แพร่ นายหาญณรงค์ เยาวเลิศ สมาชิกสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ พร้อมด้วย นายมนูญ สุวรรณภักดี รองประธานเลขาธิการคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ได้ร่วมกับ ชาวบ้านหมู่ที่ 1, 5 , 6 และ 9 ต.สะเอียบ ที่คัดค้านโครงการก่อสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้น นำโดยนายเส็ง ขวัญยืน ผู้ใหญ่บ้าน หมู่ที่ 9 ต.สะเอียบ และกำนันชุม สะเอียบคง ได้ร่วมกันจัดพิธีสืบชะตาแม่น้ำยม และทำพิธีสาบแช่งนายสมัคร สุนทรเวช นายกรัฐมนตรี ที่ประกาศผลักดันการสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้นเมื่อวันที่ 5 มิ.ย.ที่ผ่านมา ซึ่งเป็นวันสิ่งแวดล้อมโลก โดยมีชาวบ้านกว่า 300 คนเข้าร่วมพิธีครั้งนี้
ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่า พิธีสาปแช่งนายสมัคร ได้นำหุ่นฟางติดป้ายชื่อของนายสมัครก่อนจุดไฟเผา รวมทั้งชาวบ้านยังเผาพริก เผาเกลือ สาปแช่งอีกด้วย หลังจากนั้นได้นำดวงวิญญาณของนายสมัคร ใส่หม้อดินไปถ่วงในแม่น้ำยม
นายบำเพ็ญ กล่าวว่า การทำพิธีกรรมสืบชะตาแม่น้ำยมและการบวชป่า เป็นพิธีศักดิ์สิทธิ์ที่ชาวบ้านในพื้นที่ได้ร่วมกันทำมาอย่างต่อเนื่อง เพราะเชื่อว่าต้นไม้ทุกต้นมีเทวดาคุ้มครองอยู่ ส่วนการทำพิธีการสาปแช่งใครนั้น ถือเป็นสิทธิ์ที่ทำได้ เพราะเป็นหนึ่งในกระบวนการแสดงออก อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมาคนข้างนอกมักกล่าวหาว่า ไม้สักทองที่อุทยานแม่ยมเหลือน้อย แม้แต่กรรมาธิการวุฒิที่เป็นคนแพร่ แต่ไม่อยู่ที่ อ.สอง ก็ยังไม่รู้ข้อเท็จจริง เพราะคนเหล่านั้นไม่เคยมาเดินป่าและดูข้อเท็จจริงว่า ไม้สักยังสมบูรณ์แค่ไหน และนั่นเป็นเหตุผลว่าทำไมคนที่นี่จึงประกาศไม่เอาเขื่อน และจะสู้ตายเพื่อปกป้องป่าสักแห่งนี้ไว้จากโครงการพัฒนาที่รัฐผลักดันเข้ามาในรัฐบาลทุกยุคทุกสมัย
“จากการลงพื้นที่พบว่า ป่าสักทองยังมีความสมบูรณ์มาก ไม่ควรถูกทำลายจากการสร้างเขื่อน ทั้งนี้ถึงจะหาว่าผมเข้าข้างใคร ก็ไม่ผิด เพราะผมเข้าข้างคนที่ถูกต้อง โดยก่อนหน้านี้เมื่อช่วงเดือน มี.ค.ที่ผ่านมา มีความพยายามทำลายป่าสักทองในอุทยานแห่งชาติแม่ยม โดยการหยอดยาและสับให้ยืนต้นตายจำนวน 450 ต้น และถูกกานรอยยืนต้น 61 ต้น มีร่องรอยการตัดไม้ 163 ต้น รวมทั้งหมด 664 ต้น โดยเรื่องดังกล่าวได้เข้าไปตรวจสอบกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องหลังจากชาวบ้านร้องเรียนให้เข้าไปตรวจสอบข้อเท็จจริง และพบว่ามีการลักลอบทำลายไม้สักจริง จึงยืนยันที่จะเอาใจช่วยชาวบ้านต่อสู้เพื่อไม่ให้มีโครงการเขื่อนในพื้นที่นี้”นายบำเพ็ญ กล่าว
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังจากนั้นชาวบ้านและกลุ่มตะกอนยม รวมทั้งชาวบ้านในพื้นที่จำนวน 50 คน ได้เข้าไปบวชป่าสักทอง พร้อมกับพาสื่อมวลชนลงพื้นที่บริเวณดงสักงาม ซึ่งพบว่า สภาพป่าสักที่มีทั้งขนาดใหญ่ ขนาดกลาง ขนาดเล็กที่งอกจากเมล็ดที่หล่นลงมาที่พื้นดินยังมีความหนาแน่นสมบูรณ์อยู่ โดยนายมนูญ กล่าวว่า ทางกสม.ต้องการมาเห็นด้วยตาและเอาข้อเท็จจริงไปเปิดเผยต่อสาธารณชน และจะส่งข้อมูลไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับโครงการก่อสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้น เนื่องจากที่ผ่านมาข้อมูลที่เอามาเปิดเผยกันนั้นเป็นข้อมูลที่ไม่ทันสมัยกับความเป็นจริงในตอนนี้ ทำให้เกิดความคลาดเคลื่อน
ด้านนายเส็ง กล่าวว่า อยากให้นายสมัครรับรู้ว่า การอยู่ใต้ร่มไม้มันมีความร่มเย็นแค่ไหน ซึ่งเป็นเรื่องไม่ต้องพิสูจน์ว่าระหว่างการสร้างเขื่อนกับการปลูกต้นไม้อันไหนลดปัญหาโลกร้อนมากกว่ากัน แต่เนื่องจากนายกรัฐมนตรีนั้นอยู่แต่ในห้องแอร์ จึงไม่รู้ถึงปัญหา หากต้องการสร้างเขื่อนคงต้องทำห้องแอร์ล้อมเขื่อนไว้ด้วย
ผู้สื่อข่าวถามว่าชาวบ้านได้เสนอวิธีการแก้ไขปัญหาจัดการน้ำแทนการสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้นหรือไม่ นายเส็ง กล่าวว่า เสนอมาตลอด หลายยุคหลายสมัย เช่นโครงการขนาดเล็ก ตามแม่น้ำสาขาที่ไม่ส่งผลกระทบต่อทรัพยากรธรรมชาติมาก และสร้างความเสียหายต่อป่าสักทองผืนสุดท้าย และคนต้นน้ำยังได้ประโยชน์ ซึ่งหน่วยงานของรัฐบาลมักที่จะอ้างว่า ลงทุนไปแล้วจะไม่คุ้มค่า ซึ่งความจริงเป็นปัญหาการกินหัวคิวซะมากกว่า
เมื่อถามว่า ถ้าหากรัฐบาลยังยืนยันที่จะเดินหน้าโครงการนี้ ชาวบ้านจะทำอย่างไร นายเส็ง กล่าวว่า นโยบายของรัฐบาลจะเป็นอย่างไรก็แล้วแต่ แม้ว่าจะไม่เอาต้นไม้ซักต้นเลยก็ตาม แต่ชาวบ้านก็ยังยืนยันที่จะอยู่ที่นี่ และยืนยันที่จะฟื้นฟูสภาพป่า เพราะชาวบ้านรู้ดีถึงคุณค่าของป่าผืนนี้ที่หาไม่ได้อีกแล้วในระยะ 700 กิโลเมตรของลุ่มน้ำยม โดยขอให้รัฐบาลมองอย่างรอบด้าน ไม่ใช่มองที่การแก้ไขปัญหาน้ำท่วมอย่างเดียว
ทั้งนี้ นายเส็งยังฝากถึงนายสมัครว่า ในพื้นที่ 4-5 หมื่นไร่ ที่เกิดปัญหาน้ำท่วมนั้น มีไม้สักน้อยกว่า 50,000 ต้นจริงหรือและถ้ามีน้อยกว่า 50,000 ต้นจริง ตนและชาวบ้านจะยอมให้สร้างเขื่อน แต่ถ้ามีไม้สักมากกว่าห้าหมื่นต้น นายกรัฐมนตรี ต้องบอกให้ทุกหน่วยงานเลิกพูดเรื่องเขื่อนไปจนวันตาย