ต้านเขื่อนแก่งเสือเต้นเข้ากรุง 31 มี.ค.จี้รัฐเลิกโครงการ-ยันไม่ร่วม“เสื้อแดง”แน่
แพร่ – ม็อบเขื่อนแก่งเสือเต้นลงมติส่งตัวแทนเข้ากรุง 31 มี.ค.นี้ ผนึกกำลังร่วมกับสมัชชาคนจน เสนอทางออกรัฐบาลยุติโครงการสร้างเขื่อนเจ้าปัญหา หันมาฟื้นฟูลุ่มน้ำภายใต้การมีส่วนร่วมของชุมชนแทน ขู่หากรัฐบาล “มาร์ค” ไม่ยุติโครงการพร้อมระดมกำลังทั้งชุมชนปักหลักชุมนุมต่อเนื่อง แต่ประกาศเจตนารมณ์ไม่ร่วมกับม็อบเสื้อแดงโดยเด็ดขาด
วันนี้(28 มี.ค.52)ชาวสะเอียบ 4 หมู่บ้าน ได้แก่บ้านดอนแก้ว บ้านดอนชัย บ้านดอนชัยสักทอง และบ้านแม่เต้น ส่งตัวแทนจำนวน 1,000 คน รวมตัวกันที่วัดดอนชัย หมู่ 1 ต.สะเอียบ อ.สอง จ.แพร่ นำโดยนายชุม สะเอียบคง อดีตกำนันต.สะเอียบ ,นายอุดม ศรีคำภา แกนนำเครือข่ายต้านเขื่อนแก่งเสือเต้น จ.แพร่ ,นายเส็ง ขวัญยืน ผู้ใหญ่บ้านหมู่ 9 บ้านดอนชัยสักทอง พร้อมด้วยนายภิญโญ ชมพูมิ่ง นายก อบต.สะเอียบ ร่วมประกาศจุดยืนในการต้านเขื่อนแก่งเสือเต้น และยืนยันปักหลักอยู่ในชุมชนดั้งเดิมที่ตนอยู่ไม่ยอมให้สร้างเขื่อนแก่งเสือเต้น
นายอุดม ศรีคำภา ได้กล่าวถึงแนวทางการทำงานต่อต้านการสร้างเขื่อนในครั้งนี้ จะนำข้อเสนอ คือ 1.ชาวสะเอียบยืนยันอยู่ในถิ่นที่อยู่เดิม 2.ให้รัฐบาลยุติโครงการสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้น โดยจะส่งตัวแทนจำนวน 50 คนเดินทางเข้าพบนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี เพื่อยื่นข้อเสนอดังกล่าว ซึ่งถ้ารัฐบาลไม่ฟังเสียงชาวบ้านที่ทำตามกฎหมายจะออกมาชุมนุมที่หน้าทำเนียบ ร่วมกับสมัชชาคนจนต่อเนื่องโดยจะระดมไปทั้งหมู่บ้านต่อไป
การชุมนุมดังกล่าวแกนนำชาวบ้านได้ร่วมกัน ขึ้นกล่าวถึงปัญหาความเดือดร้อนที่รัฐบาลทุกยุคทุกสมัยเมื่อเข้ามาเป็นรัฐบาลก็มักจะนำโครงการสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้นขึ้นมาปัดฝุ่นเสมอมาแม้รัฐบาลสมัคร สุนทรเวช ที่มีอายุสั้นก็ยังคิดสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้น รัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เข้ามาได้ 2 เดือน เริ่มคิดที่จะสร้างเขื่อนแล้ว โดย พล.ต.สนั่น ขจรประสาสน์ รองนายกรัฐมนตรี ได้สั่งการให้กรมชลประทานเร่งสำรวจนำข้อมูล เข้าสู่คณะกรรมการแก้ปัญหาภัยแล้งในระดับชาติ เพื่อผลักดันให้สร้างเขื่อนแก่งเสือเต้นต่อไป ซึ่งผู้ชุมนุมต่างไม่พอใจการกระทำของรัฐบาลชุดนี้ ที่ไม่เคยมองสิทธิของประชาชน
นายภิญโญ ชมพูมิ่ง นายก อบต.สะเอียบ กล่าวว่า ข่าวเมื่อวันที่ 27 มีนาคม พบว่าเขื่อนในประเทศอินโดนีเซียเกิดพังทลายส่งผลให้น้ำไหลเข้าท่วมชุมชน มีผู้เสียชีวิตกว่า 50 คน และส่งผลกระทบต่อชุมชนไม่แพ้สึนามิ ซึ่งเป็นตัวอย่างที่เห็นชัดในหลายประเทศที่เจริญแล้วเริ่มทำลายเขื่อนทิ้ง หันมาใช้วิธีการกักเก็บน้ำแบบธรรมชาติทำให้สิ่งแวดล้อมดีขึ้น และไม่เสี่ยงภัย กรณีอย่างนี้น่าจะเป็นตัวอย่างให้รัฐบาลได้ตัดสินใจ
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การชุมนุมในครั้งนี้ประชาชนร่วมกันนำข้าวสารอาหารแห้งมาบริจาคให้กับตัวแทน 50 คนที่จะเดินทางไปร่วมกับสมัชชาคนจนที่หน้าทำเนียบ โดยกำหนดเดินทางในวันที่ 31 มีนาคม 52 ช่วงเย็นด้วยรถยนต์ส่วนตัวร่วมสมทบกลุ่มสมัชชาคนจนในกลุ่มประเด็นปัญหาจำนวน 7 เครือข่ายที่จะนำเสนอการแก้ปัญหาร่วมกัน ซึ่งมีอยู่หลากหลายปัญหา โดยเฉพาะเขื่อนแก่งเสือเต้น ถ้ามีการยกเลิกโครงการในรัฐบาลชุดนี้ จะส่งผลดีต่อคนในชุมชน และจะมีการเสนอทางออกในการฟื้นฟูลุ่มน้ำยม โดยให้ประชาชนเข้าไปมีส่วนร่วมในการฟื้นฟู และให้กรมชลประทานปรับปรุงโครงการชลประทานที่มีอยู่ให้ดีขึ้น ไม่ต้องสร้างใหม่ ซึ่งแกนนำประกาศชัดเจนว่าการเดินทางไปเรียกร้องในครั้งนี้เป็นการต่อสู้ของเครือข่ายสมัชชาคนจน ไม่เกี่ยวข้องกับม็อบเสื้อแดงโดยเด็ดขาด หลังประกาศเจตนารมณ์แล้วได้สลายการชุมนุมเมื่อเวลา 12.00 น.วันเดียวกัน