ต้านระเบิดแก่งแม่น้ำโขง ทำระบบนิเวศน์แปรปรวน
กรรมการสิทธิมนุษยชนฯ ปลุกคนเชียงรายร่วมต้านระเบิดแก่งกลางน้ำโขง อ้างรัฐบาลพยายามรวบรัด นักวิจัยชาวบ้านเสนอชิ้นงานระบุทิศทางแม่น้ำเปลี่ยนกระทบกับความเป็นอยู่ เชื่อเป็นผลการระเบิดแก่งและสร้างเขื่อนในประเทศจีน
เมื่อวันที่ 26 พฤศจิกายน ที่ศูนย์ฝึกอบรมข้าราชการครู อ.เชียงของ จ.เชียงราย กลุ่มอนุรักษ์เชียงของและเครือข่ายแม่น้ำเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จัดอภิปรายเรื่อง "ผลกระทบจากการพัฒนาแม่น้ำโขงตอนบน : มุมมองภาคประชาสังคมและงานวิจัยจาวบ้าน" มีผู้แทนองค์ต่างประเทศ ทั้งจากจีน เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น บังกลาเทศ และผู้แทนองค์กรต่างๆ ในประเทศ เช่น คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ(กสม.) สมาชิกวุฒิสภา รวมทั้งชาวบ้านเข้าร่วมกว่า 200 คน
นางสุนีย์ ไชยรส กรรมการ กสม. กล่าวว่า หลังการระเบิดแก่งกลางแม่น้ำโขงเพื่อเป็นเส้นทางเดินเรือ ชาวเชียงของได้ต่อสู้เรื่องนี้มาหลายปี จนทำให้การทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อมที่รัฐบาลพยายามรวบรัดต้องชะงักไปแล้วระดับหนึ่ง แม้ว่าแม่น้ำโขงจะมีกติการะหว่างประเทศมากมาย แต่ก็ถูกละเลย จึงเป็นหน้าที่ของประชาชนที่ต้องผลักดันตั้งคำถามกับรัฐบาลของตัวเอง
นางเตือนใจ ดีเทศน์ ส.ว.เชียงราย กล่าวว่า จากคำชี้แจงของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่อกรรมาธิการวุฒิสภา พบว่าประเทศไทยมีความคล้อยตามข้อเสนอของจีน คือกำหนดให้มีเขตการค้าชายแดน และตั้งนิคมอุตสาหกรรมขึ้นที่ อ.เชียงแสน ทั้งๆ ที่เป็นพื้นที่ควรอนุรักษ์เอาไว้ เนื่องจากเป็นเมืองเก่าแก่ และได้เสนอให้เป็นมรดกโลกแล้ว แต่การมีส่วนร่วมของประชาชนยังน้อยมาก แม้กระทั่งใน จ.เชียงรายเอง แต่โชคดีที่ปีนี้ได้ธรรมชาติช่วยทำให้แม่น้ำโขงได้รับความสนใจคือ ระดับน้ำในแม่น้ำโขงแห้งมากกว่าทุกๆ ปี และเรื่องการจับปลาบึกได้ 7 ตัว
"เราต้องเป็นผู้เสนอนโยบาย เช่น เรื่องการอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพให้กับพรรคการเมืองเลือกในช่วงการเลือกตั้ง เราต้องทำงานเชิงรุก หากพรรคไหนตอบรับแนวทางของเราก็เลือกเขา ถ้าไม่ตอบรับก็ไม่ต้องเลือก ที่ผ่านมาเราใช้นักการเมืองน้อยเกินไป พอเลือกเขาไปแล้วก็ไม่ได้ติดตามไปดูว่าเขาทำอะไรให้บ้าง ทั้งในระดับประเทศหรือระดับท้องถิ่น เราควรมีตัวแทนอยู่ในการเมืองทุกระดับเพื่อร่วมกันทำงานให้เกิดความเข้มแข็ง" นางเตือนใจกล่าว
นายธารินทร์ พันธุมัย เลขานุการชมรมสิ่งแวดล้อม จ.นครพนม กล่าวว่า แม่น้ำโขงตอนล่างที่ผ่านภาคอีสานได้รับผลกระทบจากการสร้างเขื่อนจากจีนและลาว ทำให้ระดับน้ำเพิ่มขึ้นและลดลงไม่เป็นระบบ ที่น่าสังเกตคือในปีนี้มีปริมาณหอยมาก ชาวบ้านบางคนไปเก็บหอยขายได้เป็นแสนๆ บาท แสดงให้เห็นถึงระบบนิเวศที่เปลี่ยนแปลงไป ที่น่าเป็นห่วงคือมีปลาตัวเล็กๆ ตายจำนวนมาก
ช่วงบ่ายมีการเสนอรายงานวิจัยจาวบ้าน มีความหนา 100 หน้า โดยให้นักวิจัยชาวบ้านที่เป็นคนหาปลามาเล่าเกี่ยวกับพันธุ์ปลาและเครื่องมือหาปลา นอกจากนี้เกษตรกรสตรีริมน้ำเล่าเกี่ยวกับความมั่นคงด้านอาหารและสุขภาวะ โดยสรุปคือชาวบ้านได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงระดับและทิศทางของลำน้ำโขง ซึ่งเชื่อว่าเป็นผลจากการระเบิดแก่งและการสร้างเขื่อนในประเทศจีน ไม่สามารถปลูกพืชริมน้ำ ขาดรายได้ นอกจากนี้ไก(สาหร่ายชนิดหนึ่ง)ที่ชาวบ้านนิยมนำมาทำอาหารและยังเป็นสินค้า 1 ผลิตภัณฑ์ 1 ตำบล รวมทั้งเป็นอาหารของปลาได้หายไป เพราะน้ำขุ่นและสกปรก
"ลุงจับปลามาทั้งชีวิต แต่เดี๋ยวนี้หาจับยากมาก นำขึ้น-ลงไม่เป็นเวลา แถมมีความเร็วมากขึ้นทำให้พุ่งชนตลิ่งพังทำลายพื้นที่การเกษตร ที่เห็นชัดเจนคือที่ อ.เวียงแก่น ทำให้ไม่สามารถปลูกพืชระยะสั้นได้" ลุงเสาร์ ระวังสี คนหาปลาบ้านเวียงแก้ว วัย 70 ปี กล่าว
อ้างอิง : http://www.matichon.co.th/matichon/matichon.php?s_tag=01p0121271147&show=1§ionid=0101&day=2004/11/27