เตือนรัฐบาลไทยอย่าผลีผลามสร้าง”เขื่อนปากชม”
เลย/เอ็นจีโอเตือนรัฐบาลอย่างผลีผลามสร้างเขื่อนปากชม ระบุการศึกษาผลกระทบต่างๆ ในประเทศไทยยังไม่แล้วเสร็จ เน้นรัฐบาลต้องพิจารณาความคุ้มค่าโครงการ ผลกระทบวิถีชีวิตประชาชนและสิ่งแวดล้อม
สำนักข่าวประชาธรรม ที่ www.newspnn.com
เมื่อวันที่ 18 ก.ค.ที่ผ่านมา ที่ศูนย์การศึกษานอกโรงเรียน จ.เลย มูลนิธิเลยเพื่อการอนุรักษ์และพัฒนาอย่างยั่งยืน ร่วมกับโครงการฟื้นฟูนิเวศวิทยาในอินโดจีนและพม่า จัดเสวนาเกี่ยวกับโครงการก่อสร้างเขื่อนปากชม เขื่อนบ้านกุ่ม และโครงการโขง เลย ชี มูน ที่รัฐบาลกำลังผลักดันร่วมกับรัฐบาลลาวอยู่ในขณะนี้ โดยมีผู้เข้าร่วมเสวนาประกอบด้วยตัวแทนองค์กรเอกชนที่เกี่ยวข้อง ประชาชนที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบ และสื่อมวลชน
นายมนตรี จันทวงศ์ ผู้ประสานงานโครงการฟื้นฟูระบบนิเวศวิทยาในอินโดจีนและพม่า กล่าวว่า รัฐบาลต้องไม่ผลีผลามไปทำข้อตกลงกับรัฐบาลลาว เพราะการศึกษาผลกระทบต่างๆ ในประเทศไทยยังไม่แล้วเสร็จ ซึ่งตามระเบียบขั้นตอนรัฐบาลต้องปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญและกฎหมายสิ่งแวดล้อมอีกหลายประการ หากรัฐบาลเร่งไปทำข้อตกลงก็อาจต้องทำตามนั้น โดยละเลยข้อกฎหมายทางฝ่ายไทยซึ่งอาจนำมาซึ่งผลกระทบอย่างใหญ่หลวง
นายมนตรี กล่าวต่อว่า ขณะเดียวกันรัฐบาลต้องดูความคุ้มค่าของโครงการ ทราบว่าเขื่อนปากชมจะติดตั้งเครื่องกำเนิดไฟฟ้าขนาด 1,079 เมกะวัตต์ แต่ว่ามีกำลังที่ผลิตได้จริงเพียง 210 เมกะวัตต์ หรือเพียง 20% เท่านั้นหากเทียบกับกำลังเครื่องกำเนิดไฟฟ้า มูลค่าโครงการ 65,000 ล้านบาท กำลังผลิตที่พึ่งพิงได้ต่อ 1 เมกะวัตต์ เราต้องใช้เงินลงทุนถึง 331 ล้านบาทถือว่าแพงมาก โดยเฉลี่ยแล้วการสร้างโรงไฟฟ้าต่อ 1 เมกกะวัตต์จะใช้เงินสูงสุดเพียง 40 ล้านบาท จึงถือว่าเป็นการลงทุนที่สูงเกินไป และประเด็นสำคัญก็คือการศึกษาผลกระทบต่างๆ ในพื้นที่ กรมพัฒนาส่งเสริมพลังงานที่ทำไว้ค่อนข้างหยาบ ยังไม่ศึกษาละเอียดให้มากพอว่าประชาชนที่อาศัยอยู่ในจังหวัดเลย และท้ายเขื่อนต่อเนื่องในจังหวัดหนองคายว่าจะได้รับประโยชน์อย่างไรจากแม่น้ำโขงบ้าง ซึ่งประชาชนริมฝั่งมีวิถีชีวิตผูกพันสร้างครอบครัว สร้างบ้านเมืองได้อาศัยแม่น้ำโขง รายงานการศึกษาที่ออกมาขณะนี้
“ดังนั้นหน่วยงานที่รับผิดชอบต้องศึกษาให้ละเอียด โดยที่ไม่ต้องตั้งธงไว้ว่าจะสร้างเพื่อจะได้ข้อมูล ข้อเท็จจริงให้มากที่สุดหากศึกษาไม่ละเอียดฝ่ายที่พิจารณานโยบายที่ตัดสินใจได้ง่ายเพราะผลกระทบน้อย ดีทีสุดคือต้องทำร่วมกับประชาชนที่อยู่ในพื้นที่ เพื่อให้ประชาชนได้มีส่วน
ร่วมในการตัดสินใจ ว่าหากสร้างเขื่อนนี้แล้วผลกระทบที่เกิดขึ้นคุ้มหรือไม่ที่จะแลกกับไฟฟ้าที่ได้ และต้องมีวิถีชีวิตที่เปลี่ยนไป” ผู้ประสานงานโครงการฟื้นฟูระบบนิเวศวิทยาในอินโดจีนและพม่า กล่าว
นายมนตรี กล่าวอีกว่า ส่วนเรื่องการยับยั้งอาจยังไกลตัว เพราะขณะนี้ยังเป็นเพียงแค่ขั้นตอนการศึกษา ตนคิดว่าจะยับยั้งหรือไม่นั้นต้องทำกระบวนการต่างๆให้โปร่งใส ประชาชนต้องเรียกร้องให้รัฐบาลทำการศึกษาข้อมูลทุกอย่าง กระบวนการตัดสินใจมีความโปร่งใสและอยู่บนฐานของการมีส่วนร่วมให้มากที่สุดรวมทั้งต้องมีธรรมาภิบาลด้วย ธรรมาภิบาลก็คือรัฐบาลต้องทำการกฎหมายที่มีอยู่ ข้อมูลทุกอย่างต้องชัดเจน เมื่อพอถึงตอนที่ประชาชนต้องตัดสินใจและพวกเขาไม่อยากแลก ตนคิดว่าถ้าข้อเท็จจริงออกมาแบบนั้นโครงการทุกอย่างก็ต้องสิ้นสุดลงโดยอัตโนมัติ
“ขณะนี้ทางเราได้มีการเผยแพร่ข้อมูลออกมาทางเว็บไซต์ ขอให้นายกรัฐมนตรีได้มีการทบทวนจริงๆเรามีการแถลงข่าวมาตั้งแต่วันที่ 29 พฤษภาคม ขอให้นายกรัฐมนตรีได้มีการทบทวนการสร้างเขื่อนบนแม่น้ำโขงที่เป็นพรมแดนไทยลาวทั้งหมด และให้เคารพกฎหมายรัฐธรรมนูญ โดยเฉพาะมาตรา 67 และกฎหมายสิ่งแวดล้อม อีกส่วนหนึ่งกำลังติดตามเรื่องเขื่อนในด้านนโยบาย เพื่อนำข้อมูลส่วนนั้นมาให้คนในพื้นที่” ผู้ประสานงานโครงการฟื้นฟูระบบนิเวศวิทยาในอินโดจีนและพม่า กล่าวทิ้งท้าย.