แถลงการณ์เครือข่ายลุ่มน้ำยม
ดร.โกร่ง มั่วข้อมูล สนับสนุนเขื่อนแก่งเสือเต้น
เครือข่ายลุ่มน้ำยม
1 กุมภาพันธุ์ 2555
จากการให้สัมภาษณ์ของ ดร.วีรพงษ์ รามางกุล (ดร.โกร่ง) ประธาน กยอ. ยืนยันที่จะสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้น ขึ้นมาเพื่อแก้ไขปัญหาน้ำท่วม ซึ่งไม่มีอยู่ในแผนที่ชัดเจนแต่ออกมาพูดทำนองสนับสนุนแบบตาบอดคลำช้างว่าจะอย่างไรก็ต้องสร้าง ทางเครือข่ายลุ่มน้ำยมไม่เห็นด้วยกับข้อเสนอของ ดร.โกร่งเพราะว่า
ทั้ง กยอ. และ กยน. ไม่ได้รู้เรื่องเขื่อนแก่งเสือเต้นเลย ไม่ได้ดูข้อเท็จจริง ว่าปัญหาน้ำท่วมที่แท้จริงมาจากการบริหารที่ผิดพลาดในการบริหารจัดการน้ำที่มีอยู่ในเขื่อน การกักเก็บน้ำไว้ในเขื่อนเป็นจำนวนมากมหาศาล สุดท้ายก็ปล่อยน้ำท่วมท้ายเขื่อน ดังเป็นที่ประจักษ์อยู่แล้วนั้น แต่กลับเสนอให้มีการสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้น เพื่อป้องกันน้ำท่วม ซึ่งไม่เป็นเหตุเป็นผลพอ
ลุ่มน้ำยม บริเวณที่จะสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้น มีสภาพป่าที่สมบูรณ์ และอยู่ในอุทยานแห่งชาติแม่ยม การสร้างเขื่อนจะทำให้สูญเสียพื้นที่ป่าที่อุดมสมบูรณ์ ประมาณ 65,000 ไร่ ขัดแย้งกันเองกับข้อเสนอของ กยน. ที่เสนอให้มีการสร้างป่าต้นน้ำ ซึ่งตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ไม่เคยเห็นมีการสร้างป่าที่ได้ป่าอุดมสมบูรณ์เหมือนกันกับธรรมชาติเลย จึงเห็นว่าข้อเสนอของ ดร.โกร่ง กยน. และ กยอ. ขัดแย้งกับการจัดการสร้างป่ารองรับน้ำ หากแต่จะทำลายป่าธรรมชาติ อย่างมหาศาล
การสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้น ไม่ได้แก้ไขปัญหาน้ำท่วม ขอเพียงให้ได้สร้าง เป็นเพียงความเชื่อของนักบริหารหอคอยงาช้างที่ไม่เคยรับรู้สภาพพื้นที่ ว่าลักษณะของแม่น้ำต่างกันด้วยภูมิประเทศ สืบเนื่องจากพื้นที่ลุ่มน้ำยมตนกลางและตอนล่างเป็นพื้นที่ราบลุ่ม ความลาดชันของลำน้ำมีความลาดเอียงน้อย ทำให้ภูมิประเทศเป็นแอ่งกระทะ ฝนตกบริเวณตอนกลางของลุ่มน้ำยม ก็จะทำให้น้ำท่วมได้ เปรียบเทียบกับลุ่มน้ำน่านที่มีเขื่อนสิริกิตติ์ ที่ทางตอนบนของจังหวัดพิจิตร อำเภอตะพานหิน อำเภอหนองบุนนาค น้ำก็ท่วมทุกปี เป็นเพราะเป็นที่ราบลุ่มไม่ต่างกันกับลุ่มน้ำยม สุดท้ายน้ำก็ยังท่วมอยู่ดี แต่หน่วยงานเจ้าของโครงการอย่างกรมชลประทาน กยอ.และกยน. ไม่เคยทบทวนบทเรียนการจัดการลุ่มน้ำที่ผิดพลาดเช่นนี้เลย
ที่ผ่านมา ดร.โกร่ง ไม่เคยสัมผัสกับลุ่มน้ำยม ไม่เคยลงพื้นที่ และไม่เคยพบปะกับชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบจากการสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้นเลย นั่งแต่ห้องประชุมผู้บริหารบริษัทเอกชนที่แสวงหากำไรจากการก่อสร้าง และเป็นบริษัทที่เกี่ยวข้องกับการสร้างเขื่อนหลายบริษัท และเป็นนักการเงินการธนาคาร ไม่ได้มีภูมิหลังด้านการจัดการน้ำ ดังนั้นการออกมาสนับสนุนให้มีการสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้นและเข้าใจได้ว่าหวังผลประโยชน์บางอย่างหรือไม่ เป็นเรื่องที่เครือข่ายลุ่มน้ำยมไม่ไว้วางใจเป็นอย่างยิ่ง และไม่ใช่ธุระหน้าที่ในส่วนที่ตนเป็นกรรมการอยู่
ที่ผ่านมาการดำเนินการของ กยน. ไม่เคยปรึกษาหารือต่อแผนที่ออกมา แล้วให้ ดร.โกร่ง ออกมาเสนอให้เขื่อนแก่งเสือเต้น ถือได้ว่าผิดหลักการธรรมมาภิบาลเป็นอย่างยิ่ง จึงขอเสนอให้ กยน. เปิดเผยข้อมูล โครงการและแผนงานแก้ไขปัญหาเรื่องน้ำที่จะดำเนินการโครงการทั้งหมด โดยละเอียด และให้มีกระบวนการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนในแต่ละลุ่มน้ำ ซึ่งที่ผ่านมาไม่เคยดำเนินการใดๆ มีแต่ตัวเลขงบประมาณ แต่ขาดกระบวนการมีส่วนร่วม
เครือข่ายลุ่มน้ำยม ขอท้าให้ ดร.โกร่ง ลงดูพื้นที่ป่าสักทอง และดูสภาพลุ่มน้ำยม ว่าตรงตามที่ตนเองเข้าใจหรือไม่ พร้อมทั้งรับฟังความคิดเห็นอย่างแท้จริง มิใช่อยู่แต่ห้องแอร์แล้วนั่งเทียนพูดโดยไม่ได้ทราบข้อเท็จจริง
พวกเราขอประณามการออกมาแสดงท่าทีของการสนับสนุนแก่งเสือเต้น ภายใต้กรรมการ กยอ. ซึ่งดูท่าทีว่า ดร.โกร่ง จะสับสนในบทบาทกรรมการที่ตนเองเป็นอยู่เป็นอย่างยิ่ง และเครือข่ายลุ่มน้ำยม ขอยืนยันว่า ตลอดเวลาที่ผ่านมา เครือข่ายลุ่มน้ำยม ได้เสนอให้มีการจัดการน้ำชุมชน แบบขนาดกลางและขนาดเล็ก ซึงเกิดผลกระทบต่อชุมชนและสิ่งแวดล้อมน้อยกว่าการสร้างเขื่อนขนาดใหญ่ อย่างเขื่อนแก่งเสือเต้น ซึ่งมีผลกระทบต่อชุมชนและสิ่งแวดล้อมเป็นอย่างมาก รวมทั้งเราได้เสนอ 9 แนวทางการแก้ไขปัญหาน้ำแล้งน้ำท่วมมาอย่างต่อเนื่อง
ด้วยจิตคารวะ เครือข่ายลุ่มน้ำยม 1 กุมภาพันธุ์ 2555