หยุดสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้น ...หยุดสร้างความร้าวฉานให้กับชุมชน.....
รัฐบาลอภิสิทธ์ต้องลงมาแก้ไขปัญหา ก่อนเหตุการณ์จะบานปลาย
จากสถานการณ์การสนับสนุนให้มีการสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้น โดยในวันที่ 15 กรกฎาคม 2553 ผู้ว่าราชการจังหวัดแพร่ ได้ดำเนินการล่ารายชื่อนักเรียนในจังหวัดแพร่ หากใครไม่ลงชื่อก็จะตัดคะแนน รวมทั้งจัดเวทีเยาวชนนักเรียนนักศึกษาให้สนับสนุนโครงการเขื่อนแก่งเสือเต้น อีกทั้งในวันที่ 16 กรกฎาคม 2553 ที่ผ่านมา ได้มีกลุ่มองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น(อปท.) กำนัน ผู้ใหญ่บ้านและนักเรียนนักศึกษา กว่า 3,000 คน จากจังหวัดแพร่ มาชุมนุมหน้าศาลากลางจังหวัดแพร่ และเวลา 11.30 น. ในวันเดียวกัน ได้มีนายกสมาคมเครือข่ายสถาบันเกษตรกร (คสก.) พร้อมแกนนำชาวบ้านลุ่มน้ำยม จ.พิจิตร กว่า 50 คน ได้ยื่นหนังสือต่อผู้ว่าราชการจังหวัดพิจิตร เพื่อทวงถามความคืบหน้าการก่อสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้น
เหตุการณ์ดังกล่าว ได้มีชาวบ้าน ต.สะเอียบ ซึ่งเป็นพื้นที่ที่จะมีการสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้น ได้ออกมาคัดค้านการกระทำดังกล่าว ประมาณ 1,000 คน โดยได้มีการกล่าวประณาม พล.ต.สนั่น ขจรประศาสตร์ว่าเป็นผู้อยู่เบื้องหลังในการเกณฑ์ประชาชนออกมายื่นหนังสือสนับสนุนในการสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้น ด้านพล.ต.สนั่น ได้กล่าวถึงการที่ชาวบ้านสะเอียบ รวมตัวต่อต้านการสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้นว่า เป็นเพราะชาวบ้านยังไม่เข้าใจ เนื่องจากความจริงแล้วการสร้างเขื่อนไม่ได้ทำให้ชาวบ้านเดือดร้อน ซึ่งได้สั่งการให้ผู้ว่าราชการจังหวัดแพร่ ได้ชี้แจงให้ประชาชนเข้าใจต่อไป อย่างไรก็ตาม ก็ต้องเดินหน้าสร้างเขื่อนต่อไป เพราะไม่เช่นนั้นประชาชนส่วนใหญ่กว่า 90 เปอร์เซ็นต์จะต้องเดือดร้อน
นี่คือเหตุการณ์ความเป็นจริงที่เกิดขึ้นท่ามกลางสถานการณ์บ้านเมืองที่ต้องการการเยียวยาและสมานฉันท์ แต่กลับมีเหตุการณ์ดังกล่าวซึ่งสะท้อนภาพความไม่เป็นกลางและความอ่อนด้อยทางปัญญาของเจ้าหน้าที่รัฐนับตั้งแต่ผู้ว่าราชการจังหวัดแพร่และจังหวัดพิจิตร สำนักงานเขตการศึกษาแพร่ เขต 1 รวมทั้งเจ้าหน้าที่รัฐระดับท้องถิ่นที่วางตัวเป็นลิ่วล้อนักการเมืองที่มีผลประโยชน์จากการสร้างเขื่อนและต้องการสร้างฐานเสียงทางการเมืองของตนเอง ออกมาปลุกปั่นให้ประชาชนเกิดความขัดแย้งในการแย่งชิงทรัพยากรในพื้นที่ โดยไม่รับฟังความคิดเห็นของประชาชนที่อยู่ในพื้นที่ที่จะได้รับผลกระทบจากการสร้างเขื่อน และผลของรายงานการศึกษาของสถาบันต่างๆ ที่ออกมาแสดงความคิดเห็น เช่น ผลการศึกษาของกรมทรัพยากรธรณี ได้ชี้ว่า บริเวณที่สร้างเขื่อนใกล้กับรอยเลื่อนของเปลือกโลก เสมือนหนึ่งเป็นการวางระเบิดบนหลังคาบ้านของตัวเอง , จากการศึกษาของ องค์การอาหารและการเกษตรโลก(FAO), ด้วยเหตุผลเรื่องการป้องกันน้ำท่วม กรณีเขื่อนแก่งเสือเต้น สามารถเยียวยาปัญหาน้ำท่วมได้ เพียง 8 เปอร์เซ็นต์ , จากการศึกษาสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนา ประเทศไทย (TDRI.) ด้วยเหตุผลทางเศรษฐศาสตร์ ได้ข้อสรุปว่า เขื่อนแก่งเสือเต้นไม่คุ้มทุน เป็นโครงการที่รัฐไม่ควรให้การสนับสนุน , จากการศึกษาของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย(สกว.) ด้วยเหตุผลทางนิเวศวิทยา มีข้อสรุปว่าหากสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้นจะกระทบต่อระบบนิเวศของอุทยานแห่งชาติแม่ยมเป็นอย่างมาก ,จากการศึกษาของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ด้วยเหตุผลทางด้าน ป่าไม้ สัตว์ป่า ที่มีข้อสรุปว่า พื้นที่จะสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้น เป็นทั้งอุทยานแห่งชาติที่มีความอุดมสมบูรณ์อยู่ อีกทั้งยังเป็นแหล่งป่าสักทองธรรมชาติผืนเดียวในประเทศไทยที่ยังเหลืออยู่ ดังนั้น ควรเก็บรักษาไว้ เพื่ออนาคตของประชาชนไทยและมวลมนุษยชาติ
จากสถานการณ์ที่เกิดขึ้นเช่นนี้ เห็นได้ชัดเจนว่าผลของกระแสการปลุกปั่นและยุแยงโดยนักการเมืองในพื้นที่จะมีความขัดแย้งรุนแรงและบานปลายออกไปเรื่อยๆ โดยเป็นผู้อยู่เบื้องหลังข้าราชการ สนับสนุนให้ข้าราชการใช้อำนาจโดยมิชอบสั่งการ ข้าราชการชั้นผู้น้อยที่ไม่มีอำนาจออกมาสนับสนุนการสร้างเขื่อน สร้างกระแสให้ข้อมูลเท็จทำให้เกิดความขัดแย้งในชุมชนโดยไม่มีการคิดถึงความเป็นจริงในด้านข้อมูลการศึกษาของนักวิชาการสถาบันต่างๆ ที่แสดงความคิดเห็นต่อปัญหาผลกระทบที่จะเกิดขึ้นจากการสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้น
เพื่อระงับข้อขัดแย้งที่จะบานปลายและไม่ให้กรณีเขื่อนแก่งเสือเต้นเป็นประเด็นให้นักการเมืองนำมาสร้างความร้าวฉานให้กับประชาชนในพื้นที่อีก จึงขอเรียกร้องให้รัฐบาล นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ลงมาแก้ไขปัญหากรณีเขื่อนแก่งเสือเต้นโดยให้ยกเลิกการสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้น ซึ่งการยกเลิกนี้อิงกับผลการศึกษาของสถาบันต่างๆ ที่ได้ศึกษามาแล้ว อีกทั้งต้องหาทางออกให้กลุ่มที่มาเรียกร้องให้สร้างเขื่อน ว่าแท้จริงกลุ่มนี้มีปัญหาอะไรและเยียวยาช่วยเหลือกลุ่มนั้นตามปัญหาที่เกิดขึ้นจริง
ด้วยความสมานฉันท์
คณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน (กป.อพช.)อีสาน
โครงการทามมูน สถาบันชุมชนอีสาน
สมาคมป่าชุมชนอีสาน
กลุ่มนิเวศวัฒนธรรมศึกษา
เครือข่ายนักวิชาการนิเวศวัฒนธรรมศึกษา
ศูนย์ข้อมูลสิทธิมนุษยชนและสันติภาพ(ศสส.)ภาคอีสาน
กลุ่มศึกษาปัญหาดินเค็มและการจัดการทรัพยากรแร่ อีสาน
คณะทำงานติดตามปัญหาทรัพยากรเหมืองแร่ ประเทศไทย