แถลงการณ์เครือข่ายลุ่มน้ำภาคเหนือ
หยุด เงินกู้ 300,000 ล้านบาท ทำลายทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
ตามที่นายปลอดประสบ สุรัสวดี รมว.กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีได้เร่ขาย TOR สามแสนล้าน ให้กับบริษัทเอกชน และบริษัทต่างชาติ เพื่อให้มาจัดการเรื่องน้ำของประเทศไทยทั้งระบบนั้น ถือเป็นการอัปยศเป็นอย่างยิ่ง ทั้งที่แนวทางและแผนงานในการแก้ปัญหาเรื่องน้ำทั้งระบบของประเทศไทยยังไม่มีความชัดเจน ในทางกลับกันรัฐบาลยังมีแผนหมกเม็ดที่จะสร้างเขื่อนขนาดใหญ่ในเขตอุทยานแห่งชาติอย่างน้อย 5 แห่ง ซึ้งต้องทำลายป่าไม้ในเขตอุทยานแห่งชาตินับแสนไร่ ซึ่งสวนทางกับการเพิ่มพื้นที่ป่าเป็นอย่างยิ่ง
แนวทางการแก้ไขปัญหาเรื่องน้ำของรัฐบาลจึงสับสนในตัวเอง คือ แก้ไขปัญหาน้ำท่วมด้วยการทำลายป่านับแสนไร่ อาทิ เขื่อนแม่วงก์ กว่า 11,000 ไร่ เขื่อนแก่งเสือเต้นกว่า 65,000 ไร่ เขื่อนต้นน้ำปิง ที่จะต้องทำลายป่าในอุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์ และเขื่อนวังชมพู ในอุทยานแห่งชาติ ทุ่งสะแลงหลวง จังหวัดพิษณุโลก นอกจากนี้ยังมีแผนที่จะสร้างเขื่อนหมกเม็ดไว้ใน TOR อีกรวมแล้ว 21 เขื่อน การแก้ไขปัญหาเรื่องน้ำของรัฐบาลจึงเป็นการทำลายป่า ทำลายทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เสียมากกว่า ทั้งที่โครงการต่างๆ ที่รัฐบาลหมกเม็ดไว้ใน TOR นั้น ยังไม่มีความชัดเจน ยังไม่ผ่านกระบวนการการมีส่วนร่วมและรับฟังความคิดเห็นต่อประชาชน ที่ได้ระบุไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย 2550 โครงการใด ๆ ของรัฐที่จะกระทบต่อประชาและสาธารณะ ในทางลบแบะทางบวกจะต้องให้มีการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน ซึ่งที่ผ่านมายังไม่ได้ดำเนินการอะไรเลยโครงการขนาดใหญ่ เขื่อนที่มีความจุน้ำเกิน หนึ่งร้อยล้านลูกบาศก์เมตร หรือน้ำท่วมเกิน 1 หมื่นไร่ หรือพื้นที่ชลระทานมากกว่า 8 หมื่นไร่ ยังไม่ผ่านกระบวนการศึกษาผลกระทบทางด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ ซึ่งถือว่าผิดขั้นตอน และผิดกฎหมายรัฐธรรมนูญ มาตรา 67 วรรค 2 อย่างชัดเจน
เครือข่ายลุ่มน้ำภาคเหนือ ได้ติดตามสถานการณ์ปัญหาเรื่องน้ำมาโดยตลอด เห็นว่า รัฐบาลต้องสร้างความชัดเจน โปร่งใส ให้เกิดขึ้นก่อน โดยการเปิดเผย TOR สามแสนล้านต่อสาธารณะชน และรัฐบาลควรยุติแนวทางการแก้ไขปัญหาเรื่องน้ำโดยการทำลายป่า โดยใช้แนวทางการจัดการน้ำชุมชนเป็นแนวทางหลักในการแก้ไขปัญหาเรื่องน้ำของประเทศไทย
การเชื้อเชิญนักลงทุนไทย และนักลงทุนต่างชาติมาวางแผน มาลงทุนทำโครงการต่างๆ ที่รัฐบาลหมกเม็ดไว้ใน TOR นั้น เปรียบได้กับการขายสมบัติแผ่นดิน ขายป่าไม้ ของคนไทยทั้งประเทศ ไห้กับบริษัทเอกชนไทย และบริษัทต่างชาติ อย่าลืมว่ารัฐบาลเป็นเพียงลูกจ้างของประชาชนที่เข้ามาบริหารประเทศเพียงชั่วคราวเท่านั้น จึงต้องฟังเสียงประชาชนเจ้าของประเทศว่ายินยอมให้รัฐบาลผลาญทรัพยากรธรรมชาติ ทำลายสิ่งแวดล้อม และสร้างหนี้ไว้ให้ลูกหลานของพวกเราหรือไม่
เครือข่ายลุ่มน้ำภาคเหนือ ขอเรียกร้องให้ รัฐบาลยุติโครงการขนาดใหญ่ที่ส่งผลกระทบต่อทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และหันมาใช้ภูมิปัญญาท้องถิ่น ซึ่งแตกต่างกันในแต่ละพื้นที่ ใช้แนวทางการจัดการน้ำชุมชน เป็นแนวทางหลักในการแก้ไขปัญหาเรื่องน้ำของประเทศไทย
ความเร่งรีบเสมือนว่าโครงการเหล่านี้ได้ดำเนินการก่อสร้างแล้วจะทำให้น้ำไม่ท่วม อยากให้รัฐบาลกลับไปทบทวน ว่าปีที่ผ่านมาน้ำท่วมก็มาจากน้ำมือการจัดการ ไม่ใช่ไม่มีเขื่อน และเขื่อนก็ทำให้น้ำท่วมหนักขึ้น เป็นเรื่องของการบริหารจัดการมากกว่า แต่รัฐบาลยังเห็นชอบที่จะให้มีการสร้างเขื่อนต่อไป ไม่ได้เอาบทเรียนปี 2554 มาทบทวน การคิดโครงการคิดจากนักสร้างเขื่อนแทบทั้งสิ้นไม่ได้หาแนวทางการจัดการน้ำที่ไม่ต้องใช้งบประมาณ และดึงทุกภาคส่วนให้มีส่วนร่วม และการจัดการต้องดำเนินการทั้งลุ่มน้ำ และเพื่อหวังกู้เงิน ดำเนินการให้เป็นไปตามระเบียบเงินกู้ จึงต้องชวนให้ต่างชาติเข้าร่วมทุน เป็นการกระทำที่ไม่เปิดเผยข้อมูล และบอกประชาชนไม่หมด
ขอฝากกับรัฐบาลว่าถ้ากระบวนการเหล่านี้ไม่สมบูรณ์ จะทำหนังสือทุกประเทศที่จะเข้ามาร่วมทุนในคราวนี้ว่ารัฐบาลไม่ดำเนินการตามที่ระบุไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย 2550
สิ่งที่พวกเราเรียกร้องให้รัฐบาลรับฟังปฏิบัติตามกฎหมายไม่ใช่คัดค้านอย่างเดียวตามที่รัฐบาลเข้าใจ