แถลงการณ์เครือข่ายประชาชนไทย 8 จังหวัดลุ่มน้ำโขง
จุดยืนต่อกระบวนการปรึกษาหารือโครงการเขื่อนดอนสะโฮง
ตามที่รัฐบาลสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป.ลาว) ได้ประกาศที่จะดำเนิน โครงการเขื่อนดอนสะโฮง แขวงจำปาสัก ทางตอนใต้ของ สปป.ลาว ซึ่งจะเป็นเขื่อนแห่งที่ 2 บนแม่น้ำโขงตอนล่าง และได้นำโครงการนี้เข้าสู่กระบวน PNPCA ซึ่งจะต้องมีการดำเนินกระบวนปรึกษาหารือล่วงหน้า (Prior Consultation) ในแต่ละประเทศ ตามข้อตกลงแม่น้ำโขง พ.ศ.2538 ซึ่งได้กำหนดว่าจะดำเนินการให้แล้วเสร็จภายใน 6 เดือน ซึ่งต่อมา คณะกรรมการร่วม 4 ประเทศ ได้ตกลงเริ่มกระบวนการฯ ในปลายเดือนกันยายนและจะสิ้นสุดระยะเวลา 6 เดือนในเดือนมกราคม 2558
ขณะนี้ ทางกรมทรัพยากรน้ำ ในฐานะสำนักงานเลขาธิการแม่น้ำโขงของประเทศไทย กำลังเดินหน้าจัดเวทีปรึกษาหารือล่วงหน้ากรณีเขื่อนดอนสะโฮง ในวันที่ 10 พฤศจิกายน ที่จ.อุบลราชธานี และวันที่ 12 พฤศจิกายนที่ จ.นครพนม และเหลืออีก 4 เวทีซึ่งยังไม่ระบุรายละเอียด
แม้ว่าเครือข่ายประชาชนไทย 8 จังหวัดลุ่มน้ำโขง ได้เคยมีจดหมายไปยังกรมทรัพยากรน้ำและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง มาแล้วมากกว่า 3 ครั้ง รวมไปถึงการประชุมอย่างไม่เป็นทางการระหว่างรองอธิบกรมทรัพยากรน้ำและตัวแทนเครือข่ายฯ เมื่อวันที่ 27 กันยายน ณ อ.เชียงของ จ.เชียงราย ผลปรากฏว่า จนถึงปัจจุบันทางเครือข่ายประชาชนไทย 8 จังหวัดลุ่มน้ำโขงยังไม่เคยได้รับการตอบกลับใดๆ ทั้งอย่างเป็นทางการและไม่เป็นทางการ และไม่ได้รับเชิญใดๆ ทั้งที่พวกเรา คือ “ผู้ที่กำลังจะได้รับความเดือดร้อนโดยตรงจากโครงการเขื่อนบนแม่น้ำโขงสายหลักแห่งนี้และอีก 9 แห่ง”
พวกเรามีมีความกังวลใจเป็นอย่างยิ่งกับกระบวนการและวิธีการที่กรมทรัพยากรน้ำกำลังดำเนินการสำหรับกรณีเขื่อนดอนสะโฮง ที่กำลังจะซ้ำรอยและแย่ยิ่งกว่ากรณีเขื่อนไซยะบุรี เมื่อปี 2554 โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเปลี่ยนความหมายของคำว่า “Prior Consultation” เป็นการ “ให้ข้อมูล” ไม่ใช่เป็นการ “ปรึกษาหารือ” เป็นการกีดกันเสียงของประชาชนผู้ที่จะได้รับผลกระทบ ทำให้ไม่มีความหมาย และไม่มีสิทธิอันใดในฐานะประชาชนลุ่มน้ำโขงเลย
ข้อเรียกร้องต่างๆ ที่ทางเครือข่ายฯ ได้เคยเสนอไป เช่น การจัดเวทีรับฟังประชาชนริมน้ำโขงให้ครบทุกพื้นที่ การแปลเอกสารรายงานต่างๆ และเผยแพร่ให้ผู้เข้าร่วมได้อ่านก่อนล่วงหน้าอย่างน้อย 30 วัน รวมไปถึงให้เจ้าของโครงการได้เข้าร่วมชี้แจงร่วมกับตัวแทนสำนักงานเลขาธิการแม่น้ำโขง และกรมทรัพยากรน้ำ แต่ก็ไม่ได้รับการตอบรับใดๆ
กระบวนการที่กำลังเกิดขึ้นอยู่ในเวลานี้ ถือว่าทำให้กระบวนการ PNPCA ตามข้อตกลงแม่น้ำโขง ปี 2538 (Mekong Agreement 1995) มีมาตรฐานตกต่ำลงไปอีก
พวกเราสิ้นหวังต่อกรมทรัพยากรน้ำในฐานะหน่วยงานรัฐตัวแทนรัฐบาลไทย ที่ไม่ได้ทำหน้าที่ในการที่จะปกป้องสิทธิของประชาชนชาวไทยผู้ที่จะได้รับผลกระทบจากโครงการสร้างเขื่อนดอนสะโฮง และโดยเฉพาะการกีดกันประชาชนที่อาศัยอยู่ริมแม่น้ำโขงให้ไม่สามารถเข้าร่วม ไม่สามารถแม้แต่จะได้รับเชิญ สิ่งนี้เป็นการกระทำที่ละเมิดสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐาน และขัดต่อหลักกฎหมายสากล
ดังนั้น พวกเราจึงขอให้กรมทรัพยากรน้ำ ยุติกระบวนการทั้งหมดของกระบวนการโครงการสร้างเขื่อนดอนสะโฮง และร่วมกันวางแผนกระบวนการให้ถูกต้อง ครอบคลุม และมีมาตรการที่จะทำให้มั่นใจว่าผู้ที่จะเดือดร้อนจะสามารถเข้าร่วมกระบวนการได้ และนำไปสู่การตัดสินใจที่รับผิดชอบต่อประชาชนในลุ่มน้ำโขงอย่างแท้จริง