แถลงการณ์เครือข่ายประชาชนไทย 8 จังหวัดลุ่มน้ำโขง
เขื่อนดอนสะโฮง ต้องทำการศึกษาผลกระทบข้ามพรมแดน
และรับฟังชาวบ้านริมโขงอย่างจริงจัง

fas fa-pencil-alt
เครือข่ายประชาชนไทย 8 จังหวัดลุ่มน้ำโขง
fas fa-calendar
23 ตุลาคม 2557

หลังจากที่รัฐบาลสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป.ลาว)  ได้ประกาศที่จะดำเนินโครงการโครงการเขื่อนดอนสะโฮง แขวงจำปาสัก ทางตอนใต้ของ สปป.ลาว ซึ่งจะเป็นเขื่อนแห่งที่ 2 บนแม่น้ำโขงตอนล่าง และที่ประชุมคณะกรรมการร่วม (JC) ในคณะกรรมาธิการลุ่มน้ำโขง (MRC) เห็นชอบกำหนดวันเริ่มต้นกระบวนการปรึกษาหารือล่วงหน้า (Prior Consultation) ตามข้อตกลงแม่น้ำโขง พ.ศ.2538 ย้อนหลังไปเป็นในวันที่ 25 กรกฎาคม 2557 โดยระบุว่า มีระยะเวลาสำหรับกระบวนการปรึกษาหารือ 6 เดือน (ซึ่งจะสิ้นสุดในเดือนมกราคม 2558) โดยอาจขยายเวลาได้หากจำเป็น

หากกำหนดตามกรอบ 6 เดือนดังกล่าวข้างต้น บัดนี้เวลาก็ได้ล่วงเลยมาเป็นเดือนที่ 3 แล้ว แต่กรมทรัพยากรน้ำ ในฐานะเลขาธิการคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขงของประเทศไทย ก็ยังไม่ได้ประกาศว่าขั้นตอนการปรึกษาหารือดังกล่าวในประเทศไทยจะดำเนินการอย่างไร

ตามข้อตกลงแม่น้ำโขงที่ 4 ประเทศสมาชิกได้ลงนามนั้น “กระบวนการปรึกษาหารือ” เป็นกระบวนการสำคัญ ในการเปิดเผยข้อมูลโครงการเขื่อนที่จะกั้นแม่น้ำโขง ซึ่งเป็นเส้นเลือดของภูมิภาค จำเป็นต้องรับฟังเสียงจากประชาชนในลุ่มน้ำโขงในฐานะเป็นผู้ได้รับผลกระทบโดยตรง

ตลอดเวลาที่ผ่านมาพวกเรามีความกังวลว่า “เขื่อนดอนสะโฮง” จะสร้างผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสังคมที่รุนแรงยิ่งขึ้น เพราะแม่น้ำโขงที่ไหลผ่าน 8 จังหวัดของประเทศไทยจะถูกเขื่อนไซยะบุรีปิดหัว และจะมีเขื่อนดอนสะโฮงปิดท้าย ระบบนิเวศแม่น้ำโขงจะเสียหายพังทลายและเดือดร้อนมากเพียงใด ยังไม่มีหน่วยงานใดๆ ทำการศึกษาผลกระทบข้ามพรมแดนเพื่ออธิบายแก่ลูกหลานแม่น้ำโขงได้อย่างชัดเจน ดังนั้นจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องทำการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมข้ามพรมแดน ก่อนที่จะตัดสินใจสร้างเขื่อนกั้นแม่น้ำโขง

สำหรับประเทศไทย เครือข่ายประชาชนไทย 8 จังหวัดลุ่มน้ำโขง จึงมีข้อเรียกร้องเร่งด่วนถึงปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติในฐานะผู้กำกับดูแลกรมทรัพยากรน้ำ และในฐานะที่ท่านมีหน้าที่ในคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง และสิ่งแวดล้อม ดังต่อไปนี้

1.     ขอให้ขยายระยะเวลาออกไปจาก 6 เดือน เพื่อให้เพียงพอที่จะดำเนินการให้ได้ข้อมูลที่รอบด้านในการประกอบการตัดสินใจ

2.    ให้มีการจัดเวทีการปรึกษาหารือในพื้นที่ 8 จังหวัดริมแม่น้ำโขงอย่างครอบคลุม อย่างน้อย 1 เวทีในทุกอำเภอริมแม่น้ำโขง โดยให้ประกาศล่วงหน้า เพื่อให้ประชาชนในพื้นที่สามารถลงทะเบียนเข้าร่วมได้อย่างกว้างขวาง

3.    ให้มีการแปลเอกสารโครงการเขื่อนดอนสะโฮง และข้อมูลที่เกี่ยวข้องเป็นภาษาไทย เผยแพร่ล่วงหน้าอย่างน้อย 30 วัน เพื่อให้ประชาชนสามารถทำความเข้าใจ และเข้าร่วมแสดงความเห็นอย่างมีประสิทธิภาพ

4.    ให้ผู้ลงทุนเอกชนเจ้าของโครงการ และหน่วยงานที่รับผิดชอบ ส่งผู้แทนเข้าร่วมเวทีเพื่อตอบคำถามจากประชาชน

5.    ดำเนินการบนฐานของสิทธิชุมชน การมีส่วนร่วมของประชาชน และการป้องกันผลกระทบ โดยเฉพาะชุมชนที่อาจต้องแบกรับภาระต้นทุนและผลกระทบของโครงการในระยะยาว

6.    ปฏิบัติตามกฎหมายที่กำหนดในส่วนที่เกี่ยวข้องกับสิ่งแวดล้อมและสิทธิมนุษยชน ทั้งของประเทศไทยและในภูมิภาคอย่างเคร่งครัด

ทั้งนี้ ด้วยความหวังว่าการตัดสินใจใดๆ เกี่ยวกับแม่น้ำโขง จะอยู่บนฐานของความรู้และข้อมูล เพื่อประโยชน์สาธารณะและคุณค่าของระบบนิเวศและทรัพยากรที่ใช้ร่วมกัน มิใช่ตัดสินใจด้วยผลประโยชน์เอกชน และหวังว่าประชาชนจะสามารถได้มีพื้นที่แสดงความคิดเห็นต่อข้อกังวลที่จะเกิดขึ้นจากการสร้างเขื่อนในแม่น้ำโขงได้อย่างเต็มที่ และมีส่วนร่วมในการจัดการทรัพยากรแม่น้ำโขงอย่างยั่งยืน

 

เครือข่ายประชาชนไทย 8 จังหวัดลุ่มน้ำโขง (The Network of Thai People in Eight Mekong Provinces)
สำนักงานเครือข่ายอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและวัฒนธรรมลุ่มน้ำโขง-ล้านนา
62 ม.8บ.เวียงแก้ว อ.เชียงของ จ.เชียงราย
อีเมล 
This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.

 

 


เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง