แถลงการณ์
ของขวัญถึงองค์การสหประชาติ หมายเลข 1

fas fa-pencil-alt
fas fa-calendar
27 เมษายน 2552

ก่อนจะเป็นของขวัญ

แม่น้ำโขงคือแม่น้ำนานาชาติของ 6 ประเทศ คือจีน พม่า ลาว ไทย กัมพูชา และเวียตนาม ทุกประเทศมีสิทธิในการใช้ประโยชน์จากแม่น้ำอย่างเท่าเทียมกันโดยไม่ริดรอดสิทธิของประเทศอื่น อีกทั้งมีหน้าที่ต้องพิทักษ์รักษาดูแลแม่น้ำโขงให้สามารถใช้ร่วมกันอย่างยั่งยืน

อย่างไรก็ตาม ในเกือบสองทศวรรษที่ผ่านมา ท่ามกลางกระแสการพัฒนาของประเทศในภูมิภาคลุ่มน้ำโขง ได้มีโครงการพัฒนาทางเศรษฐกิจเกิดขึ้นมากมาย ซึ่งโครงการส่วนใหญ่ถูกผลักดันอย่างหนักจากรัฐบาลจีนที่มุ่งการพัฒนาในเขตตะวันตกคือยูนนาน และต้องการเปิดประเทศรุกด้านตลาดเศรษฐกิจลงทางใต้คืออาเซียน โดยโครงการที่ผลักดันโดยจีนส่วนใหญ่ได้ละเลยและลิดรอนสิทธิของประเทศปลายน้ำ นอกจากนี้ยังมุ่งเน้นแต่ด้านเศรษฐกิจที่ตักตวงทรัพยากรธรรมชาติจากประเทศอื่นๆ ในลุ่มน้ำโขง โดยละเลยการพิทักษ์รักษาให้แม่น้ำโขงมีการใช้อย่างยั่งยืน ทั้งนี้รัฐบาลจีนมองว่า แม่น้ำโขงตอนบนตั้งแต่ธิเบตถึงสิบสองปันนาเป็นเขตอธิปไตยของจีน รัฐบาลจีนสามารถกระทำการใดๆ ก็ได้

โครงการที่มีผลกระทบอย่างหนักต่อคนท้ายน้ำ โดยเฉพาะในเขตประเทศไทย อ.เชียงแสน .เชียงของ อ.เวียงแก่น จ.เชียงราย  เช่น โครงการสร้างเขื่อนในแม่น้ำโขงตอนบนของจีนยูนนานจำนวน 8 เขื่อน (สร้างเสร็จและเปิดใช้แล้ว 3 เขื่อน) โครงการระเบิดเกาะแก่งในลำน้ำโขงเพื่อการเดินเรือพาณิชย์ขนาดใหญ่ โครงการเขตการค้าเสรีอาเชียน-จีน และโครงการเขื่อนแม่น้ำโขงตอนล่างซึ่งกำลังพัฒนาอยู่อีก 11 แห่ง ฯลฯ โครงการพัฒนาเหล่านี้สร้างผลกระทบต่อชีวิตของคนในชุมชนท้องถิ่นริมฝั่งแม่น้ำโขงอย่างมหาศาล  กระแสน้ำในลำน้ำโขงเปลี่ยนแปลงไปเพราะการเปิดปิดเขื่อนของจีนเพื่อการเดินเรือพาณิชย์ของจีนได้ขึ้นลงค้าขาย ทั้งเพื่อการปล่อยน้ำจากภาวะน้ำท่วมในเขตหน้าเขื่อนของจีน  นอกจากนี้กระแสน้ำที่เปลี่ยนทางหลังจากระเบิดเกาะแก่งเหนือสามเหลี่ยมทองคำขึ้นไปยังทำให้สายน้ำไหลแรงจนผืนดินสองฝั่งโขงพังทลายไปปีละหลายสิบไร่ อีกปริมาณพันธุ์ปลาลดลง พื้นที่เกษตรริมฝั่งโขงถูกน้ำท่วม จนความมั่นคงทางอาหารและผืนดินริมฝั่งสูญสลาย บางชุมชนผู้คนต้องอพยพไปหากินต่างถิ่น หลายชุมชนต้องเปลี่ยนอาชีพ ทั้งหมดนี้ทำให้วิถีชีวิตคนริมฝั่งโขงแทบล่มสลาย

กล่าวสำหรับ เหตุการณ์เมื่อวันที่ 9-15 สิงหาคม 2551 เกิดน้ำท่วมหนักที่สุดในรอบสี่สิบปีในเขตแม่น้ำโขง-อิงและกกตอนปลาย สาเหตุหลักมาจากการเปิดเขื่อนในจีนอย่างฉับพลัน เพราะน้ำท่วมหนักหน้าเขื่อนจนมีรายงานข่าวของทางการจีนว่า มีผู้เสียชีวิต 40 คน และผู้คนหลายแสนคนต้องอพยพออกจากพื้นที่เสี่ยงภัย ด้วยเหตุนี้น้ำจึงท่วมฉับพลันเพียงในวันเดียวเกือบสองเมตร น้ำโขงหนุนเข้าสู่แม่น้ำอิงและกกซึ่งเป็นแม่น้ำสาขาลึกเข้าไปเกือบ 30 กิโลเมตร ก่อผลให้พื้นที่เกษตร สัตว์เลี้ยง บ้านเรือนและผืนแผ่นดินชายฝั่งเสียหายอย่างมหาศาล หลังน้ำลดลงในวันที่ 15 สิงหาคม 2551 สำรวจผลกระทบประเมินค่าความเสียหายเบื้องต้นเป็นเงินไม่ต่ำกว่า 85 ล้านบาท

หลังจากน้ำท่วมใหญ่แล้วเครือข่ายชาวบ้านในแม่น้ำอิง-กก ตอนปลายและชายฝั่งโขงได้ร่วมกันฟื้นฟูชุมชนท้องถิ่นริมน้ำโขงตามกำลังที่พอมี ทั้งการฟื้นฟูอาชีพ กองทุนเมล็ดพันธุ์และสัตว์เลี้ยง อย่างไรก็ตาม สำหรับแผ่นดินไทย-ผืนดินริมฝั่งโขงได้สูญเสียไปกับกระแสน้ำโขงเป็นอย่างมาก เช่นที่บ้านห้วยลึก และบ้านปากอิงใต้ การเข้ามาช่วยเหลือของหน่วยงานรัฐไทยเป็นไปอย่างล่าช้า ด้วยความกังวลและด้วยความรักผูกพันที่มีต้องแม่น้ำโขงซึ่งเปรียบเหมือนแม่ผู้หล่อเลี้ยงชีวิต จึงทำให้เครือข่ายชาวบ้านลุ่มน้ำอิง-กก ตอนปลายและชายฝั่งโขง ร่วมกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ได้รวมพลังปักหลัก เสริมดิน ป้องกันตลิ่งพังริมฝั่งโขง ณ บ้านปากอิงใต้ อำเภอเชียงของ จังหวัดเชียงราย ในวันที่ 25 – 27 เมษายน 2552 นี้

วันนี้ เครือข่ายชาวบ้านจากเครือข่ายรักทะเลกรุงเทพฯ และสิ่งแวดล้อมบางขุนเทียน เครือข่ายคนไทยพลัดถิ่น จ.ระนอง จ.ประจวบคีรีขันธ์ เครือข่ายสิทธิคนจน จ.ภูเก็ต เครือข่ายชุมชน จ.พังงา เครือข่ายผู้ได้รับผลกระทบจากเหมืองทองพิจิตร เครือข่ายฟื้นฟูลุ่มน้ำทะลสาบสงขลา เครือข่ายผู้ได้รับผลกระทบจากการสร้างเขื่อนบ้านกุ่ม เครือข่ายฟื้นฟูเกาะลันตา กลุ่มฮักบ้านเฮาพะเยาเมืองน่าอยู่ เครือข่ายชุมชนศรัทธาจ.ชายแดนใต้ เครือข่ายผู้ประสบภัยสึนามิ เครือข่ายองค์กรชุมชนเมืองเชียงใหม่ เครือข่ายองค์กรชุมชนเมืองอุบล และกลุ่มรักสิทธิลุ่มน้ำโขง ได้มาร่วมแรงร่วมใจกันในการสร้างแนวป้องกันตลิ่งพังริมฝั่งโขง เพื่อเป็นพลังการพึ่งตนเองของคนเล็กคนน้อยและเป็นการตอบแทนความรักต่อสายน้ำโขง ต่อทรัพยากรธรรมชาติว่า ชุมชนท้องถิ่นริมฝั่งโขงและเครือข่ายองค์กรชุมชนของไทยที่ได้อยู่ได้กินได้อาบใช้จากแม่น้ำโขงจะร่วมแรงกันพิทักษ์รักษาให้แม่น้ำโขงเป็นสายน้ำนานาชาติ ไม่ใช่แม่น้ำของประเทศใหญ่ประเทศใด และเพื่อให้ยั่งยืนสืบไปชั่วลูกหลาน  

ของขวัญถึงองค์การสหประชาชาติ หมายเลข 1

ของขวัญที่ได้มอบแด่องค์การสหประชาชาติในครั้งนี้ ขอมอบให้เพื่อเป็นอนุสรณ์เตือนใจว่า ถึงเวลาแล้วที่องค์กรสหประชาชาติ ต้องตระหนักและหันกลับมาทบทวนแนวนโยบายของแต่ละประเทศในลุ่มน้ำโขงในการจัดการทรัพยากรธรรมชาติที่ยั่งยืนและเป็นธรรม  โดยเฉพาะการทำงานช่วยเหลือชุมชนท้องถิ่นซึ่งได้รับผลกระทบจากนโยบายการพัฒนาของประเทศในลุ่มน้ำโขง  องค์การสหประชาชาติควรเห็นความสำคัญของชุมชนท้องถิ่นทั่วโลก ไม่ใช่เพียงแต่การให้ความสำคัญและการประสานให้เกิดการเชื่อมระหว่างองค์กรรัฐกับรัฐเท่านั้น  เพราะแท้จริงแล้ว ชุมชนท้องถิ่นเป็นรากฐานความมั่นคงของประเทศและของโลก หากแผ่นดินและวิถีชีวิตคนชายขอบริมฝั่งแม่น้ำโขงล้มสลายแล้วทุกประเทศในลุ่มน้ำโขงจะอยู่ได้อย่างไร หากผลกระทบจากการพัฒนาของรัฐบาลในลุ่มน้ำโขงดำเนินไปเช่นปัจจุบันนี้เรื่อยไป แล้วใครจะไปรู้ว่าสักวันหนึ่งอาจจะเกิดสงครามแย่งชิงทรัพยากรธรรมชาติขึ้นในลุ่มน้ำโขงอย่างหนักก็เป็นได้  การเคารพในสิทธิและไม่ริดรอดสิทธิของประเทศต้นน้ำและปลายน้ำ รวมถึงการจัดการทรัพยากรธรรมชาติในลุ่มน้ำโขงอย่างยั่งยืนและเป็นธรรม คือสิ่งสำคัญอย่างยิ่งที่องค์การสหประชาชาติและนานาชาติควรจะให้ความใส่ใจ เพื่อให้ก่อเกิดการอยู่ร่วมกันของคนในลุ่มน้ำโขงและคนในโลกอย่างสันติ

นอกจากนี้ ของขวัญชิ้นนี้มอบให้เพื่อเตือนสติว่า ต่อจากนี้องค์การสหประชาชาติต้องเป็นตัวกลางที่มีนโยบายและแผนพัฒนาที่ให้เกียรติคนยากคนจน คนชายขอบ เคารพและสนับสนุนชุมชนท้องถิ่นในทุกที่ของโลกให้มีความเข้มแข็ง โดยเฉพาะเมื่อเครือข่ายชาวบ้านหรือชุมชนท้องถิ่นได้รวมตัวกันพึ่งตนเองด้วยลำแข็งลำขาของคนเล็กคนน้อยแล้ว จำเป็นที่รัฐบาลชาติต่างๆ และองค์การสหประชาชาติต้องหนุนเสริมชุมชนท้องถิ่นเหล่านั้น โดยไม่ใช่มีเพียงแนวนโยบายที่ให้สิทธิพิเศษและโอกาสแต่เพียงองค์กรภาคทุนเศรษฐกิจหรือองค์กรทุนข้ามรัฐแต่เพียงด้านเดียว แนวนโยบายและการทำงานขององค์การสหประชาชาติต่อจากนี้ไปต้องอยู่บนพื้นฐานของการเคารพต่อธรรมชาติและมีความเท่าเทียมกันของมนุษย์ เพราะการพัฒนาที่เคารพธรรมชาติและศรัทธาในความเท่าเทียมกันของมนุษย์เท่านั้นจะนำมาซึ่งความสงบสุข ความมั่นคงของประเทศชาติ ของคนในลุ่มน้ำโขงและของโลกอันเป็นที่รักร่วมกันของเรา

                                    เคารพธรรมชาติและศรัทธาในความเท่าเทียมกันของมนุษยชาติ

 

 

เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง