แถลงการณ์กรณีอุทกภัยแม่น้ำโขง บทบาทของคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง เขื่อนจีน
และระบบเตือนภัย

fas fa-pencil-alt
เครือข่ายประชาสังคมไทยเพื่อแม่น้ำโขง
fas fa-calendar
16 สิงหาคม 2551

อุทกภัยน้ำท่วมที่เกิดขึ้นเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาได้สร้างความเสียหายต่อประชาชนที่อาศัยอยู่ริมแม่น้ำโขงนับตั้งแต่อำเภอเชียงแสน อำเภอเชียงของ จังหวัดเชียงราย ลงไปจนถึงเวียงจันทน์ จังหวัดหนองคาย และนครพนม เครือข่ายประชาสังคมไทยเพื่อแม่น้ำโขงมีข้อสังเกตและข้อเรียกร้องดังนี้:

บทบาทหน้าที่ของคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง

คณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง (MRC) ได้ออกแถลงการณ์เมื่อวันที่ 15 สิงหาคม โดยระบุว่าอุทกภัยที่เกิดขึ้นมีสาเหตุมาจากพายุเขตร้อนคามูริ ทำให้ปริมาณน้ำเพิ่มขึ้น และน้ำโขงที่เวียงจันทน์ 50% มาจากจีน ที่เหลือมาจากน้ำสาขา และระบุอย่างชัดเจนว่าระดับน้ำที่เพิ่มสูงขึ้นมิได้เกิดจากการปล่อยน้ำจากเขื่อนในจีน ซึ่งมีปริมาณกักเก็บน้ำน้อยเกินกว่าจะสร้างผลกระทบต่ออุทกวิทยาในแม่น้ำโขง

การที่ MRC อ้างว่าปริมาณน้ำโขงที่เวียงจันทน์เป็นน้ำที่ไหลมาจากจีน 50% เป็นการให้ข้อมูลไม่ครบถ้วน เพราะ MRC ไม่ได้ชี้แจงให้ชัดเจนว่าปริมาณน้ำท่วมที่อำเภอเชียงแสน อำเภอเชียงของ จังหวัดเชียงราย เป็นน้ำที่มาจากจีนเป็นสัดส่วนเท่าไหร่ และเกี่ยวข้องอย่างไรกับการปล่อยน้ำของเขื่อนในจีน

เขื่อน 3 แห่งในจีนมีความจุอ่างเก็บน้ำรวมกัน 3,043 ล้านลูกบาศก์เมตร คือเขื่อนม่านวานมีความจุ 920 ล้านลูกบาศก์เมตร เขื่อนต้าเฉาซานมีความจุ 890 ล้านลูกบาศก์เมตร และเขื่อนจิ่งหง 1,233 ล้านลูกบาศก์เมตร

แถลงการณ์ยังระบุว่ามีการแจ้งเตือนภัยระหว่างสถานีวัดน้ำที่เชียงแสนและจิ่งหง ซึ่งเป็นเขื่อนกั้นแม่น้ำโขงที่ตั้งอยู่ใกล้ที่สุด และมีการประสานงานกันในเครือข่ายสถานีวัดน้ำทั้ง 18 แห่ง น้ำจะใช้เวลาเดินทางจากจิ่งหงลงมาถึงเชียงแสน 21 ชั่วโมง เชียงแสนถึงหลวงพระบาง 17 ชั่วโมง และหลวงพระบางถึงเวียงจันทน์ 24 ชั่วโมง ทำให้ MRC สามารถแจ้งเตือนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ทันการณ์

เครือข่ายประชาสังคมไทยเพื่อแม่น้ำโขงมีข้อสังเกตว่า MRC เป็นตัวแทนของหน่วยงานรัฐบาล 4 ประเทศลุ่มน้ำโขงตอนล่าง ไม่มีหน้าที่แก้ตัวแทนเขื่อนจีน แต่ควรประสานงานกับเครือข่ายสถานีวัดน้ำ โดยเฉพาะสถานีจิ่งหง และแจ้งเตือนภัยแก่สาธารณะทันที ตลอดสองสัปดาห์ที่ผ่านมา MRC ทำเพียงประกาศเตือนภัยทางเว็บไซต์ จึงกล่าวได้ว่า MRC มีข้อมูลระดับน้ำและตระหนักดีว่าน้ำจากแม่น้ำโขงตอนบนในจีนจะหลากท่วมพื้นที่ตอนล่าง แต่กลับไม่ประกาศต่อสาธารณะผ่านสื่อต่างๆ ให้ประชาชนทั่วไปได้เตรียมตัวป้องกันความเสียหาย

ระบบเตือนภัยและเขื่อนแม่น้ำโขงในจีน

นับตั้งแต่มีแผนการสร้างเขื่อนแห่งแรกบนแม่น้ำโขงในปี 2539 จีนได้อ้างมาโดยตลอดว่าเขื่อนในจีนจะช่วยเพิ่มปริมาณน้ำในฤดูแล้งและป้องกันน้ำท่วมในฤดูฝน แต่อุทกภัยที่เกิดขึ้นชี้ให้เห็นว่าปริมาณน้ำที่เพิ่มขึ้นส่วนใหญ่มาจากแม่น้ำโขงสายหลัก มิได้มาจากน้ำสาขาในไทยหรือลาว ตรงกับที่หนังสือพิมพ์เซียงไฮ้เดลี่ วันที่ 13 สิงหาคม รายงานข่าวความเสียหายจากพายุในมณฑลยูนนาน ซึ่งอยู่ทางตอนบนของแม่น้ำโขง รายงานข่าวระบุว่าประชาชนกว่า 1,250,000 คนใน 11 เมืองได้รับความเดือดร้อน มีผู้เสียชีวิต 40 คน

เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจึงชี้ให้เห็นว่าปริมาณน้ำจากตอนบนในจีนมีนัยสำคัญต่อปริมาณน้ำและอุทกวิทยาในแม่น้ำโขงตอนล่าง โดยเฉพาะที่จังหวัดเชียงราย แต่ระบบเตือนภัยที่มีอยู่นั้นล้มเหลวโดยสิ้นเชิง

เครือข่ายประชาสังคมไทยเพื่อแม่น้ำโขงจึงขอเรียกร้องให้ MRC ตอบคำถามของสาธารณะว่าปริมาณน้ำจากทางตอนบน โดยเฉพาะจากเขื่อน 3 แห่งในจีน จะสร้างความเสียหายต่อพื้นที่ใดบ้าง รวมถึงข้อมูลระดับน้ำที่สถานีวัดน้ำตั้งแต่เขื่อนม่านวาน เขื่อนต้าเฉาซาน และเขื่อนจิ่งหง ทั้งนี้เพื่อให้มีการเตรียมการป้องกันภัยได้อย่างทันท่วงที และเพื่อเป็นการพิสูจน์ข้อกล่าวอ้างของ MRC เรื่องมีการแจ้งเตือนจากจีนมาก่อนหน้า มิเช่นนั้นจะเป็นเพียงการกล่าวอ้างที่ปราศจากหลักฐานข้อเท็จจริงรองรับ

แถลงการณ์ของ MRC หลีกเลี่ยงที่จะตอบคำถามว่าเขื่อนในจีนได้มีบทบาทอย่างไรต่อสถานการณ์น้ำท่วมในขณะนี้ การกล่าวเพียงว่าอ่างเก็บน้ำของเขื่อนในจีนมีความจุน้อยเกินไปที่จะควบคุมอุทกวิทยาของน้ำโขงตอนล่าง เป็นการพูดที่น่าอับอายมากที่สุด บนความพิบัติและความเดือดร้อนของประชาชนในลุ่มน้ำโขงตอนล่างในขณะนี้

เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง