แถลงการณ์ ประณามการฝ่าฝืนมติ MRC ของบริษัท ช.การช่าง กรณีเดินหน้าสร้างเขื่อนไซยะบุรี

fas fa-pencil-alt
เครือข่ายประชาชน 8 จังหวัดลุ่มน้ำโขง
fas fa-calendar
24 เมษายน 2555

ตามที่บริษัท ช.การช่างฯ ได้ลงนามกับบริษัทไซยะบุรีพาวเวอร์ เพื่อลงทุน ก่อสร้าง และพัฒนาโครงการเขื่อนไซยะบุรี บนแม่น้ำโขงสายหลัก และวางแผนที่จะส่งไฟฟ้าขายให้แก่ประเทศไทย นั้น

เครือข่ายภาคประชาชน 8 จังหวัดลุ่มน้ำโขง ประกอบด้วย จังหวัดเชียงราย เลย หนองคาย บึงกาฬ นครพนม มุกดาหาร อำนาจเจริญ และอุบลราชธานี ที่ได้ติดตามกรณีการพัฒนาโครงการในแม่น้ำโขงมาตลอด มีความกังวลใจอย่างยิ่งต่อโครงการเขื่อนไซยะบุรี  

ชาวบ้านที่อาศัยอยู่ริมแม่น้ำโขงมองว่า โครงการก่อสร้างเขื่อนไซยะบุรีจะสร้างผลกระทบร้ายแรงต่อ ระบบนิเวศลุ่มน้ำโขง การอพยพของพันธุ์ปลา การประมง การเกษตร และความมั่นคงทางอาหารของชุมชนสองฝั่งแม่น้ำโขง ที่มีแม่น้ำโขงเป็นสายเลือดหล่อเลี้ยงชีวิต อันจะส่งผลไปสู่การบังคับให้อพยพย้ายถิ่น และการขาดแคลนอาหาร ตลอดทั้งอาจส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงดินแดนของประเทศด้วย

ตลอดระยะเวลาหลายปีที่ผ่านมา ชาวบ้านได้รับรู้ถึงผลกระทบของการสร้างเขื่อน 4 แห่ง ในประเทศจีน ซึ่งกั้นแม่น้ำโขงทางตอนบน ที่แม้จะอยู่ห่างไกลกว่าโครงการเขื่อนไซยะบุรี แต่ได้สร้างผลกระทบต่อคนลุ่มน้ำโขงตอนล่างอย่างชัดเจน หากมีการสร้างเขื่อนไซยะบุรีสำเร็จ จะเกิดผลกระทบไม่เพียงแต่ประชาชนในประเทศไทยเท่านั้น แต่จะส่งผลกระทบต่อ ประชาชนริมแม่น้ำโขงในลาว กัมพูชา และเวียดนาม รวมถึงคนริมฝั่งแม่น้ำสาขาของแม่น้ำโขง

เขื่อนไซยะบุรีจะทำลายระบบนิเวศอันอุดมสมบูรณ์ของลุ่มน้ำโขงตอนล่าง และวิถีชีวิตของคนริมฝั่งโขงหลายล้านคน เป็นความเสียหายทางสิ่งแวดล้อมที่รุนแรง กว้างขวาง และไม่อาจแก้ไขกลับคืนได้

ที่สำคัญ การเดินหน้าก่อสร้างโครงการของ บริษัท ช.การช่าง ได้ละเมิดมติคณะมนตรีแม่น้ำโขง โดยคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง (เอ็มอาร์ซี) ซึ่งสมาชิก 4 ประเทศลุ่มน้ำโขง อันได้แก่ ไทย ลาว เวียดนาม และกัมพูชา ประชุมกัน เมื่อวันที่ 8 ธันวาคม 2554 ที่ประเทศกัมพูชา โดยที่ประชุมมีมติให้ทำการศึกษาชิ้นใหม่ เพื่อประเมินผลกระทบจากเขื่อนบนแม่น้ำโขงอย่างรอบด้าน และ 4 ประเทศสมาชิกเอ็มอาร์ซียังไม่ให้ฉันทามติ ต่อการก่อสร้างโครงการเขื่อนไซยะบุรี แต่อย่างใด

การลงนามในสัญญาก่อสร้างโครงการเขื่อนไซยะบุรี การดำเนินการก่อสร้างดังกล่าว จึงละเมิดข้อตกลงระหว่างประเทศของภูมิภาคลุ่มน้ำโขง ซึ่งนำไปสู่ความขัดแย้งในภูมิภาคได้ในระยะเวลาอันใกล้

เครือข่ายภาคประชาชน 8 จังหวัดลุ่มน้ำโขง เรียกร้องให้

1 บริษัท ช.การช่าง หยุดโครงการเขื่อนไซยะบุรีทันที พร้อมทั้งระงับการก่อสร้างในพื้นที่ จนกว่าการศึกษาผลกระทบของเอ็มอาร์ซี จะแล้วเสร็จ มีการเผยแพร่ และรับฟังความคิดเห็นของประชาชนอย่างรอบด้าน และมีส่วนร่วม

2 การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ระงับสัญญาซื้อขายไฟฟ้าจากเขื่อนไซยะบุรี เนื่องจากโครงการยังไม่ได้รับฉันทามติจากประเทศสมาชิก MRC ทั้ง 4 ประเทศ

3 ธนาคารกรุงไทย กสิกรไทย ไทยพาณิชย์ และกรุงเทพ ระงับและยกเลิกการปล่อยเงินกู้เพื่อการสร้างเขื่อนไซยะบุรี เพื่อหยุดสนับสนุนการลงทุนที่ฉวยโอกาสจากประเทศเพื่อนบ้าน

4 ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ควรเข้าไปตรวจสอบบริษัทที่จดทะเบียน ให้คำนึงถึงหลักธรรมาภิบาลในการลงทุน เพื่อให้เป็นไปตามหลักสากล โดยเฉพาะมาตรฐานด้านสังคมและสิ่งแวดล้อม

เพื่อแม่น้ำโขงที่ไหลอย่างอิสระ หล่อเลี้ยงผู้คนแห่งสุวรรณภูมิสืบต่อไป

 

 


เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง