แถลงการณ์สมัชชาคนจนกรณีเขื่อนท่าแซะ
กลุ่มอนุรักษ์ป่าต้นน้ำท่าแซะ การที่ผู้ว่าราชการ นาย พินิจ เจริญพานิช ผู้ว่าจังหวัดชุมพร ผลักดันโครงการสร้างเขื่อนท่าแซะร่วมกับกรมชลประทาน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยการอนุมัติของคณะรัฐมนตรี อย่างมีเงื่อนไขคือ ให้ปฏิบัติตามมติคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาตินั้น พวกเราเครือข่ายประชาชนต้นน้ำท่าแซะ จังหวัดชุมพร ในนาม กลุ่มอนุรักษ์ต้นน้ำท่าแซะ ขอยืนยันว่าการดำเนินการที่ผ่านมาไม่ถูกต้องและไม่มีความโปร่งใสในกระบวนการพิจารณาทุกขั้นตอนมาตั้งแต่ต้น กล่าวคือการนำเรื่องเข้าพิจารณาในคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ โดยยังไม่ผ่านคณะกรรมการผู้ชำนาญการ (คชก.) มีการใช้ข้อมูลที่เสนอในรายงานวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) ที่เป็นข้อมูลเท็จ และบิดเบือน โดยเฉพาะประเด็นสำคัญ เรื่องความคุ้มค่าทางเศรษฐกิจ พื้นที่ชลประทาน ความต้องการใช้น้ำ และพื้นที่น้ำท่วมในป่าอนุรักษ์อุทยานเสด็จในกรม กรมหลวงชุมพร แต่กรรมการสิ่งแวดล้อมกลับอนุมัติผ่านโครงการโดยไม่ฟังเสียงทักท้วงจากประชาชน โดยเพิ่มเงื่อนไขให้ไปปฏิบัติตามผู้ชำนาญการ แล้วกระทรวงเกษตรได้นำเรื่องขออนุมัติกับคณะกรรมการ กรั่นกรอง โดยที่กรมชลประทานเจ้าของโครงการยังไม่ได้ดำเนินการใดๆ เลยตามเงื่อนไขของผู้ชำนาญการ จากนั้นก็เสนอให้ ครม. อนุมัติ โครงการโดยไม่ฟังเหตุผลและตรวจสอบข้อมูลใดๆ ตามที่ประชาชนผู้ได้รับผลกระทบได้ยื่นหนังสือทักท้วงคัดค้านกับ ฯพณฯ นายกรัฐมนตรี รมต. กระทรวงเกษตรฯ และ รมต. กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติฯ โดยที่ได้มีการคัดค้านโครงการเขื่อนท่าแซะมาตลอดตั้งแต่ต้น
กลุ่มอนุรักษ์ต้นน้ำท่าแซะ จึงมีท่าทีและมีข้อเสนอ ดังนี้
1.กลุ่มอนุรักษ์ต้นน้ำท่าแซะขอประณามการจัดฉากเวทีชี้แจงเขื่อนท่าแซะของผู้ว่าราชการจังหวัดชุมพรและกรมชลประทานที่จัดประชุม กับหลายฝ่ายเพื่อผลักดันให้มีการสร้างเขื่อนท่าแซะ
2.การที่กรมชลประทานและจังหวัดชุมพรอ้างมติ ครม. เพื่อเริ่มดำเนินการสร้างเขื่อนท่าแซะ โดยไม่ได้ปฏิบัติตามเงื่อนไขที่ต่อเนื่องมาตั้งแต่ผู้ชำนาญการจนถึง ครม. นั้น ถือเป็นการเจตนาจงใจเอามติ ครม. มาข่มขู่ประชาชนให้เกรงกลัวและยินยอม นับเป็นการกระทำของหน่วยงานราชการผู้ไม่มีความเจริญทางจิตใจ ด้อยพัฒนาล้าหลังที่สุด ขัดกับการปฏิรูปราชการ หลักธรรมาภิบาล และไม่เคารพต่อสิทธิและการมีส่วนร่วมของประชาชนตามบทบัญญัติของกฎหมายรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2550
3.การสร้างเขื่อนท่าแซะไม่มีความคุ้มทุนทางเศรษฐกิจอย่างที่กรมชลประทานอ้างข้อมูลเก่าในรายงาน EIA เมื่อ 10 ปีที่แล้ว เพราะเป็นช่วงหลังพายุเกย์ และข้อมูลสำคัญบิดเบือนมาตั้งแต่ต้นด้วย เพราะเขื่อนท่าแซะทำลายเศรษฐกิจสวนยางพารา ปาล์มน้ำมัน และไม้ผลของประชาชนกว่า 6,800 ไร่ มีมูลค่าปีละร้อยล้านบาท และทำลายป่าอนุรักษ์เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าอุทยานเสด็จในกรม กรมหลวงชุมพร ซึ่งเป็นลุ่มน้ำชั้น A1 กว่า 2,400 ไร่ และ จ.ชุมพร มีภูมิอากาศชุ่มชื้นฝนตกชุกทั้งปี ไม่ต้องการใช้น้ำชลประทาน
4.กลุ่มอนุรักษ์ต้นน้ำท่าแซะ ขอยืนยันคัดค้านโครงการเขื่อนท่าแซะจนถึงที่สุด จนกว่าจะมีการยกเลิกโครงการ ด้วยสันติวิธีและความอดทด เพื่อปกป้องทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมแห่งชุมชนท้องถิ่นต้นน้ำท่าแซะ ตามสิทธิในบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2550 และขอให้เจ้าหน้าที่รัฐทุกฝ่ายหยุดพฤติกรรมการข่มขู่ชาวบ้านผู้ได้รับผลกระทบจากเขื่อนท่าแซะ
5.กลุ่มอนุรักษ์ต้นน้ำท่าแซะซึ่งเป็นประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากโครงการเขื่อนท่าแซะจะไม่ขอเจรจาเรียกร้องค่าชดเชยใดๆ เพื่อพิทักษ์สิทธิชุมชนท้องถิ่นเราจะไม่ยอมอพยพโยกย้ายจากพื้นที่ต้นน้ำท่าแซะไปที่ไหนทั้งสิ้น ขอเรียกร้องให้กรมชลประทานเร่งพิจารณายกเลิกโครงการเขื่อนท่าแซะ จ. ชุมพร โดยเด็ดขาด
6.กลุ่มจะสนับสนุนแนวทางการจัดการลุ่มน้ำท่าตะเภา (ท่าแซะ-รับร่อ) ด้วยวิธีการที่ยั่งยืนเท่านั้และขอให้รัฐบาลเร่งพิจารณาแนวทางเลือกอื่นที่ไม่ใช่การสร้างเขื่อนท่าแซะ
กลุ่มอนุรักษ์ต้นน้ำท่าแซะ จ. ชุมพร
ต.สองพี่น้อง อ.ท่าแซะ จ.ชุมพร
ณ ศาลากลางจังหวัดชุมพร