แถลงการณ์ ถึงรัฐบาลไทย ขอให้ตรวจ
สอบและประสานงานกับรัฐบาลกลุ่มประเทศลุ่มน้ำโขง กรณีระดับ น้ำโขงลดลงผิดปกติ
เครือข่ายประชาชนไทยเพื่อแม่น้ำโขง ซึ่งเป็นองค์กรภาคประชาสังคมที่ติดตามการพัฒนาแม่น้ำโขงมาโดยตลอด พบว่าตั้งแต่ต้นเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมาจนถึงขณะนี้ ระดับน้ำในแม่น้ำโขงลดลงผิดปกติจนอยู่ในระดับวิกฤติ ซึ่งมีระดับใกล้เคียงกับระดับน้ำโขงในช่วงเดียวกันของปี 2536 อันเป็นปีที่เขื่อนม่านวานได้เริ่มเก็บกักน้ำเพื่อผลิตกระแสไฟฟ้า และจากข้อมูลระดับแม่น้ำโขงที่เผยแพร่โดยคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขงของวันที่ 22 กุมภาพันธ์นี้ ก็แสดงให้เห็นว่า ระดับน้ำในแม่น้ำโขงจะมีระดับน้ำต่ำกว่านี้อีกในช่วงต่อไป
ระดับน้ำที่ต่ำผิดปกติในขณะนี้ ได้ส่งผลกระทบต่อชุมชนที่พึ่งพาแม่น้ำโขงอย่างมาก ไม่ว่าจะเป็นการหาปลา การสัญจรทางน้ำ และน้ำอุปโภคบริโภค โดยเฉพาะอย่างยิ่งในพื้นที่อำเภอเชียงแสน เชียงของ และเวียงแก่น จังหวัดเชียงราย และนับตั้งแต่วันที่ 20 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา เรือโดยสารขนาดใหญ่ระหว่างห้วยทราย-หลวงพระบาง-เวียงจันทน์ ในสปป.ลาว ต้องหยุดเดินเรือ
เครือข่ายฯ พบว่ามีรายงานข่าวจากหนังสือพิมพ์ไชน่าเดลี่ รายงานเมื่อวันที่ 9 กุมภาพันธ์ว่า นับตั้งแต่ปลายปี 2552 เกิดความแห้งแล้งในพื้นที่มณฑลยูนนานร้ายแรงที่สุดในรอบ 60 ปี บริษัทที่ดำเนินการเขื่อนบนแม่น้ำโขงทั้ง 4 แห่ง กล่าวว่าภัยแล้งที่เกิดขึ้นเป็นระยะเวลานานส่งผลให้ระดับน้ำในอ่างเก็บน้ำของเขื่อนลดลงและกระทบต่อการผลิตกระแสไฟฟ้า
นอกจากนี้ หนังสือพิมพ์หนานฟ่างเดลี่ก็รายงานว่าไฟฟ้าที่ผลิตได้จากเขื่อนบนแม่น้ำโขงขึ้นอยู่กับระดับน้ำในอ่างเก็บน้ำของเขื่อนเสี่ยววาน ซึ่งเขื่อนแห่งนี้ต้องจัดการระดับน้ำในอ่างเก็บน้ำเพื่อให้สามารถผลิตกระแสไฟฟ้าได้ แต่ในขณะนี้ปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำลดลงอย่างมากและทำให้กระแสไฟฟ้าในยูนนานลดลง
เครือข่ายฯ เห็นว่าถึงเวลาแล้วที่รัฐบาลไทยต้องให้ความสนใจมากยิ่งขึ้นต่อการพัฒนาบนแม่น้ำโขง โดยเฉพาะการสร้างเขื่อนในประเทศจีน เนื่องจากได้สร้างผลกระทบด้านท้ายน้ำมาตั้งแต่ปี 2536 ทั้งในฤดูแล้งและในฤดูฝน ดังเช่นสถานการณ์น้ำท่วมในฤดูฝนเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2551
เครือข่ายฯ ขอเรียกร้องให้รัฐบาลไทยมีท่าทีที่ชัดเจนต่อรัฐบาลจีน ในอันที่จะรักษาผลประโยชน์ของประชาชนไทยที่อาศัยอยู่ด้านท้ายน้ำ โดยในระยะเฉพาะหน้านี้ ต้องเข้าไปตรวจสอบข้อมูลการกักเก็บน้ำของเขื่อนบนแม่น้ำโขงในประเทศจีน และประสานงานกับรัฐบาลประเทศในลุ่มน้ำโขง รวมทั้งการตรวจสอบผลกระทบที่เกิดขึ้นต่อชุมชนที่อาศัยอยู่ริมน้ำโขงตั้งแต่ จ.เชียงราย ไปจนถึง จ.อุบลราชธานี เพื่อแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นอย่างทันท่วงที
องค์กรร่วมลงนาม
- เครือข่ายประชาชนไทยเพื่อแม่น้ำโขง
- คณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชนภาคเหนือ
- โครงการแม่น้ำเพื่อชีวิต
- โครงการฟื้นฟูนิเวศในภูมิภาคแม่น้ำโขง
- กลุ่มรักษ์เชียงของ
- กลุ่มฮักน้ำของ จังหวัดอุบลราชธานี
- กลุ่มนิเวศน์วัฒนธรรม/ศูนย์ข้อมูลสิทธิมนุษยชนและสันติภาพอีสาน จังหวัดอุดรธานี
- โครงการทามมูล จังหวัดสุรินทร์