ทำไมต้องเปิดเขื่อนปากมูล
การต่อสู้ของชาวบ้านปากมูล นับตั้งแต่เขื่อนปากมูลเริ่มต้นก่อสร้างเมื่อ 20 ปีที่แล้ว กำลังเดินมาสู่จุดเปลี่ยนที่สำคัญอีกครั้งหนึ่ง เมื่อคณะกรรมการแก้ไขปัญหาเขื่อนปากมูล ทีนายสาทิตย์ วงศัหนองเตย เป็นประธาน ได้มีมติให้แก้ไขปัญหาเขื่อนปากมูล ด้วยการเปิดประตูน้ำอย่างถาวร การตัดสินใจตามข้อเสนอของคณะกรรมการฯ จึงเป็นเรื่องที่ท้าทายความกล้าหาญของรัฐบาลปัจจุบัน หลังจากที่รัฐบาลทุกชุดที่ผ่านมาพยายามจะซื้อเวลาการแก้ปัญหาของเขื่อนปากมูล ด้วยวิธีการหลากหลาย เช่น การจ่ายค่าชดเชยผู้ที่ได้รับผลกระทบในระหว่างการสร้างเขื่อน การจ่ายค่าชดเชยการสูญเสียอาชีพ การทดลองเปิดเขื่อนตลอดปีเพื่อศึกษาผลดีผลเสีย การเปิดเขื่อน 4 เดือน และปิด 8 เดือน ทั้งหมดเป็นการแก้ปัญหาแบบการเมือง ที่ไม่ใช้เหตุผลทางวิชาการ และความเดือดร้อนของชาวบ้าน เป็นตัวตั้ง
คณะกรรมการแก้ไขปัญหาเขื่อนปากมูล ที่แต่งตั้งโดยรัฐบาลชุดปัจจุบัน ทำหน้าที่รวบรวมผลการศึกษาเขื่อนปากมูลในด้านต่างๆ ตลอด 20 ปี และรวบรวมความคิดเห็น ทัศนคติ ของชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบทั้งทางบวกและทางลบในพื้นที่ และเสนอแนวทางการแก้ปัญหาต่อคณะรัฐมนตรี องค์ประกอบของคณะกรรมการ มีทั้ง นักวิชาการที่เกี่ยวข้องในหลากหลายสาขา ตัวแทนของฝ่ายการเมือง ส่วนราชการและองค์กรพัฒนาเอกชน ที่เกี่ยวข้อง โดยไม่มีตัวแทนของชาวบ้านผู้มีส่วนได้เสีย เพื่อให้การทำงานของคณะกรรมการฯเป็นกลางมากที่สุด
ในการประชุมวันที่ 4 พฤศจิกายนที่ผ่านมา ภายหลังจากคณะกรรมการฯ ได้รับฟังรายงานผลการศึกษาของคณะอนุกรรมการทั้ง2ชุด ได้แก่ คณะอนุกรรมการรวบรวมงานวิจัยฯที่เกี่ยวข้อง และคณะอนุกรรมการรับฟังความคิดเห็นในพื้นที่ คณะกรรมการฯ มีมติเสนอรัฐบาลแก้ปัญหาเขื่อนปากมูล โดยการเปิดเขื่อนถาวร และ ฟื้นฟูเยียวยาชาวบ้านผู้ได้รับผลกระทบ (อย่างไรก็ตาม ในที่ประชุมการไฟฟ้าฝ่ายผลิตฯ ได้ขอสงวนสิทธิความเห็น)
ข้อสรุปในรายงานฯ ได้ชี้ให้เห็นว่า “แม่น้ำมูล เป็นแม่น้ำที่ใหญ่และยาวที่สุดในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ไหลไปรวมกับแม่น้ำโขง และกลายเป็นส่วนหนึ่งของระบบนิเวศน์ในลุ่มน้ำโขง ที่มีความหลากหลายของพืชพรรณ สิ่งมีชีวิต ตลอดจนความอุดมสมบูรณ์ของธรรมชาติมากที่สุดแห่งหนึ่งของโลก ทั้งเป็นแหล่งที่มีพันธุ์ปลาชุกชุมที่สุดแห่งหนึ่งของประเทศ เนื่องจากลักษณะทางภูมินิเวศ ที่อยู่ตรงตำแหน่งรอยเชื่อมของแม่น้ำใหญ่ และแม่น้ำสาขา จึงทำให้เกิดการอพยพขึ้นลงของปลา ระหว่างแม่น้ำโขงและแม่น้ำมูลตลอดทั้งปี กลายมาเป็นคลังอาหารธรรมชาติที่ยิ่งใหญ่ ดึงดูดให้ผู้คนในอดีต ลงหลักปักฐาน ก่อร่างสร้างบ้านและชุมชนขึ้น ในบริเวณสองฟากฝั่ง สืบย้อนไปได้นับหลายร้อยปี”
ชาวบ้านปากมูล จึงเป็นชาวประมง ที่มีรายได้หลักจากการจับปลา และก่อร่างสร้างชุมชนและวัฒนธรรม วิถีชีวิต แบบคนหาปลา โดยพึ่งพิงความอุดมสมบูรณ์ของแม่น้ำมูล ชาวบ้านที่นี่ไม่ใช่คนจน ตราบจนกระทั่งมีการก่อสร้างเขื่อนปากมูล
ภายหลังการสร้างเขื่อน มีปลาจำนวนมากถึง 169 ชนิดที่หายไป พืช และสมุนไพร ที่ใช้กินและเป็นแหล่งรายได้ กว่า 100 ชนิด ได้รับผลกระทบ ชาวบ้านประมงสูญเสียรายได้ปีละกว่า 140 ล้านบาท เฉลี่ยครอบครัวละ กว่าสองหมื่นบาท ผลกระทบที่เกิดขึ้นอย่างรุนแรง ไม่ใช่เรื่องของตัวเลข แต่เป็นความล่มสลายของวิถีชีวิต ครอบครัว และชุมชน ที่ต้องพึ่งพาความอุดมสมบูรณ์ของแม่น้ำมูล ภาวะความยากจน ทำให้พวกเขาต้องละทิ้งถิ่นฐาน เพื่อดิ้นรนเอาตัวรอด นอกจากนั้น เขื่อนปากมูล ยังได้สร้างความขัดแย้งอย่างรุนแรงในพื้นที่ที่สงบสุขมาก่อน ความขัดแย้งที่เกิดจากผู้ที่ได้ประโยชน์จากเขื่อน และผู้ที่เสียประโยชน์ ความขัดแย้งแตกแยก ร้าวลึกลงไปทั้งในชุมชนและครอบครัว จนยากจะเยียวยา คล้ายกับความแตกแยกอย่างรุนแรงในสังคมไทยปัจจุบัน
ทั้งหมดนี้ แลกกับกำไรจากการผลิตไฟฟ้าปีละ 99 ล้านบาท
นอกจากนั้น เรื่องที่คนทั่วไปไม่รู้คือ ปัจจุบัน แม้เขื่อนปากมูลไม่ผลิตไฟฟ้าเข้าสู่ระบบ ก็ไม่ก่อให้เกิดปัญหาของปริมาณความต้องการไฟฟ้า เนื่องจากการไฟฟ้าฯ รับซื้อไฟฟ้าจากเขื่อนห้วยเฮาะของลาว ได้อย่างพอเพียง และในอนาคตอันใกล้ ยังมีเขื่อนน้ำเทิน 2 ที่จะช่วยเสริมเสถียรภาพของระบบได้เป็นอย่างดี
สำหรับประเด็นเรื่องเขื่อนเพื่อการชลประทาน การศึกษาฯพบว่า การปิดเปิดประตูน้ำเขื่อนปากมูล ไม่มีผลต่อการสูบน้ำเพื่อการชลประทาน เนื่องจากส่วนใหญ่เป็นสถานีสูบน้ำแบบแพลอย ซึ่งเหมาะสมกับสภาพการใช้ประโยชน์ของชาวบ้าน แต่ที่สำคัญคือ การศึกษาฯพบว่า พื้นที่ชุมชนโดยรอบ ไม่ได้ต้องการน้ำมากขนาดที่จะต้องลงทุนสร้างสถานีสูบน้ำ ผลก็คือ มีการสูบน้ำน้อยมาก อีกทั้งชาวบ้านต้องเป็นผู้รับภาระส่วนหนึ่งของค่าสูบน้ำ การสูบน้ำจึงให้ประโยชน์เฉพาะกลุ่มชาวนาที่มีฐานะ มีพื้นที่ใกล้คลองชลประทาน ซึ่งมีเป็นจำนวนน้อย
คณะอนุกรรมการรวบรวมงานวิจัยฯ เสนอให้แก้ปัญหาด้วยการเปิดเขื่อนตลอดปี เนื่องจาก แนวคิดในการแก้ปัญหาในอดีตโดยการเปิดๆปิดๆ (เปิด 4 ปิด 8) ไม่ได้วางอยู่บนฐานของความรู้หรือเหตุผลใดๆ ทั้งในเชิงนิเวศ ทรัพยากรธรรมชาติ หรือแม้กระทั่ง การผลิตไฟฟ้าที่มีวัตถุประสงค์หลักในการผลิตช่วงที่มีความต้องการไฟฟ้าสูงสุด(Peak load) ก็ไม่เป็นจริง เพราะเขื่อนปากมูลผลิตไฟในหน้าแล้งไม่ได้เนื่องจากปริมาณน้ำน้อยเกินไป ดังนั้น การเปิดเขื่อนตลอดปี ซึ่งได้เคยทำการศึกษาไว้บ้างแล้วโดย ม.อุบลราชธานี ในปี 2545 จะทำให้ เกิดการฟื้นคืนมาของระบบนิเวศ การกลับมาของระบบเศรษฐกิจบนฐานของการพึ่งพาตนเองของชุมชน การเปิดตลอดปี จึงเป็นข้อเสนอที่มีเป้าหมายหลักในการให้ความสำคัญกับระบบนิเวศ อันเป็นรากฐานสำคัญของวิถีชีวิตชุมชน
การตัดสินใจของคณะกรรมการแก้ไขปัญหาเขื่อนปากมูล ด้วยการเสนอให้เปิดเขื่อนถาวร และเยียวยาฟื้นฟูชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบ จึงเป็นการตัดสินใจที่อยู่บนฐานของความรู้ ความยุติธรรม และการเคารพศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์
และไม่ว่ารัฐบาลจะตัดสินใจแก้ปัญหาเขื่อนปากมูลอย่างไร การต่อสู้ของชาวบ้านกว่า 20 ปี ก็ได้ทำให้ผู้เกี่ยวข้องบางส่วน ได้เรียนรู้ ทบทวน เข้าใจความรุนแรงและผลที่เกิดจากการพัฒนาแบบหยาบๆในอดีต ที่ทำลายทั้งระบบนิเวศ ชุมชนและชาวบ้าน ในบริเวณปากแม่น้ำมูล
การต่อสู้ของชาวบ้านปากมูล จึงเป็นส่วนหนึ่งของประวัติศาสตร์การเมืองภาคประชาชน ที่จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างสร้างสรรค์ของสังคมไทยในอนาคตได้อย่างแท้จริง