ทั่วโลกร่วมต้านเขื่อนสาละวิน

fas fa-pencil-alt
ป.อพช เหนือ และเครือข่ายปกป้องแม่น้ำสาละวิน
fas fa-calendar
28 กุมภาพันธ์ 2550

สืบเนื่องจากเมื่อเดือนธันวาคม ๒๕๔๘ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ได้ลงนามบันทึกข้อตกลง (MOA) กับกรมไฟฟ้าพลังน้ำพม่า เพื่อสร้างเขื่อนฮัตจี ซึ่งเป็นเขื่อนแห่งแรกในจำนวน ๕ แห่งที่จะมีการก่อสร้างบนแม่น้ำสาละวิน และเมื่อเดือนพฤษภาคม ๒๕๔๙ ได้ลงนามบันทึกความเข้าใจ (MOU) ร่วมกับบริษัท Sinohydro รัฐวิสาหกิจของจีน เพื่อร่วมลงทุนในเขื่อนแห่งนี้ แต่เนื่องจากกระบวนการตัดสินใจทั้งหมดดำเนินไปอย่างเร่งรีบ รวบรัด และขาดการมีส่วนร่วมของประชาชนในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบ องค์กรพัฒนาเอกชนไทยและนานาชาติจึงร่วมกันเรียกร้องให้รัฐบาลไทยยุติโครงการ สร้างเขื่อนสาละวิน โดยในวันนี้ (๒๘ ก.พ.)  ประชาชนใน ๑๙ เมืองใหญ่ทั่วโลกร่วมคัดค้านเขื่อนสาละวิน โดย ๙ เมืองใหญ่มีการประท้วงหน้าสถานทูตไทยและ ๑๐ เมืองมีกิจกรรมรณรงค์ นอกจากนี้ องค์กรไทยและนานาชาติ  ๒๓๒ องค์กรและประชาชนกว่า ๑,๕๐๐ คนยังได้ร่วมลงชื่อในจดหมายถึงนายกรัฐมนตรีของประเทศไทยเพื่อเรียกร้อง ให้ยุติโครงการนี้

สำหรับกิจกรรมในประเทศไทยเริ่มตั้งแต่เวลา ๑๐.๓๐ น. กป.อพช เหนือ และเครือข่ายปกป้องแม่น้ำสาละวิน ได้จัดแถลงข่าว ณ สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ โดยพ่อหลวงนุ ชำนาญคีรีไพร ผู้แทนชาวบ้าน ได้กล่าวว่า ที่ผ่านมา กฟผ. ลงมาสำรวจทุกวันแต่ไม่เคยให้ข้อมูล ส่วนนางเตือนใจ ดีเทศน์ สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติกล่าวว่า กระทรวงพลังงานไม่ควรเป็นเหยื่อของ กฟผ. และควรเร่งดำเนินการเปิดเผยข้อมูลแก่สาธารณะและผู้ได้รับผลกระทบโดยด่วนที่สุด มิฉะนั้น รัฐบาลชุดนี้ก็จะไม่แตกต่างจากรัฐบาลที่ผ่านมา นอกจากนี้ นางสาวสายรุ้ง ทองปลอน สหพันธ์องค์กรผู้บริโภค กล่าวว่า ที่ผ่านมา กฟผ. มักพยากรณ์ความต้องการไฟฟ้าเกินจริง ทำให้ต้องสร้างโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่และผลัดภาระต้นทุนให้กับผู้บริโภคผ่านค่าเอฟที 

ทางด้านตัวแทนจากประเทศพม่า นางสาวเอพริว โม นักสิทธิมนุษยชนจากรัฐคะยาระบุว่า โครงการเขื่อนสาละวินในพม่าจะทำให้ชาวบ้านในรัฐคะยาอย่างน้อย ๓๐,๐๐๐ คนไร้ที่อยู่อาศัย นางสาวจ๋ามตอง นักสิทธิมนุษยชนจากรัฐฉานกล่าวว่า ตราบใดที่ยังไม่มีความเปลี่ยนแปลงทางการเมืองไปสู่ประชาธิปไตย ในประเทศพม่าและชาวบ้านยังไม่มีสิทธิพื้นฐาน ในการร่วมกันตัดสินใจก็น่าจะระงับโครงการนี้และรัฐบาลไทยไม่ควรร่วมมือกับเผด็จการทหาร

เวลา ๑๑.๓๐ น. ผู้แทนชาวบ้านได้ยื่นจดหมายเปิดผนึกแก่นางสุนีย์ ไชยรส และนายวสันต์ พานิช กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ  และหลังจากนั้นเวลา ๑๓.๓๐ น. ได้ยื่นจดหมายถึงนายกรัฐมนตรี ผ่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ณ กระทรวงพลังงาน โดยชาวบ้านไทยเชื้อสายกะเหรี่ยงจากชุมชนลุ่มน้ำสาละวินจำนวนกว่า ๓๐ คนได้ยื่นข้อเรียกร้องต่อท่านรัฐมนตรีกระทรวงพลังงานทั้งหมด ๔ ข้อ ประกอบด้วย หนึ่ง เปิดเผยข้อมูลโครงการและผลกระทบต่อชาวบ้านและสาธารณะ สอง ให้ชาวบ้านได้มีส่วนร่วมในกระบวนการตัดสินใจ สาม การศึกษาผลกระทบของโครงการต้องเป็นไปอย่างมีส่วนร่วมและต้องรวมความรู้ท้องถิ่นเข้าไว้ในการศึกษาด้วย และสี่ ขอให้ยุติโครงการเขื่อนสาละวินทันทีจนกว่าหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะปฏิบัติตามข้อเรียกร้องทั้งสามข้อข้างต้นอย่างสมบูรณ์

หลังจากรับฟังข้อเรียกร้อง นายปิยะสวัสดิ์ อมรนันท์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ได้กล่าวต่อชาวบ้านว่า “ชาวบ้านให้สบายใจว่า รัฐบาลชุดนี้ไม่มีนโยบายสร้างเขื่อนสาละวินหรือเขื่อนที่อยู่ในประเทศพม่า แม้ว่า กฟผ. จะยังคงเดินหน้าทำการศึกษา แต่ก็ไม่ได้หมายความว่า โครงการจะถูกก่อสร้างโดยอัตโนมัติ”

สำหรับกิจกรรมในต่างประเทศทั้ง ๑๙  แห่ง  จำนวน ๑๐ แห่งจะมีกิจกรรรมประท้วงหน้าสถานทูตหรือสถานกงสุลไทย  ประกอบด้วย วอชิงตัน ดีซี นิวยอร์ค ปารีส ซิดนีย์ เดลี แวนคูเวอร์ เอสเซน (เยอรมันนี) โอคแลนด์ (นิวซีแลนด์) จาการ์ตา มะนิลา และอีก ๙ แห่ง จะมีกิจกรรมรณรงค์ในรูปแบบต่าง ๆ ในเมืองของตนเอง ประกอบด้วย กรุงเทพฯ ลาว ฮานอย โตเกียว ลอนดอน ออตตาวา บอสตัน เมลเบอร์น และริมแม่น้ำสาละวิน

ในการร่วมรณรงค์ครั้งนี้ นายเท็ดดี้ บุรี รัฐมนตรีพลัดถิ่นจากพรรคเอ็นแอลดีของพม่า ผู้ลี้ภัยไปออสเตรเลียกล่าวจากเมืองเมลเบิร์นว่า “การพัฒนาโครงการเขื่อนจะทำให้เกิดการเข่นฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ กลุ่มชาติพันธุ์ต่าง ๆ ที่อาศัยอยู่บริเวณลุ่มน้ำสาละวิน รวมถึงสัตว์ป่า สิ่งแวดล้อมที่สมบูรณ์ และเปราะบางจะถูกทำลายลงอย่างราบคาบ”

นอกจากนี้ องค์กรภาคประชาสังคมทั่วโลก ๒๓๒ องค์กร แบ่งเป็นองค์กรไทย ๑๒๔ องค์กร องค์กรพม่า ๕๖ องค์กร และองค์กรนานาชาติ ๕๒ องค์กร รวมทั้งประชาชนจากทั่วโลกกว่า ๑,๕๐๐ คนได้ร่วมลงชื่อในจดหมายถึงนายกรัฐมนตรีของประเทศไทยเพื่อเรียกร้องให้ยุติโครงการนี้  องค์กรภาคประชาสังคมไทยที่ร่วมลงชื่อในครั้งนี้มาจากหลากหลายสาขาและทุกภูมิภาค อาทิเช่น มูลนิธิสืบนาคะเสถียร  มูลนิธิเด็ก มูลนิธิผู้หญิง มูลนิธิฟื้นฟูชีวิตและธรรมชาติ คณะกรรมการคาทอลิคเพื่อความยุติธรรมและสันติ มูลนิธิเมตตาธรรมรักษ์ โครงการจัดการทรัพยากรชายฝั่งภาคใต้ เป็นต้น

 

เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง