"เทิดภูมิ"จวกหุ่นเชิด!.เมินเสียงคนอีสาน ร่วมมือลาวผุดเขื่อนกั้นนำโขง
“เทิดภูมิ ใจดี” จวกหุ่นเชิด!.กระสันร่วมมือลาวสร้างเขื่อนกั้นแม่น้ำโขงโดยไม่สนใจผลกระทบกับคนอีสาน ลั่นถึงเวลาภาคประชาชนมีส่วนร่วมเปลี่ยนแปลงการเมืองในประเทศ ชู 75 วันพันธมิตรฯ สร้างปรากฎการณ์ให้ประชาชนตื่นตัว
คลิกที่นี่ เพื่อฟัง นายเทิดภูมิ ใจดี ปราศรัย
วันนี้( 7 ส.ค.) เวลา 00.30 น.นายเทิดภูมิ ใจดี อดีตผู้นำแรงงาน ขึ้นเวทีปราศรัยว่า ไม่มียุคใดที่การเมืองไทยเสื่อมเท่ากับยุคนี้อีกแล้ว ทั้งนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรี รวมถึงประธานสภาผู้แทนราษฏร ภาวะความเป็นผู้นำไม่มี ถึงแม้จะมีการปรับเปลี่ยนตำแหน่งสักกี่หน หวังลดกระแสความกดดัน ก็ไม่ทำให้สถานการณ์ดีขึ้น ประชาชนเริ่มรู้สึกเบื่อหน่าย ไม่สนใจกับการเมือง เป็นเหตุการเมืองภาคประชาชนอ่อนแอ นักการเมืองฉวยโอกาสโกงกินบ้านเมือง
ดังนั้น 75 วันในการชุมนุมของพันธมิตรฯ เกิดเป็นปรากฎการณ์สร้างความตื่นตัวให้กับภาคประชาชน การเปลี่ยนแปลงทางการเมืองในแต่ละครั้ง ภาคประชาชนถือเป็นส่วนสำคัญ ในแต่ประเทศที่มีประวัติศาสตร์การเปลี่ยนแปลงทางการเมืองระบุชัดเจนว่า ประชาชนมีส่วนร่วมในการเปลี่ยนแปลง วันนี้ถึงเวลาที่ภาคประชาชนต้องตื่นตัว ไม่มีใครกล้าลุกขึ้นมาสกัดกั้นภาคประชาชนได้ ยุคสมัยของการเปลี่ยนแปลงมาถึงแล้ว
“เวลานี้การเมืองแบ่งออกเป็นสองขั้วอย่างชัดเจน คือ ถูกกับผิด และก็ดีกับชั่ว ใครจะเลือกยืนอยู่ข้างใด ก็ให้ออกตัวเลือกกันไปข้างนึง ถ้าไม่มีการเคลื่อนไหวก็จะไม่มีการเปลี่ยนแปลง สิ่งใหม่จะแทนสิ่งเก่าไม่ได้ พันธมิตรฯ ได้สะสมคุณภาพมาจนถึงวันนี้ ก็เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลง การเมืองต้องเดินไปสู่สิ่งที่ถูกต้อง”อดีตผู้นำแรงงานกล่าว
นอกจากนี้ นายเทิดภูมิ ยังกล่าวกรณีที่รัฐบาลให้ความสนใจเรื่องการสร้างเขื่อนบ้านกุ่ม ที่บริเวณ อ.โขงเจียม จ.อุบลราชธานี ตรงกับแขวงจำปาสักของลาว โดยปราศจากการรับรู้ของสาธารณชนไทยและลาวที่อาศัยอยู่ริมสองฝั่งโขง ที่สำคัญโครงการ เขื่อนบ้านกุ่ม ที่รัฐบาลใช้ชื่อว่าเป็นเพียงฝายกั้นน้ำ แท้จริงแล้ว คือ โครงการสร้างเขื่อนขนาดกำลังผลิต 1,800 เมกะวัตต์ มูลค่าการลงทุน 9 หมื่นล้านบาท ถูกเสนอคู่กับ เขื่อนปากชม (หรือเขื่อนผามองในอดีต) มีกำลังผลิต 1,100 เมกะวัตต์ มูลค่า 5 หมื่นล้านบาท เขื่อนขนาดใหญ่ทั้งสองตัวนี้จะกั้นแม่น้ำโขงสายหลัก รวมกำลังผลิตของสองเขื่อน 2,900 เมกะวัตต์ มีมูลค่าสูงถึง 1.4 แสนล้านบาท
รัฐบาลไทยใช้โครงการเขื่อนเป็นเงื่อนไขผูกพันความสัมพันธ์กับประเทศลาว อย่างไรก็ตาม ในขณะที่ไทยเล่นบท ผู้กระหายไฟฟ้าและส่งเสริมให้ลาวรับบทเป็นแบตเตอรี่ของภูมิภาค ได้ละเลยการพิจารณาประเด็นสำคัญ ๆ หลายประการ รวมทั้งคำถามใหญ่ที่ว่า เขื่อนขนาดมหึมาทั้งสองนี้ จะก่อให้เกิดผลเสียหายต่อระบบนิเวศ พันธุ์ปลา และชีวิตของประชาชนทั้งสองประเทศเพียงใด ราคาลงทุนมหาศาลที่ต้องจ่าย ทรัพยากรสิ่งแวดล้อมที่ต้องสูญสิ้นไป จะคุ้มค่าสมราคาคุยจริงหรือไม่