ไทยเล็งถก 4 ชาติกก.ลุ่มแม่น้ำโขง-บีบจีนเปิดเขื่อน

fas fa-pencil-alt
กรุงเทพธุรกิจ
fas fa-calendar
23 กุมภาพันธ์ 2553

ไทยเตรียมถกคณะกรรมาธิการลุ่มแม่น้ำโขง 5 ชาติ ต้นเดือนมี.ค. หามาตรการบีบจีนเปิดเขื่อนต้นแม่น้ำโขง ด้านกรมทรัพยากรน้ำบาดาลเตรียม 1.5 แสนบ่อรับมือภัยแล้ง คาดครอบคลุม 55 จังหวัด ขณะกรมอุตุฯ ชี้ภาคเหนือเผชิญร้อน คาดอุณหภูมิทะลุเกิน 42 องศาเซลเซียสในบางวัน

สภาพความแห้งแล้งของแม่น้ำโขงที่เกิดขึ้นในช่วงเดือนก.พ. ทำให้หลายฝ่ายพุ่งประเด็นไปที่การกักเก็บน้ำของเขื่อนในประเทศจีน โดยนายศักดิ์สิทธิ์ ตรีเดช ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) กล่าวว่า จะนำเอากรณีที่ประเทศจีนกักเก็บน้ำในเขื่อนกั้นแม่น้ำโขงเอาไว้ เพื่อผลิต กระแสไฟฟ้า ทำให้แม่น้ำโขงมีสภาพแห้งขอด จนไทยและประเทศเพื่อนบ้านเดือดร้อน เข้าหารือในที่ประชุมคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง (เอ็มอาร์ซี)

นายศักดิ์สิทธิ์ กล่าวว่า สมาชิก 5 ประเทศ ประกอบด้วย พม่า ไทย ลาว กัมพูชา และเวียดนาม จะจัดประชุมในช่วงต้นเดือน มี.ค.นี้ จากนั้นคณะกรรมาธิการจะขอความร่วมมือประเทศจีน ในการบริหารจัดการแม่น้ำโขง เพราะจีนไม่ได้เป็นสมาชิกของเอ็มอาร์ซี

"ปัญหาคือประเทศจีนไม่ได้เป็นสมาชิกของคณะกรรมาธิการจึงไม่ค่อยให้ความร่วมมือในด้านต่างๆ ดังนั้นจะมีมาตรการอย่างไร ก็ต้องรอผลสรุปจากที่ประชุม ส่วนมาตรการช่วยเหลือประชาชนในพื้นที่ที่ได้รับความเดือดร้อนนั้น ทส.จะทำไปตามขอบเขตอำนาจหน้าที่คือ ให้กรมทรัพยากรน้ำ และกรมทรัพยากรน้ำบาดาลเข้าไปเร่งแก้ไขปัญหาให้ประชาชน"

ด้านนายอนันต์ เกตุเอม รองอธิบดีกรมทรัพยากรน้ำบาดาล แถลงถึงการเตรียมรับมือภัยแล้งปี 2553 ของกรมน้ำบาดาลว่า ศูนย์ปฏิบัติการและติดตามสถานการณ์ด้านน้ำบาดาล กรมทรัพยากรน้ำบาดาล ได้คาดการณ์ว่าประเทศไทยจะประสบปัญหาภัยแล้งไม่น้อยกว่า 55 จังหวัด 415 อำเภอ 2,337 ตำบล และกระทรวงมหาดไทย ได้รายงานพื้นที่ประสบภัยแล้งที่ได้ประกาศเป็นพื้นที่ภัยพิบัติฉุกเฉิน (ภัยแล้ง) แล้ว 14 จังหวัด

ขณะนี้กรมน้ำบาดาลได้จัดเตรียมแหล่งน้ำบาดาลทั่วประเทศให้พร้อมใช้งานในฤดูแล้ง ประกอบด้วย บ่อบาดาลกว่า 1.5 แสนแห่ง ระบบประปาบาดาลกว่า 3.9 หมื่นแห่ง บ่อบาดาลที่ติดตั้งเครื่องสูบไฟฟ้า 7.2 หมื่นแห่ง จุดจ่ายน้ำถาวร 100 แห่ง ระบบปรับปรุงคุณภาพน้ำบาดาลมาตรฐานองค์การอนามัยโลก 1,770 แห่ง โครงการน้ำดื่มสะอาดให้กับโรงเรียน 490 แห่ง และโครงการจัดหาน้ำสะอาดให้กับหมู่บ้านภัยแล้ง 360 แห่ง ซึ่งกรมทรัพยากรน้ำบาดาลจะสามารถเข้าไปในพื้นที่ประสบปัญหาภัยแล้งได้ภายใน 24 ชั่วโมง

ส่วนการแก้ไขปัญหาภัยแล้งตามโครงการประจำปี 2553 กรมทรัพยากรน้ำบาดาลได้เร่งรัดดำเนินโครงการน้ำดื่มสะอาดให้กับโรงเรียนทั่วประเทศ 320 แห่ง งบประมาณ 392.6 ล้านบาท และตามแผนงานโครงการไทยเข้มแข็งอีก 396 แห่ง งบประมาณ 494.8 ล้านบาท นอกจากนี้ยังมีโครงการจัดหาน้ำสะอาดให้กับหมู่บ้านภัยแล้ง 673 งบประมาณ 167.5 ล้านบาท ตามแผนงานโครงการไทยเข้มแข็งอีก 167 แห่ง งบประมาณ 79 ล้านบาท

นายสมชาย ใบม่วง รองอธิบดีกรมอุตุนิยมวิทยา กล่าวว่า การคาดหมายลักษณะอากาศในช่วงฤดูร้อนปีนี้ อิทธิพลทางอ้อมจากปรากฏการณ์เอลนีโญระดับปานกลาง จะส่งผลกระทบกับสภาพอากาศแห้งแล้งในช่วงฤดูร้อนของไทยบ้าง แต่สถานการณ์จะไม่วิกฤติรุนแรงเท่ากับปี 2540-2541 อุณหภูมิร้อนสูงสุดเฉลี่ยในฤดูร้อนระหว่างเดือน เม.ย.-พ.ค.นี้จะสูงกว่าค่าปกติเฉลี่ย 0.5-1 องศาเซลเซียส และสูงกว่าปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะบางพื้นที่ของจังหวัดในภาคอีสาน

ภาคเหนือ คาดว่าอุณหภูมิจะทะลุเกิน 42 องศาเซลเซียสในบางวันได้ เพราะตามสถิติทุกๆ ปีก็มีอุณหภูมิสูงในระดับนี้อยู่แล้ว อย่างเดือนเม.ย.52 อ.เมือง จ.ลำปาง มีอุณหภูมิสูงสุดถึง 42.3 ส่วนพื้นที่ กทม. 39.4 องศาเซลเซียส

นายเกษมสันต์ จิณณวาโส อธิบดีกรมทรัพยากรน้ำ กล่าวว่า ได้ประเมินสถานการณ์ภัยแล้งปี 2553 ในเบื้องต้นจะมีพื้นที่ที่เสี่ยงภัยแล้ง 21 จังหวัด โดยมีพื้นที่ที่เสี่ยงภัยแล้งมาก 3 จังหวัดคือ แม่ฮ่องสอน อุทัยธานี และสระแก้ว ส่วนพื้นที่ที่เสี่ยงภัยแล้งปานกลาง 18 จังหวัด ได้แก่ ลำพูน พะเยา เชียงราย แพร่ สุโขทัย เลย หนองคาย นครพนม อำนาจเจริญ บุรีรัมย์ ยโสธร นครราชสีมา สุรินทร์ ศรีสะเกษ มหาสารคาม จันทบุรี ปราจีนบุรี และราชบุรี ทั้งนี้สภาวะภัยแล้งจะรุนแรงหรือไม่ ต้องติดตามฝนจนถึงเดือน เม.ย.นี้ หากมีฝนทิ้งช่วงนานจะเกิดภัยแล้งรุนแรงได้

 

เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง