ทุบเขื่อนเพื่อชาติ
เดอะเนชั่นสุดสัปดาห์
รายงานพิเศษ / ปากมูล / บายไลน์ - ชูวัส ฤกษ์ศิริสุข
ณ หัวเขื่อนปากมูล อ.โขงเจียม จ.อุบลราชธานี เป็นที่ตั้งของหมู่บ้านแม่มูลมั่นยืน หมู่บ้านที่ไม่เคยได้รับการเหลียว แลจากรัฐ ไม่มีเอกสารทางราชการใดๆ รับรอง และกว่า 13 เดือนที่หมู่บ้านแห่งนี้เกิดขึ้น ณ ที่ตั้งอันน่าจะเป็นสวนหย่อม ที่มีไว้ชมวิวทิวทัศน์ของเขื่อนปากมูล ไม่ต่างจากเขื่อนอื่นๆ ในประเทศไทย หมู่บ้านแห่งนี้ก็แทบจะเรียกได้ว่าได้รับความ สนใจน้อยมากจากนักวิชาการและสื่อมวลชนส่วนใหญ่
บางทีอาจจะจำกัดความได้ง่ายขึ้น หากจะเรียกการรวมกันอยู่เป็นหมู่บ้านนี้ว่า "ม็อบ" เขื่อนปากมูล แต่ย่อมผิดและ ไกลจากความจริงเมื่อไปเห็นด้วยตาและสัมผัสด้วยใจ
20-21 เมษายน 2543 นักวิชาการชั้นนำทั่วประเทศ จึงได้ไปรวมกันอยู่ ณ ที่นั้น เพื่อพูดคุยกันถึงเรื่องของคนจน และความจน และในจำนวนนักวิชาการเหล่านั้นเราขอนำผลึกความคิดผ่านถ้อยแถลงของ ดร.เกษียร เตชะพีระ ที่เชื่อมร้อย ความสัมพันธ์ในความเป็นคนจน-ชาติ เขื่อน-การบ่อนทำลายเศรษฐกิจพอเพียง เพื่อนำไปสู่ทางเลือกเพื่อลูกหลานของชาติ ในวันข้างหน้า ท่ามกลางฉากหลังเป็นสิ่งก่อสร้างใหญ่โตและยาวเหยียดกั้นขวางลำน้ำมูลอันเป็นชีวิตของชาวบ้านลุ่มน้ำ...
""ผมอยากจะเล่าเรื่องคนจนโดยผ่านการเล่าเรื่องน้ำ โดยเฉพาะแม่น้ำมูลที่เห็นอยู่นี้ ในกรอบของความคิดเรื่อง เศรษฐกิจพอเพียง เศรษฐกิจการค้า ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ทรงมีพระราชดำรัสในวันเฉลิมพระชนมพรรษาเมื่อปี 2539 โดยจะพูดเรื่องคนจนเป็น 3 ตอน คือตอนที่น้ำมูลก่อนมีเขื่อน ตอนที่สองคือ น้ำมูลหลังมีเขื่อนแล้ว และน้ำมูลต่อจาก นี้หากไม่ทุบเขื่อน
""ผมคิดว่าน้ำมูลก่อนมีเขื่อนปากมูล เป็นทรัพยากรของเศรษฐกิจพอเพียง คือ มีน้ำ มีปลา ซึ่งหมายถึงมีความชอุ่ม มีพืชผักนาไร่ มีสิ่งเหล่านี้ก็มีฐานให้สร้างชีวิต มีครอบครัว มีหมู่บ้าน มีชุมชน และก็มีความรู้เกี่ยวกับเรื่องทำอยู่ทำกิน ผมเคยอ่านรายงานว่า พ่อใหญ่บางคนของหมู่บ้านในลุ่มน้ำนี้สามารถจำชื่อปลาได้เป็นร้อยๆ ชนิด จากจำนวน 250 กว่าชนิด นี่เป็นความรู้ เป็นทุนทางสังคม ความเอื้ออารีต่อกัน การรู้จักอยู่ รู้จักการแก้ไขปัญหา เป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน ทุนทางธรรมชาติ เหล่านี้หมดไปพร้อมกับเขื่อน
""เมื่อมาดูน้ำมูลโดยที่มีเขื่อนอันเบ้อเริ่มขวางอยู่ อย่างที่เห็นตอนนี้ น้ำมูลไม่ใช่ทรัพยากรของเศรษฐกิจพอเพียง อีกต่อไป มันกลายเป็นทรัพยากรของเศรษฐกิจการค้า พร้อมกับมีเขื่อน เศรษฐกิจการค้าได้เข้ามาอิง มาชิง โดยที่ชาวบ้านแถว นี้มิได้ยินยอม มาปล้นเอาทรัพยากรจากเศรษฐกิจพอเพียงไป หรือพูดให้ถึงที่สุดก็คือ เขื่อนปากมูลนั้นบ่อนทำลายเศรษฐกิจ พอเพียงนั่นเอง
""ในกระบวนการบ่อนทำลายเศรษฐกิจพอเพียงของเขื่อนปากมูล ได้สร้างคนจนขึ้นจำนวนมาก จริงอยู่ที่มีคนจนใน ทุกประเทศ ในประเทศพัฒนาก็มี แต่จนแต่ละที่นั้น จนคนละแบบไม่เหมือนกัน จนแบบไทยๆ หรือจนแบบประเทศกำลัง พัฒนาที่ไปรับเงินกู้จากธนาคารโลกนั้น เป็นการจนแบบกระบวนท่าพิเศษ คือจนในท่ามกลางการพัฒนา ไม่ใช่อยู่ดีๆ แล้วจน หรือพูดให้ชัดๆ ก็คือ เราจนเพราะถูกพัฒนา
""การพัฒนาฟังแล้วดูดี แต่ที่เอามาใช้ในเมืองไทยมันเป็นกรรมอย่างหนึ่ง คนที่ถูกการพัฒนาไปเยี่ยมบ้าน ก็คือคน ที่โดนห่าลง ถูกพัฒนาขึ้นเมื่อไรก็สิ้นเนื้อประดาตัว ถูกพัฒนาขึ้นเมื่อไร ก็คือถูกทำลายฐานเศรษฐกิจพอเพียง ตอนนี้รู้ชื่อปลา มีประโยชน์อะไร เพราะไม่มีปลาให้จับ และที่มันน่าอนาถก็คือว่า คนที่ชี้วัด ก็จะมาในนามว่า ทำเถิด เฮ็ดเขื่อนใหญ่ๆ หลายๆ ชาติจะพัฒนา จะยิ่งใหญ่ เขื่อนก็เหมือนวัด เหมือนวิหารของประเทศไทยสมัยใหม่ สร้างเขื่อนแล้วชาติไทยจะพัฒนา คือเป็นชาตินิยมเขื่อนใหญ่
""วิธีคิดแบบนี้ก็เพราะเริ่มต้นจากที่ว่า พอเอาน้ำมูลที่เคยให้ชาวบ้านใช้จับปลา ใช้ทำอยู่ทำกินไปทำเป็นพลังงาน ไฟฟ้า ไปเข้าโรงงาน ไปผลิตสินค้าแล้วขาย ประเทศชาติจะพัฒนา รู้ได้อย่างไรว่าพัฒนา ก็วัดเอาจากสินค้าที่ผลิตมามีกี่ชิ้น แล้วกี่บาท ก็คูณเข้าไป หารเป็นกี่ดอลลาร์ เสร็จแล้วก็พบว่า
""ฉิบหาย บ้านเราโคตรรวยเลย ที่มันวัดได้ เพราะคุณวัดแบบนั้น แต่ที่ชาวบ้านฉิบหายนั้น มันวัดไม่ได้ เพราะไม่เคยวัด.
""ทั้งหมดที่ชาวบ้านเสียไป พ่อแม่ลูกอยู่ด้วยกัน มีพ่อแม่คนไหนในโลกที่อยากจะให้ลูกไปคุ้ยกองขยะที่ดอนเมือง มีพ่อคนไหนที่อยากจะทิ้งลูกทิ้งเมียไปหางานทำไกลๆ แล้วก็ไม่รู้ว่าลูกจะเป็นอย่างไร..
""พอพูดแล้วมันทำให้คนที่มีอำนาจอยู่ในรัฐบาลฟังยาก เพราะพอพูดทีไรก็จะบอกว่า ชาวบ้านปากมูลตรงนี้มีกี่คน ประเทศไทยมีตั้ง 50 ล้าน 60 ล้านคน เพราะฉะนั้น คุณเป็นคนส่วนน้อย จงเสียสละเถิดเพื่อเห็นแก่ชาติ
""เอาแผนที่ประเทศไทยมาวาด ปากมูลเล็กกว่าชาติ จงเสียสละเถิด ไปที่ลำตะคองจงเสียสละเถิดเพื่อเห็นแก่ชาติ ไปที่ราษีไศล จงเสียสละเถิดเพื่อเห็นแก่ชาติ ไปที่ไหนก็จะพูดอย่างนี้ตลอด ประทานโทษ คุณหั่นคนเหล่านี้หมดไป ผมอยากจะรู้ว่าชาติคุณอยู่ตรงไหน ชาติคุณหมายถึงใคร หรือเอาเข้าจริงๆ ชาติคุณมีไหม
""คุณไล่คนแต่ละท้องที่ออกไปแล้วนับว่าเขาไม่ใช่คนส่วนใหญ่ของชาติ มันก็พูดได้ไม่จบ พูดไปได้เรื่อยๆ แต่ประเด็นก็คือว่าที่คุณทำไปทั้งหมด มันกำลังทำลายชาติ ยิ่งทำเศรษฐกิจสินค้าให้ใหญ่ให้โต ยิ่งบ่อนทำลายเศรษฐกิจพอ เพียงลงไป ชาติไทยก็ยิ่งฉิบหายลงไปอีก
""ตัวอย่างที่เคยเกิดขึ้นเมื่อ 2-3 ปีก่อนนั้นชัดที่สุด แต่บทเรียนนั้นก็จะไม่เคยเรียน มีความจริง 3 อย่างเกี่ยวกับเศรษฐกิจ สินค้าที่ผมคิดว่าเราควรจะตระหนัก หนึ่ง คือ เศรษฐกิจการค้าบริโภคทรัพยากรสิ้นเปลืองมาก สอง เพราะมันเปลือง ทรัพยากรมหาศาลมันจึงบ่อนทำลายทรัพยากรของเศรษฐกิจพอเพียงอยู่แล้วในตัว และสาม เมื่อมันบริโภคมากอย่างนั้น มันบ่อนทำลายชาวบ้านที่อยู่กันอย่างพอเพียงอย่างนี้แล้ว เศรษฐกิจสินค้าอยู่ดีๆ มันยังจนเองอีก เพราะคนมันโลภ มันอยู่เฉย มันก็เจ๊งเหมือน 2-3 ปีก่อน
""เพราะเศรษฐกิจการค้ามีลักษณะเหล่านี้ จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องคุมเศรษฐกิจการค้า จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่ภาคคนจน ภาคเศรษฐกิจพอเพียง จะต้องมีส่วนในอำนาจสาธารณะ อำนาจการเมือง เพื่อไปดึงเศรษฐกิจการค้าไว้ ไม่ให้มันไปกำเริบร่าน พล่าน และทำลายชาติลง ประเด็นมันไม่ใช่ว่าจะลดอำนาจภาครัฐแล้วเอาไปให้ภาคประชาชน ผมว่าประเด็นมันยิ่งกว่านั้นอีก
""โดยตัวภาคธุรกิจเอกชน ภาคเศรษฐกิจการค้านั้นมันจะทำลายเศรษฐกิจพอเพียง เพราะโดยตัวมันเองมีวิกฤติอยู่ใน ตัวมันเอง ทางเดียวที่จะหยุดมันตรงนั้นได้ ภาคคนจนจะต้องมีอำนาจการเมือง และมีอำนาจเข้าไปหยุดมันด้วย อำนาจตรงนั้น เป็นอำนาจสาธารณะ เป็นอำนาจการเมือง ปฏิเสธตรงนั้นไม่ได้ ทุกวันนี้ไม่มีใครจะหยุดความอยากกำไร ความโลภตรงนั้น และเพราะไม่มีใครจะหยุด ระบบที่เป็นอยู่ทุกวันนี้ก็จะกุมทรัพยากร ก็จะไล่คนที่เคยอยู่อย่างพอเพียงออกจากทรัพยากรของเขา และในที่สุด ก็จะนำไปสู่วิกฤติอีกไม่รู้จบ
""สินค้าที่ผลิตขึ้นมาจากเศรษฐกิจการค้าเหล่านั้นเอามาทำไม ก็เอามาขาย พอถึงจุดนี้ประเด็นที่คุยมาทั้งหมด ดูเหมือน ปัญหามันจะรวมศูนย์ไปอยู่ที่รัฐบาลหรือภาครัฐ อันนี้ผมเห็นด้วย ผมคิดว่าโครงสร้างอันหนึ่งที่เป็นปัญหาต่อคนจนในเมือง ไทยมากคือภาครัฐที่ทำการพัฒนาแบบรวมศูนย์
""ขณะที่เราพูดถึงภาครัฐ มันมักจะมีการพูดถึงภาคอื่นควบคู่กันมาใน 4-5 ปีมานี้ คือภาคประชาสังคม และก็พูดราว กับว่าภาคประชาสังคมคือคำตอบ คือความหวังที่จะเป็นกุญแจสารพัดนึก เป็นโอสถสารพัดนึก กินเข้าไปแล้วจะหายป่วย คนจนจะหายจน ผมคิดว่า ไม่แน่นะครับ และผมก็คิดด้วยว่า ไม่เพียงแต่รัฐเท่านั้นที่เป็นปัญหาของคนจน ประชาสังคมก็เป็น ปัญหาของคนจนด้วย
""ประชาสังคมเป็นปัญหาของคนจนอย่างไร พูดให้ถึงที่สุด ประชาสังคมที่พูดๆ และใช้กันอยู่ในเมืองไทย เราหมาย ถึงคนกรุง คือคนชั้นกลางที่อยู่ในกรุง คนเหล่านี้มีสองอย่างที่คนไทยไม่มี คือ หนึ่ง อำนาจที่จะซื้อ สอง เสรีภาพตามรัฐธรรม นูญ ซึ่งมีมาตราหนึ่งบอกว่าเมืองไทยจะต้องดำเนินเศรษฐกิจแบบเสรี โดยมาตรานี้คนชั้นกลางในกรุงจึงไม่เพียงแต่จะมีเงิน มีอำนาจซื้อ แต่ยังมีเสรีภาพที่จะบริโภคด้วย
""ภายใต้ระบบแบบนี้ คนชั้นกลางถ้าไม่คิดให้ดี เอาเข้าจริงก็เหมือนกับยักษ์ที่เดินกร่างเข้ามาสู่พื้นที่เศรษฐกิจ พอเพียงต่างๆ ในชนบท มือซ้ายกำธนบัตร มือขวากำเสรีภาพที่จะบริโภค แล้วก็ซื้อ ซื้อ ซื้อ กิน กิน กิน แล้วเมืองไทยก็หมด ทรัพยากร
""ผมคิดว่ามีทรัพยากรบางอย่าง ได้แก่ ลุ่มน้ำ ที่ดิน ป่าไม้ สำคัญกับคนจน และสำคัญสำหรับชาติไทยของเราเกิน กว่าที่จะปล่อยให้ทรัพยากรเหล่านี้กลายเป็นสินค้าที่ใครมีเงินก็ซื้อได้โดยเสรี ใครมีเงินก็ถือครองที่ดินได้โดยไม่จำกัด ร้อยไร่ พันไร่ หมื่นไร่ เราปล่อยให้เป็นอย่างนี้ไม่ได้
""ต้องจำกัดอำนาจที่จะซื้อ เสรีภาพที่จะบริโภคของคนชั้นกลางและคนมีอำนาจเหล่านั้นในสังคมไทยต่อทรัพยากร บางอย่างที่สำคัญต่อคนจน อันนี้ไม่ใช่เพื่อผลประโยชน์ต่อคนจนโดยแคบ แต่เพื่อชาติไทยโดยรวม มีของบางอย่างที่สำคัญต่อ ชาติไทยเราเสียจนกระทั่งคุณปล่อยให้ทุกคนมาซื้อไม่ได้
""ตอนนี้กำลังเตรียมจะเข็นน้ำเข้าตลาด และขายน้ำให้กับคนที่มีอำนาจซื้อและมีเสรีภาพที่จะบริโภคน้ำ ธรรมชาติ ของน้ำจะไหลจากที่สูงลงสู่ที่ต่ำ แต่น้ำที่เข้าตลาดจะไม่ไหลอย่างนั้น น้ำที่กลายเป็นสินค้าจะไหลตามอำนาจซื้อ มันจะไหล จากที่ๆ อำนาจซื้อต่ำ ไปสู่ที่ๆ มีอำนาจซื้อสูง คือไหลจากที่นี่ไปสู่ที่นั่น
""คนจนในเมืองไทยถ้าปล่อยให้มีการเก็บค่าน้ำชาวนา ที่เป็นก้าวแลกไปสู่การทำให้น้ำเป็นสินค้า คนจนจะเอื้อม ไม่ถึงน้ำ และน้ำก็ไม่เหมือนรถเบนซ์ ที่ไม่มีก็โหนรถเมล์ทนร้อนได้ แต่น้ำเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของมนุษย์ที่มนุษย์ทุกคนต้องมี มันพื้นฐานกว่าเรื่องศักดิ์ศรีด้วยซ้ำ ไม่มีน้ำเราตายแน่นอน และเงื่อนไขธานาคารเพื่อการพัฒนาเอเชีย ที่เสนอให้รัฐบาลไทย ด้วยการเอาเงินกู้มาแลกนั้น ถ้าเราปล่อยอันนี้ ฉิบหายนะครับ
""ถ้าจะหยุดมัน เขื่อนปากมูลก็เป็นสัญลักษณ์ที่ดี ไม่ใช่เฉพาะเขื่อนปากมูล เขื่อนจำนวนมากในเมืองไทยเรา คิดให้ดีมันก็คือซากศพของเศรษฐกิจการค้า มันเป็นพยานความล้มเหลวที่เดินมา 40 ปี สร้างขึ้นมาคุ้มไหม บอกจะผลิตๆ ไฟฟ้า ผลิตได้เท่าไร บอกจะแก้ปัญหาชลประทาน แล้วได้ทำจริงหรือเปล่า บอกจะเพิ่มจำนวนปลาแล้วมีไหม เปิดเขื่อนหรือทุบเขื่อน อันนี้ทิ้ง จึงสำคัญตรงนี้
""มันไม่ใช่แค่ทำให้ชาวบ้านได้มีปลาใช้ต่อ ปมมันอยู่ตรงนี้ คือชาติไทย ที่ไม่ได้มีแต่เพียงผู้มีอำนาจ แต่คือคนไทย ทั้งหมด คนชั้นกลางในเมือง คนทั้งหลายหรือพวกเราทั้งหมด ที่ร่วมเดินทางผิดมา 40 กว่าปี พร้อมจะรับไหมว่ามันผิด ถ้ารับว่า มันผิด การรื้อ หรือทุบ หรือเปิดน้ำในเขื่อนปากมูลออก มันเป็นสัญลักษณ์ก้าวแรกว่าเราจะเดินทางใหม่ ทางนี้เราเดินต่อไป ไม่ได้ เดินต่อไปชาติจะฉิบหาย และที่ฉิบหายก็คือ ลูกหลานของเราข้างหน้า
""ผมอยากเก็บเมืองไทยให้เป็นที่อยู่ที่ทำกินของลูกผมข้างหน้า และผมไม่อยากให้เมืองไทย เป็นที่ที่คนไม่มีน้ำ ขาดน้ำ อดน้ำตาย เพราะว่าเขาจน ผมคิดว่าการทุบเขื่อนมันจึงสำคัญต่อความเป็นไปทั้งหมด ไม่เฉพาะแต่คนจน""
................................
ล้อมกรอบ
พาดหัว
ดร.ชูศักดิ์ วิทยาภัค
ความยากจนที่ถูกทำให้เป็น?
เนื้อเรื่อง
""การพูดถึงความยากจนในเชิงวิชาการนั้นมีมาพร้อมๆ กับการพัฒนา หรือหลังสงครามโลกครั้งที่สองนี่เอง โดยเฉพาะอย่างยิ่งการพัฒนาในความหมายที่หมายความว่า มีความยากจนเป็นอาการอย่างหนึ่งของการด้อยพัฒนา เพราะฉะนั้น ความด้อยพัฒนาหรือความยากจนเป็นสิ่งที่แนวคิดเรื่องการพัฒนาพูดถึง และต้องการขจัดความยากจน ให้พ้นไปเพื่อให้สังคมหรือประเทศกำลังพัฒนากลายเป็นประเทศที่พัฒนาแล้ว การพูดถึงความยากจนจึงเป็นความยากจน ในลักษณะที่เราต้องไปเปรียบเทียบกับคนอื่น ซึ่งเรียกว่าความยากจนสัมพัทธ์ โดยมากเราก็จะไปเปรียบเทียบกับเส้นความ ยากจน ถ้าต่ำกว่าขีดนั้นก็ยากจน
""แนวคิดที่พยายามจะมองเรื่องนี้ ก็มีกลุ่มที่เราเรียกว่าทฤษฎีความทันสมัย และพยายามจะอธิบายความ ยากจน พยายามกำหนดนโยบายที่จะขจัดความยากจน ซึ่งก็คือการเน้นให้เกิดการพัฒนาทางเศรษฐกิจหรือการเจริญเติบโต ทางเศรษฐกิจ เมื่อเศรษฐกิจส่วนร่วมเติบโตขึ้นแล้ว ผลประโยชน์นั้นจะเกิดการแบ่งบุญ หรือค่อยกระจายสู่คนยากจน หรือคนชั้นล่าง แล้วความยากจนก็จะค่อยๆ หายไป ประเทศไทยตลอด 40 ปีที่ผ่านมา เราอยู่ภายใต้อิทธิพลของแนวคิด นี้ค่อนข้างมาก ภายใต้คำแนะนำของธนาคารโลก ไอเอ็มเอฟ และปัจจุบันนี้คือธนาคารพัฒนาแห่งเอเชีย หรือเอดีบี
""แนวคิดนี้มีอิทธิพลต่อการวางแผนพัฒนาสังคมไทยมาตลอด และการที่จะมีการเติบโตทางเศรษฐกิจได้ ก็ต้องพัฒนาอุตสาหกรรม จากการทดแทนการนำเข้า ต่อมาก็เพื่อการส่งออก การพัฒนาที่ผ่านมาจึงไปเน้นตรงนั้นซึ่งทำให้ ภาคเกษตรกรรมถูกละทิ้ง ไม่ว่าจะโดยตั้งใจหรือไม่
""พอมาถึงในยุคปัจจุบันหรือหลังสงครามเย็นเป็นต้นมา ที่เรียกว่า ยุคเสรีนิยมใหม่ ซึ่งระบบตลาดโลกเข้ามา ครอบงำ แนวคิดเรื่องเสรีนิยมใหม่มีอิทธิพลครอบงำในสังคมไทยมากกว่าเมื่อก่อนเพราะเราอยู่ภายใต้เงื่อนไขที่ถูกกำหนด โดยองค์การระหว่างประเทศองค์การต่างๆ
""หลังจากที่เศรษฐกิจเราล่มสลาย เขาก็พูดว่าสาเหตุก็มาจากการบริหารจัดการ มีการพูดเรื่อง good governance ขึ้นมา พยายามจะบอกว่าเราเดินมาถูกทางแล้ว เพียงแต่เราจัดการมันไม่ดี ทำให้เขากำหนดเงื่อนไขมากขึ้น และเราก็อยู่ในสภาวะที่ไม่สามารถต่อรองได้
""มีอุดมการณ์ของเสรีนิยมใหม่ 3 เรื่องที่จะมีผลต่อชาวบ้าน ประการแรกก็คือ การที่ระบบตลาดเสรีเชื่อมั่นว่า การแข่งขันของเอกชนเป็นสิ่งที่ดีที่สุด พวกนั้นจึงพยายามผลักดันอย่างมากที่ให้มีรัฐบาลที่มีบทบาททางเศรษฐกิจน้อยที่สุด การแปรรูปรัฐวิสาหกิจเป็นรูปธรรมอย่างหนึ่ง และจะมีตามมาเช่นการบริการทางสังคมทั้งหลาย เช่น สาธารณสุข การศึกษา ก็จะให้อยู่ในมือเอกชน ให้เอกชนมีการแข่งขันอย่างเสรี
""ประการที่สอง ระบบตลาดเสรีเชื่อว่า สินค้าและบริการหรือทรัพยากรต่างๆ นั้นมีต้นทุน เราไม่สามารถจะ ได้มันมาฟรีๆ และก็เชื่อว่าสิ่งต่างๆ เหล่านี้สามารถที่จะตีเป็นราคาได้ สามารถที่จะให้มันสามารถซื้อขายหรือถ่ายโอน ในตลาดได้ และกลไกของตลาดต้องเป็นคนจัดการเรื่องนี้ และถ้าจะทำเรื่องนี้ก็จะต้องกำหนดระบบกรรมสิทธิ์ใน ทรัพยากรขึ้นมาเป็นอันดับแรกว่าเป็นของใคร
""ดังนั้นจึงไม่ต้องแปลกใจเลยว่า เงื่อนไขเอดีบีที่มาพร้อมกับเงินกู้ โดยใช้ชื่อเพราะๆ ว่าเป็นการปรับโครงสร้าง ทางการเกษตร จึงเป็นเงื่อนไขเพื่อออกพระราชบัญญัติน้ำ เพื่อที่จะกำหนดว่า น้ำเป็นของใคร
""จะเห็นว่าในอดีตทรัพยากรที่สำคัญที่เป็นฐานการผลิตของชาวบ้านหรือเกษตรทั่วไป มันถูกทำให้มีกรรม สิทธิ์หมดแล้ว ป่าไม้ถูกกำหนดให้เป็นของรัฐตั้งแต่รัชกาลที่ 5 เป็นต้นมา ที่ดินอยู่ภายใต้กรรมสิทธิ์โดยประมวลกฎหมาย ที่ดิน เหลือแต่น้ำที่ยังไม่มีกฎหมายที่บอกว่าเป็นของใคร และเงื่อนไขเอดีบีก็จะทำตรงนี้ ซึ่งแน่นอนว่า ร่างพระราชบัญญัติน้ำ 2-3 ร่าง ที่เห็นอยู่ ทุกร่างกำหนดว่าน้ำเป็นของรัฐ แต่ผมเชื่อว่ารัฐจะไม่ทำเอง อาจจะให้เอกชนเข้ามาเป็นคนสัมปทานจัดการ และกลไกที่เขาจะใช้ก็คือการกำหนดราคาค่าน้ำ น้ำจะต้องมีราคา
""ที่ผ่านมาที่เรามีการสร้างเขื่อน สร้างระบบชลประทาน และเอาน้ำให้เกษตรกร องค์การระหว่างประเทศ ไม่ว่าจะเป็นองค์กรไหนก็บอกว่า นี่เป็นการแข่งขันไม่เสรี เพราะรัฐบาลไทยไปสนับสนุนค่าน้ำ ทำให้สินค้าเกษตรของเรา มีต้นทุนต่ำกว่าประเทศอื่น และเป็นการแข่งขันที่ไม่ยุติธรรม เงื่อนไขเอดีบีจึงต้องการกำจัดเรื่องนี้ออกไป ผมจึงแน่ใจว่า ถ้าเรายังต้องการกู้เงินเอดีบีก้อนนี้ นโยบายกำหนดค่าน้ำจะต้องเกิดขึ้นแน่นอน
""ประการที่สาม ระบบตลาดเสรีชอบที่จะให้ระบบกรรมสิทธิ์แบบเอกชนเป็นอันดับแรก เพราะมันง่ายที่จะ ซื้อขายถ่านโอนได้ และเชื่อว่าการที่ทรัพยากรเป็นของบุคคล จะทำให้เขามีแรงจูงใจในการผลิต ทำให้มีประสิทธิภาพการ ผลิตสูงขึ้น
""ในสังคมไทยมีโครงสร้างทางเศรษฐกิจการเมือง ระบบความสัมพันธ์เชิงอำนาจที่ไม่เท่าเทียมกันอย่างยิ่ง คำถามก็คือว่าถ้าเราเอาสิ่งนี้มาให้สังคมไทยใช้จะเกิดอะไรขึ้น ข้อสมมติฐานที่เรียกว่าตลาดเสรีจะเสรีจริงหรือไม่ มันอาจ จะถูกการบิดเบือน ค่าน้ำอาจจะไม่เป็นไปตามระบบราคา น้ำในแม่น้ำมูลอาจจะถูกกำหนดราคาโดยบริษัทที่ได้รับสัมปทาน และจุดนี้ก็จะเป็นจุดที่อันตรายอย่างยิ่ง
""เมื่อเป็นเช่นนี้ สิ่งที่จะเกิดขึ้นก็คือ กรรมสิทธิ์ในรูปอื่น ไม่ว่าจะเป็นการจัดการทรัพยากรในรูปของเหมืองฝาย ในเรื่องสิทธิชุมชน มันจะถูกเปลี่ยนไปเป็นการจัดการภายใต้ระบบกรรมสิทธิ์แบบเอกชน ซึ่งคนหรือชุมชนที่เคยมีสิทธิมี ส่วนร่วมในทรัพยากรเหล่านี้ก็ต้องสูญเสียสิทธิเหล่านี้
""นอกจากนี้ ถ้าดูในเงื่อนๆ ไขของเงินกู้ในองค์กรเหล่านี้ เขาจะกำหนดมาตรการเพื่อให้แน่ใจว่า มีน้ำซึ่ง กำหนดราคาค่าน้ำไหลลงมา ก็จะต้องมีมาตรการกำหนดเรื่องของการตั้งถิ่นฐานในป่า เรื่องการรักษาต้นน้ำ คนจำนวนหนึ่ง จะต้องถูกบีบให้ออกจากที่ๆ เขาอาศัยอยู่ โดยเฉพาะในภาคเหนือ
""การที่เขาเน้นเรื่องของปัจเจก มันจึงมาจากคำอธิบายแต่แรกแล้ว เมื่อเราพูดถึงความยากจน เขาจะคิดว่า มันเป็นความบกพร่องของแต่ละบุคคล เขาไม่พูดถึงเรื่องโครงสร้างภายใต้แนวคิดทฤษฎีการเติบโตทางเศรษฐกิจ เขาบอกว่า ความยากจนเป็นปัญหาที่คนขี้เกียจเป็นปัญหาปัจเจกบุคคล ซึ่งหมายความว่าถ้าคุณขยัน คุณจะร่ำรวย เป็นปัญหาของ ความโง่ ของการไร้การศึกษา เป็นปัญหาของความไม่รู้ ซึ่งมันเป็นคำอธิบายที่ผิด แล้วก็มีผลต่อมาในการกำหนด แนวทางการพัฒนาที่เน้นว่าต้องเติบโตทางเศรษฐกิจแล้วความยากจนจะหายไปเอง ดังนั้น การขจัดจึงต้องขจัดที่ปัจเจก โดยไม่มองว่า
""ความยากจนที่แท้แล้วมันเป็นปัญหาโครงสร้าง หรือก็คือความยากจนมันถูกทำให้เป็นนั่นเอง""