ทุ่ม 8 แสนล้าน ลุยแผนบริหารน้ำ ผุด 1,000 โครงการชลประทาน

fas fa-pencil-alt
fas fa-calendar
6 กรกฎาคม 2550

กรมชลประทานเตรียมเพิ่มพื้นที่ชลประทาน ใช้งบประมาณ 8 แสนล้าน ลุย 1,000 โครงการ ทั้งพัฒนาแหล่งในประเทศ และผันน้ำจากประเทศเพื่อนบ้าน ให้ความสำคัญพื้นที่ภาคอีสานเป็นอันดับแรก

นายสามารถ โชคคณาพิทักษ์ อธิบดีกรมชลประทาน กระทรวงเกษตรและสหกรณืการเกษตร เปิดเผยถึงแผนพัฒนาเพิ่มพื้นที่ชลประทานให้เต็มศักยภาพ 60.29 ล้านไร่ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ว่า เป็นการดำเนินงานตามนโยบายของรัฐบาลและแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 10 ที่ต้องการให้มีการแก้ไขปัญหาภาคการเกษตรเพื่อสร้างความมั่นคงแก่อาชีพเกษตรกรรมของประเทศ โดยการพัฒนาการชลประทานให้เต็มศักยภาพเพื่อให้มีปริมาณน้ำใช้อย่างพอเพียงและเกิดประโยชน์สูงสุดในทุกๆด้าน รวมทั้งให้ได้ผลผลิตด้านการเกษตรและรายได้ของเกษตรกรเพิ่มมากขึ้น ซึ่งจะมีระยะเวลาดำเนินการ 15 ปีใช้งบประมาณกว่า 895,000 ล้านบาท

ทั้งนี้ในการเพิ่มพื้นที่ชลประทานให้ได้ตามเป้าหมายนั้น กรมชลประทานได้กำหนดโครงการที่สำคัญรองรับ 2 โครงการคือ 1.โครงการพัฒนาแหล่งน้ำเพื่อเพิ่มศักยภาพในการควบคุมปริมาณน้ำภายในลุ่มน้ำ ซึ่งจะต้องดำเนินโครงการพัฒนาแหล่งน้ำขนาดใหญ่ ขนาดกลาง และขนาดเล็กควบคู่กันไป โดยจะใช้งบประมาณ กว่า 656,000 ล้านบาท และ 2.โครงการผันน้ำภายในและระหว่างประเทศ เพื่อเติมปริมาณน้ำให้แก่พื้นที่ที่มีศักยภาพต่างๆ ใช้งบประมาณกว่า 239,000 ล้านบาท อธิบดีกรมชลประทานกล่าวต่อว่า ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เป็นพื้นที่ที่จำเป็นจะต้องขยายพื้นที่ชลประทานโดยเร็วเนื่องจากในปัจจุบันมีพื้นที่ชลประทานน้อยมาก เพียง 6.5 ล้านไร่เท่านั้น จากพื้นที่การเกษตรทั้งหมดประมาณ 59 ล้านไร่ โดยกรมชลประทานได้วางแผนงานที่จะเพิ่มพื้นที่ชลประทานให้ได้อีก 21.8 ล้านไร่ รวมเป็นประมาณ 28.3 ล้านไร่ หรือ ครึ่งหนึ่งของพื้นที่การเกษตรในภูมิภาคนี้

สำหรับโครงการต่างๆ ที่กรมชลประทานจะใช้เพิ่มศักยภาพพื้นที่ชลประทานในภาคตะวัน ออกเฉียงเหนือนั้นมีทั้งหมด 1,089 โครงการๆที่สำคัญเช่น โครงการอ่างเก็บน้ำห้วยเชียง อ่างเก็บน้ำลำพันชาด จังหวัดอุดรธานี โครงการประตูระบายน้ำน้ำอูนและระบบส่งน้ำ จังหวัดนครพนม โครงการฝายน้ำโดมใหญ่ จังหวัดอุบลราชธานี โครงการอ่างเก็บน้ำยางนาดี อ่างเก็บน้ำชีบน อ่างเก็บน้ำลำกระจวน เขื่อนโปร่งขุนเพชร อ่างเก็บน้ำห้วยซาง จังหวัดชัยภูมิ โครงการอ่างเก็บน้ำลำปลายมาศ เสริมสันเขื่อนลำพระเพลิง เสริมสันเขื่อนและผันน้ำป่าสัก จังหวัดนครราชสีมา โครงการเพิ่มพื้นที่การเกษตรจากการเพิ่มความจุเขื่อนลำปาว จังหวัดร้อยเอ็ด เป็นต้น

นอกจากนี้ยังมีโครงการที่จะผันน้ำระหว่างประเทศ เพื่อเติมน้ำให้กับภาคตะวันออกเฉียง เหนือ เช่น โครงการผันน้ำจากแม่น้ำงึม โครงการผันน้ำจากแม่น้ำเซบังเหียง เป็นต้นอีกด้วย

ส่วนภูมิภาคอื่นๆเช่นกันภาคเหนือ จะเพิ่มพื้นที่ชลประทานจาก 6.0 ล้านไร่ในปัจจุบันเป็น 10.3 ล้านไร่ จากพื้นที่การเกษตรทั้งหมด 23.1 ล้านไร่ ภาคกลางจะเพิ่มจาก 9.6 ล้านไร่ในปัจจุบันเป็น 11.1 ล้านไร่ จากพื้นที่การเกษตรทั้งหมด 25.2 ล้านไร่ ภาคตะวันออก จะเพิ่มจาก 2.7 ล้านไร่ เป็น 5.0 ล้านไร่ จากพื้นที่การเกษตรทั้งหมด 11.6 ล้านไร่ และภาคใต้จะเพิ่มพื้นที่ชลประทานจาก 3.2 ล้านไร่ เป็น 5.5 ล้านไร่ จากพื้นที่การเกษตรทั้งหมด 20.9 ล้านไร่

อ้างอิง : http://www.naewna.com/news.asp?ID=66555

เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง