ทุนทางธรรมชาติและวัฒนธรรม ลุ่มน้ำโขง-สาละวิน
จากต้นกำเนิดบนที่ราบสูงทิเบต สายน้ำสามสาย คือ จิงสา (แยงซี) หลานชาง (แม่โขง) และ นู่เจียง (สาละวิน) ไหลขนานใกล้ชิดกันในเขตมณฑลยูนนาน ช่วงที่แม่น้ำโขงและสาละวินใกล้กันที่สุดเพียง ๑๘ กิโลเมตรเท่านั้น บางคนถึงกับบอกว่า น้ำห้วยสาขาบางแห่งของน้ำโขงและสาละวินอยู่ใกล้กันจนปลากระโดดข้ามห้วยไปมาได้ แม่น้ำทั้งสามไหลเคียงกันก่อนที่จะแยกจากกันไปสู่ทะเลตามทิศต่างๆ
ชาวยูนนานมีเรื่องเล่าว่า...
บนที่ราบทิเบตมีสามสาวพี่น้อง เมื่อเติบโตเป็นสาวงาม แม่ก็บอกให้ลูกๆ ออกเดินทางไปยังทะเลทางทิศตะวันออก จิงสา พี่สาวคนโตก็มุ่งหน้าไปฝั่งตะวันออกตามคำบอกของแม่อย่างเคร่งครัด แต่สาวงามคนสุดท้องแสนดื้อคือ นู่เจียง กลับมุ่งหน้าลงใต้ไปยังเขตประเทศพม่าไปหาเจ้าชายแห่งพม่าคนรักของเธอ หลานซางคนกลางจึงกระวนกระวายใจ อยากตามลงไปดูแลน้อง แต่ก็ไม่อยากขัดคำสั่งแม่ ชวนพี่ใหญ่จิงสาก็ไม่ยอมไป เธอจึงอยู่ตรงกลางระหว่างสองพี่น้อง
พี่น้องทั้งสามก็ได้กลายมาเป็นสายน้ำสามสาย ที่ไหลเคียงกัน แต่ไหลลงทะเลห่างไกลกันหลายพันกิโลเมตร โดยแม่น้ำแยงซี ลงทะเลเหลือง แม่น้ำโขงลงทะเลจีนใต้ที่เวียดนาม และแม่น้ำสาละวิน ลงสู่ทะเลอันดามันที่รัฐมอญ ประเทศพม่า
เขตสามแม่น้ำไหลเคียงได้รับการประกาศให้เป็นมรดกโลกทางธรรมชาติ โดย ยูเนสโก เมื่อเดือนกรกฎาคม ๒๕๔๗ เนื่องด้วยเขตดังกล่าวเป็นพื้นที่ซึ่งมีความอุดมสมบูรณ์ โดดเด่นทางลักษณะภูมิศาสตร์ และมีความหลากหลายทางชีวภาพ มีพรรณพืชและสัตว์ท้องถิ่นหายากมากมาย จึงเป็นพื้นที่อนุรักษ์อย่างเข้มงวดเพื่อให้คงสภาพเดิมทางธรรมชาติไว้
แต่เมื่อเดินทางออกไปจากเขตอนุรักษ์ดังกล่าวแล้ว ชะตากรรมของทั้งสามสาวแทบไม่ต่างกัน นั่นคือ อิสรภาพของพวกเธอถูกล่ามโซ่ไว้ด้วยเขื่อน
.....................................................
แม่น้ำโขง ระยะทางไกลกว่า ๔,๘๐๐ กิโลเมตร หล่อเลี้ยงนานาชีวิตใน ๖ ประเทศลุ่มน้ำโขง รวมทั้งภาคเหนือและอีสานของไทย
ที่บ้านปากอิง แหล่งหาปลาสำคัญของชุมชนบนแม่น้ำโขงช่วงพรมแดนไทย-ลาว ที่จังหวัดเชียงราย คนหาปลาบนเรือหาปลาหลายสิบลำกำลังต่อคิวกัน ไหลมอง หาปลาด้วยตาข่ายดักปลา
จากข้อมูลงานวิจัยจาวบ้านเชียงของ-เวียงแก่น ซึ่งศึกษาโดยชาวบ้านจากชุมชนริมน้ำโขง พบว่าปลาธรรมชาติในแม่น้ำโขงที่มีกว่า ๑๐๐ ชนิดในเขตนี้เป็นแหล่งอาหารและรายได้ที่สำคัญของชาวบ้าน ซึ่งส่วนหนึ่งยึดการหาปลาเป็นอาชีพหลักเนื่องจากไม่มีที่ทำกิน
“เมื่อก่อนปลาเยอะกว่านี้มาก อุ้ยเคยใช้ “เรือผีหลอก” เอาสังกะสีหรือกาบกล้วยติดข้างเรือให้มันสะท้อนแสง พายออกไปตอนกลางคืน ปลามันเห็นแสงจันทร์สะท้อนใส่กาบกล้วยมันก็นึกว่าเป็นน้ำ ก็กระโดดเข้ามาในเรือเลย ไม่ต้องทำอะไร” คนหาปลาวัยชราจากบ้านปากอิงยืนยันถึงความอุดมในสายน้ำเมื่อครั้งอดีต
เครื่องมือหาปลาชนิดเดียวกันนี้ยังพบว่าเคยใช้ในลุ่มน้ำสงคราม สาขาของแม่น้ำโขงที่จังหวัดนครพนมด้วยเช่นกัน
ยามหน้าแล้ง ตลิ่งริมแม่น้ำ และดอนทรายกลางน้ำโขงที่โผล่พ้นน้ำเป็นพื้นที่ทำการเกษตรของชาวบ้านหลายชุมชน พืชที่ปลูกมีตั้งแต่ถั่วงอก ผักกาด ข้าวโพด และถั่วนานาชนิด
เมื่อน้ำลดระดับและใสสะอาดในหน้าแล้ง หาดกรวดหินตื้นๆ ริมน้ำโขงเป็นแหล่ง ไก หรือสาหร่ายน้ำโขง อาหารขึ้นชื่อของอำเภอเชียงของ และเป็นอาหารที่สำคัญของปลาน้ำโขงรวมทั้งปลาบึก ปลาน้ำจืดไม่มีเกล็ดที่ใหญ่ที่สุดในโลก
ไกเป็นอาหารและช่วยสร้างรายได้ให้แก่ครอบครัว โดยเฉพาะกลุ่มผู้หญิง
หลังจากมีเขื่อนบนแม่น้ำโขงที่จีน ชาวบ้านกล่าวตรงกันว่าแม่น้ำโขงเปลี่ยนแปลงไปมาก ระดับน้ำขึ้นลงผิดปรกติ โดยเฉพาะช่วงฤดูแล้งซึ่งมีการระเบิดแก่งเพื่อการเดินเรือสินค้าขนาดใหญ่
ระบบนิเวศแม่น้ำโขงกำลังถูกทำลาย ปลาที่จับได้น้อยลงทุกวัน ไกก็ไม่ออกมากเหมือนแต่ก่อน หรือวันนี้ความอุดมแห่งสายน้ำโขงกำลังจากไป...
................................................
ต่างจากแม่น้ำโขงซึ่งไหลผ่านเมืองหลวงและเมืองสำคัญของหลายประเทศ แม่น้ำสาละวินกลับไหลผ่านดินแดนแห่งกลุ่มชาติพันธุ์ชายขอบ นับตั้งแต่ชายแดนตะวันตกของยูนนาน ประเทศจีน ผ่านรัฐฉาน คะยา กะเหรี่ยง และรัฐมอญของพม่า และเป็นพรมแดนระหว่างจังหวัดแม่ฮ่องสอนและรัฐกะเหรี่ยง รวมระยะทางทั้งหมดประมาณ ๒,๘๐๐ กิโลเมตร
ขณะที่คนในเมืองหลวงไม่ว่าจะเป็นปักกิ่ง ย่างกุ้ง และกรุงเทพฯ ไม่ค่อยรู้จักแม่น้ำสายนี้นัก แต่สายน้ำเดียวกันกลับเป็นเส้นเลือดใหญ่ของกลุ่มชาติพันธุ์กว่า ๑๓ กลุ่มตลอดสายน้ำ อาทิ ลีซู นู ตู๋หลง ปะโอ ปะหล่อง ดาระอั้ง ละว้า ไทใหญ่ และกะเหรี่ยง
พ่อเฒ่าชาวไทใหญ่ เล่าถึงเมืองกุ๋นฮิง ริมน้ำปางซึ่งเป็นแม่น้ำสาขาของสาละวินในรัฐฉานตอนกลางว่า “ในน้ำปางมีปลาเยอะแยะจนจับไม่ไหว ช่วงหน้าฝนน้ำเอ่อเข้าที่นา ปลาจากแม่น้ำก็เข้ามาอยู่ในนา พวกเราจับปลาในนาได้มาก แค่ใช้ตาข่ายจับ”
ที่บ้านสบเมย จุดบรรจบของน้ำเมยและสาละวินบนพรมแดนไทย-พม่า ก็เป็นแหล่งหาปลาที่สำคัญ จากร่างงานวิจัยไทบ้านสาละวิน โดยชุมชนไทยเชื้อสายกะเหรี่ยง ขณะนี้รวมรวมข้อมูลพันธุ์ปลาได้กว่า ๗๐ ชนิด ทั้งในแม่น้ำสาละวินและห้วยสาขา
ชาวบ้านใช้เครื่องมือหาปลาพื้นบ้านที่หลากหลายเพื่อจับปลาให้เหมาะกับชนิดพันธุ์ปลา ระบบนิเวศ และฤดูกาล เพื่อใช้บริโภคในครอบครัว เหลือก็แบ่งปันในชุมชน หรือขายบ้างเล็กน้อย
ผืนป่าสาละวินได้รับการยอมรับจากนักนิเวศวิทยาว่าเป็นศูนย์กลางของการกระจายพันธุ์ไม้สักของโลก ดังเห็นได้ว่าผืนป่าสักในลุ่มน้ำสาละวินเป็นผืนป่าสักใหญ่ต่อเนื่องกัน
เนื่องจากตั้งอยู่ในพื้นที่ชายแดนห่างไกล ธรรมชาติและระบบนิเวศในลุ่มน้ำแห่งนี้ยังคงความอุดมสมบูรณ์ สำหรับภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ สาละวินเป็นแม่น้ำนานาชาติที่ใหญ่และสำคัญเป็นรองเพียงแม่น้ำโขงเท่านั้น
พ่อหลวงนุ ชำนาญคีรีไพร ชาวไทยเชื้อสายกะเหรี่ยงจากบ้านแม่ก๋อน จังหวัดแม่ฮ่องสอน เล่าว่า “ชาวบ้านอยู่ในป่าสาละวินมาตั้งแต่ปู่แต่ย่า ทำไร่หมุนเวียน เก็บผักเก็บเห็ด เก็บยาสมุนไพรในป่า เราใช้ป่าเราก็รักษาป่า ถึงเงินทองเราไม่มี แต่เราก็ไม่ต้องใช้เงิน ไม่มีหนี้สิน ทุกอย่างเราหาได้จากป่า จากห้วย พ่อแม่สอนมา
อ่อ ที กะต่อ ที เหม่ เก อ่อ ก่อ กะต่อ ก่อ เหม่ เก
ใช้ผืนน้ำให้รักษาไว้ ใช้ผืนดินให้รักษาไว้
แพะ คึ ขุ ซี เส่ เตอะ เก แพะ คึ ขุ ซี หว่า เตอะ เก
ถางไร่อย่าฟันไม้ให้ตาย ฟันไร่อย่าถางไผ่ให้ตาย
เส่ หว่า เมะ ลอตุ ลอเช เปอะ บะ กอวี บะ กอเจ
หากไม้และไผ่หมดไป เราจะอดน้ำอดข้าวตาย
เปอะอ่อกะต่อ อ่อกะต่อ กุ อ่อ ปกา เล ตื่อ เล ตอ
เรากินไปเรารักษาไป เราจึงมีกินตลอดไป”