ถอดบทเรียนจากกรณี ยายไฮ ขันจันทา

fas fa-pencil-alt
ประสาร มฤคพิทักษ์-มติชน
fas fa-calendar
2 มิถุนายน 2547

ชัยชนะของยายไฮ ขันจันทา ประจานความพ่ายแพ้ของระบบราชการไทยอย่างน่าพิจารณา

การต่อสู้อันยืดเยื้อยาวนานเพื่อเรียกร้องสิทธิอันชอบธรรมในที่ดินทำกินของตนเองอย่างทรหดอดทน เพราะที่นาจมหายไปกับน้ำอันเนื่องมาจากการสร้างเขื่อนห้วยละห้า เขตบ้านโนนตาล ต.นาตาล กิ่ง อ.นาตาล อ.อุบลราชธานี กลับกลายมาเป็นยายไฮได้รับที่ดิน 61 ไร่ คืนทั้งหมดในชั่วเวลาเพียงข้ามคืน เมื่อนายกรัฐมนตรีสั่งให้เลขาธิการนายกรัฐมนตรีไปจัดการ โดยให้ทุบเขื่อนห้วยละห้าเพื่อระบายน้ำออกจากที่นา แล้วให้หน่วยทหารพัฒนาไปจัดทำระบบประปาหมู่บ้านเพื่อทดแทนระบบประปา 3 หมู่บ้านที่จะต้องหายไปอันเนื่องมาจากการทุบเขื่อนห้วยละห้า

เราควรถอดบทเรียนจากกรณีศึกษาครั้งสำคัญนี้

1.อำนาจรัฐข่มเหงชาวบ้านเป็นปรากฏการณ์ประจำ มาชั่วนาตาปี

เขื่อนปากมูล ที่ผลิตกระแสไฟฟ้าอันน้อยนิด ทำลายวิถีชีวิตประมงพื้นบ้านของชาวบ้านริมสองฝั่งแม่น้ำมูล และชาวบ้านริมสองฝั่งแม่น้ำสายต่อเนื่อง ทำให้เศรษฐกิจชุมชนที่มีมานับพันปี(ดังภาพเขียนชีวิตชาวประมงและภาพปลาที่ผาแต้ม) ล่มสลาย

กฎหมายป่าสงวนและประกาศเขตป่าอนุรักษ์ของกรมป่าไม้ไปทับซ้อนที่ชาวบ้านที่ได้อยู่อาศัยมาก่อน ดังพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เรื่อง "คนกับป่า" มีใจความตอนหนึ่งว่า

"ในป่าสงวนฯ ซึ่งทางราชการได้ขีดเส้นว่าเป็นป่าสงวนหรือป่าจำแนก แต่เมื่อเราขีดเส้นไว้ ประชาชนก็อยู่ในนั้นแล้ว เราเอากฎหมายป่าสงวนฯ ไปบังคับคนที่อยู่ในป่าที่ยังไม่ได้สงวนทีหลังโดยขีดเส้นบนกระดาษ ก็ยังดูชอบกลอยู่ เมื่อมีปัญหาเกิดขึ้นเมื่อขีดเส้นแล้ว ประชาชนที่อยู่ในนั้น ก็กลายเป็นผู้ฝ่าฝืนกฎหมายไป ถ้าดูในทางกฎหมายเขาก็ฝ่าฝืน เพราะว่าตรามาเป็นกฎหมายโดยชอบธรรม แต่ว่าถ้าตามธรรมชาติ ใครเป็นผู้ทำผิดกฎหมาย ก็ผู้ที่ขีดเส้นนั่นเอง เพราะว่าคนที่อยู่ในป่านั้น เขาอยู่มาก่อน เขามีสิทธิในทางเป็นมนุษย์ หมายความว่าทางราชการบุกรุกบุคคล ไม่ใช่บุคคลบุกรุกกฎหมายบ้านเมือง"

(จากประมวลพระราชดำรัสและพระบรมราโชวาท ที่พระราชทานในโอกาสต่างๆ อันเกี่ยวกับกฎหมาย ตั้งแต่ พ.ศ.2439-2529 คณะนิติศาสตร์ จุฬาฯ และธนาคารทหารไทย จำกัด จัดพิมพ์)

กรณี เหมืองโปแตสที่ จ.อุดรธานี ซึ่งกลุ่มทุนต่างชาติโดยกลไกของรัฐเกื้อหนุนสร้างหายนะใหญ่หลวงให้กับเกษตรกรท้องถิ่นทั้งวิถีชีวิตทางเศรษฐกิจและสุขภาวะของชุมชน ดุจเดียวกับเหมืองลิกไนท์ที่ อ.เวียงแหง จ.เชียงใหม่ ของ กฟผ. ก็ย่ำยีชาวบ้านในทุกมิติแห่งการดำเนินชีวิต

เขื่อนห้วยละห้าที่ทำลายหัวใจของยายไฮ เป็นกรณีตัวอย่างเล็กๆ ที่สะท้อนภาพเชิงโครงสร้างใหญ่ว่าแท้จริงแล้วประชาชนต่างหากที่เป็นฝ่ายถูกอำนาจรัฐข่มเหงรังแกมาโดยตลอด

2.ระบบราชการไทยไร้จริยธรรมและความรับผิดชอบ ยายไฮ ขันจันทา ได้ต่อสู้เรียกร้องสิทธิอันชอบธรรมในที่ดินทำกินของตนเองที่ถูกละเมิดโดยอำนาจรัฐซึ่งมี รพช.เป็นตัวแทนตั้งแต่อายุ 48 ปี เมื่อปี 2519 เริ่มจากการร้องเรียนกับผู้ใหญ่บ้าน ไปกำนัน ไปอำเภอ ไปจังหวัด กระทั่งไปสู่ทำเนียบรัฐบาลโดยร่วมกับสมัชชาคนจน ไม่มีหน่วยงานรัฐบาลไหน หรือนายกรัฐมนตรีคนใดไยดี ทั้งๆ มีหลักฐานปรากฏชัดว่ายายไฮยืนอยู่กับความถูกต้องและใช้สันติวิธีมาโดยตลอด จนกระทั่งอายุ 76 ปี

ตลอดเวลา 27 ปีแห่งการเรียกร้องต่อสู้ ช่างไม่มีหน่วยราชการใดเลยที่มีจิตสำนึกสูงส่งพอที่จะถือเป็นธุระจัดการแก้ปัญหาให้ ต่างฝ่ายต่างโยนให้เป็นภาระของหน่วยเหนือขึ้นไป แม้แต่เหนือที่สุดคือนายกรัฐมนตรีก็ทอดธุระกับปัญหาของยายไฮ

ยายไฮจำเป็นต้องใช้วิธีซึ่งภาษากฎหมายเรียกว่า "ทำลายทรัพย์สินทางราชการ" กล่าวคือ ยายไฮและลูกหลานย้ายจากบ้านที่คุ้มแดดคุ้มฝนได้ของตนเองไปอยู่ใต้เพิงกระต๊อบเล็กๆ ที่ใกล้จะพัง แล้วหยิบจอบเสียมขึ้นมาฟันลงไปในเนื้อดิน ซึ่งเป็นที่นาของตนเองเพื่อปล่อยน้ำออกจากนา ยายไฮถูกตัวแทนของทางการในท้องถิ่นจับตัวดำเนินคดี

เคราะห์ดีที่รายการ "ถึงลูกถึงคน" โดย สรยุทธ สุทัศนะจินดา ของโทรทัศน์ช่อง 9 อ.ส.ม.ท.นำเอายายไฮ กับ อบต.ท้องถิ่นมาออกอากาศให้คนทั่วประเทศได้รับรู้ปัญหา สื่อมวลชนและสาธารณชนวิพากษ์วิจารณ์กันไปทั่ว นายกรัฐมนตรีไม่อาจนิ่งเฉยต่อไปได้ จำต้องลงมาจัดการแก้ปัญหาดังกล่าว

ย้อนเวลากลับสู่อดีต ถ้าผู้ใหญ่บ้านหรือกำนัน แก้ปัญหาอย่างเอาจริงเอาจัง ถ้านายอำเภอ หรือผู้ว่าราชการจังหวัดเดือดร้อนกับเรื่องราว ถ้าฝ่ายรับเรื่องราวร้องทุกข์ของทำเนียบรัฐบาลจัดการให้เรียบร้อยเสียตั้งแต่ต้นมือ ยายไฮก็คงไม่ต้องสู้ทรหดถึง 27 ปี

เพียงแค่แก้ปัญหาระบบประปาให้กับสามหมู่บ้าน ก็สามารถคืนพื้นที่ให้กับเจ้าของกรรมสิทธิ์ได้แล้ว ปัญหาไมได้สลับซับซ้อนอะไรเลย

นายกรัฐมนตรีควรถือโอกาสใช้เรื่องนี้เป็นกรณีศึกษาและถอดบทเรียนให้ประชาชนว่า เรื่องง่ายๆ ควรแก้ไขได้ตั้งแต่เมื่อแรกเริ่ม ทำไมจึงยืดเยื้อโดยใช้เหตุเช่นนี้

3.ด้วยวิธีการที่ผิดกฎหมายนั่นเองที่นำไปสู่การแก้ปัญหา

นี่ไม่ใช่การยุยงให้ชาวบ้านทำผิดกฎหมาย

ถามว่าถ้ายายไฮกับลูกหลานไม่สวมวิญญาณนักสู้ คือไม่เอาจอบเสียมไปขุดสันเขื่อนเพื่อระบายน้ำจากที่นาตนเอง จะมีใครมาสนใจไยดีบ้าง

เรื่องราวก็คงจะละลายหายไปเหมือนกับกลไกรัฐที่ไร้วิญญาณแห่งการรู้ทุกข์รู้สุขของประชาชนเหมือนตลอดเวลาที่ผ่านมา

การขุดสันเขื่อน ทำให้ อบต.ดำเนินคดี ทำให้กลายเป็นข่าว ทำให้เรื่องราวถูกนำไปออกอากาศในรายการโทรทัศน์ ทำให้เกิดการวิพากษ์วิจารณ์ ท่าทียืนหยัดสู้ไม่ถอยทำให้รายการโทรทัศน์ดำเนินรายการต่อเนื่อง นายกรัฐมนตรีจึงเข้ามาแก้ปัญหา

อย่าแปลกใจเลย ที่ชาวบ้านริมน้ำมูล เข้าไปตั้งหมู่บ้านที่บริเวณสันเขื่อนปากมูล หรือเอาบันไดมาพาดเพื่อปีนประตูทำเนียบรัฐบาล รวมทั้งชาวบ้านทุ่มไหปลาร้าแตกในทำเนียบ

อย่าประหลาดใจเลย ที่ประชาชนในภาคใต้เข้าขัดขวางการวางท่อก๊าซไทย-มาเลเซีย

อย่างุนงงเลยที่ชาวนาใน จ.ลำพูน จำต้องรุกเข้าไปหาอยู่หากินในที่สาธารณะซึ่งกลับกลายเป็นที่ของนายทุนอันเนื่องมาจากการใช้กลไกรัฐเอื้ออำนวยให้กับฝ่ายนายทุน

รวมถึงการสำแดงพลังของนักศึกษาประชาชนในกรณี 14 ตุลาคม 2516 การต่อสู้ในกรณี 6 ตุลาคม 2519 และการคัดค้านเผด็จการในกรณี 17 พฤษภาคม 2535

ตัวอย่างจริงๆ เหล่านี้เป็นปลายสุดของการใช้ความพยายามด้วยเหตุผลและสันติวิธีที่ไร้ผลมาแล้วทั้งนั้น ทำให้เกิดความจำเป็นที่ฝ่ายต่อสู้ต้องลงมือกระทำในจุดที่ล่อแหลมต่อการถูกจับกุมคุมขัง ทั้งๆ ที่ไม่มีใครอยากกระทำเลย นักต่อสู้ทั้งมวลไม่มีใครปรารถนาสถานะวีรบุรุษหรือวีรสตรีเป็นที่หมาย การเอาอิสรภาพและชีวิตของตนเองเป็นเดิมพันในปริมณฑลที่ผิดกฎหมายนั้นต้องใช้จิตใจที่ยิ่งใหญ่ยิ่งกว่าเมื่อเทียบกับพฤติกรรมของนักการเมืองทั่วๆ ไป

4.ชัยชนะได้มาด้วยหัวใจแห่งการต่อสู้อย่างถึงที่สุด ยายไฮบอกว่า การต่อสู้ของยายถูกชาวบ้านด้วยกันต่อต้าน จะไปขอยาจากทางการ เขาก็ไม่ให้ เพราะเขาหาว่ายายไฮสร้างความวุ่นวายไม่รู้จักจบสิ้น

เมื่อคืนวันที่ 15 พ.ค.47 ยายไฮ เพชร(ลูกสาวยายไฮ) และสรยุทธ สุทัศนะจินดา สนทนาในรายการ "ถึงลูกถึงคน" ตอนหนึ่งว่า

สรยุทธ : เอาที่คืนมา แต่ไม่มีคนคบ คนอื่นไม่คบกับยายเลย ยายเอามั้ย

ยายไฮ : ไม่คบก็ช่างมัน

เพชร : คนอื่นก็จะได้ที่นาด้วยบางส่วนตอนน้ำลด

ยายไฮ : คนที่น้ำท่วมด้วยกันเขาก็ยินดีด้วย

สรยุทธ : มันก็จะมีคนอื่นที่ได้ด้วย

เพชร : แม่ไม่ได้ทำเผื่อแค่ 3 ราย แต่คนที่ได้รับผลกระทบเหมือนแม่ก็มี ที่ไม่ได้เรียกร้องออกมา

ยายไฮ : ถ้าฉันไม่เอาคืน จะให้ฉันเอาที่ไหนมาทำ ฉันก็แก่แล้ว

สรยุทธ : ถ้าไม่ได้ที่คืน ยายจะไม่ไปเกิด

ยายไฮ : ไม่ตายไม่เกิด ฉันจะเอาจนได้ที่คืน ฉันคิดถึงลูกหลาน

เพชร : ตอนนี้หลานส่วนใหญ่อยู่กรุงเทพฯ ทำงานโรงงานเย็บผ้า ทำความสะอาด

สรยุทธ : ไม่ตายด้วยไม่เกิดด้วย

ยายไฮ : ฉันจะเอาที่คืน ฉันห่วงลูกหลานไม่มีที่ทำกินทำใช้ ให้ฉันพึ่งใคร ลูกหลานไม่พึ่งฉัน เขาจะพึ่งใคร

ใครได้ชมรายการคืนนั้น จะเห็นสีหน้า สายตา ท่าทีที่มุ่งมั่นของยายไฮ

จิตใจที่ไม่ยอมตาย ไม่ยอมเกิด สะท้อนความเด็ดเดี่ยวอย่างถึงที่สุดที่สะเทือนใจคนรับรู้ได้มาก แม้จะเป็นการต่อสู้อย่างโดดเดี่ยวอ้างว้าง ถูกรังเกียจจากเพื่อนบ้าน ก็ยังยืนหยัดสู้

หากไม่มีคนอย่างยายไฮ ที่นา 61 ไร่ของยายไฮ และที่นาของเพื่อนบ้านอีกหลายครอบครัวก็ยังคงถูกน้ำท่วมต่อไป ลูกหลานของยายไฮที่ตกระกำลำบากอันเนื่องมาจากไม่มีที่ดินทำกินก็คงอยู่ในสภาพบ้านแตกสาแหรกขาดต่อไป

เราเห็นได้อีกอย่างหนึ่งว่า การเปลี่ยนแปลงไม่ได้เริ่มต้นจากผู้คนจำนวนมาก สืบประวัติศาสตร์กันได้ในทุกการเปลี่ยนแปลง ไม่ว่าการเปลี่ยนแปลงการปกครองเมื่อ 24 มิถุนายน 2475 การลุกขึ้นสู้ของประชาชนเมื่อ 14 ตุลาคม 2516 ไม่เว้นแม้แต่การเปลี่ยนแปลงทางประวัติศาสตร์ครั้งยิ่งใหญ่ของโลกทุกครั้ง ล้วนเป็นการเริ่มต้นจากคนจำนวนน้อยทั้งนั้น

ใครที่ชอบยกตัวเลขมาประนามคนต่อสู้ว่าเป็นเรื่องของคนไม่กี่คน ควรศึกษาจำนวนคนจากกรณียายไฮเป็นตัวอย่าง จำนวนคนในระยะแรกเริ่มจะมากหรือน้อยจึงไม่สำคัญยิ่งไปกว่าการต่อสู้นั้นถูกต้องเป็นธรรมหรือไม่

ขอขอบคุณยายไฮ ขันจันทา นักสู้แห่งบ้านโนนตาลที่ให้บทเรียนอันมีค่ายิ่งต่อสังคมไทย

อ้างอิง : http://www.matichon.co.th/matichon/matichon.php?s_tag=01act05020647&show=1§ionid=0130&day=2004/06/02

เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง