"ตุ้มปลายอน" การกลับมาของภูมิปัญญาลุ่มน้ำมูน
สถานการณ์การเปิดเขื่อนปากมูล คนแม่มูนได้เฮอีกครั้งหลังจากที่ยังไม่มีการปิดเขื่อนปากมูล เพราะในช่วงนี้ปลาใหญ่กำลังจะขึ้นวางไข่ในแม่น้ำมูน ทำให้คนลุ่มน้ำมูนได้มีปลาไว้ต่อชีวิต ภายหลังจากวันที่ 14 มิถุนายน ที่การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยไม่ได้ปิดประตูระบายน้ำเขื่อนปากมูลตามกำหนดการเปิด 1 ปี ตามมติ ครม.เนื่องจากต้องรอผลการศึกษาของมหาวิทยาลัยอุบลฯ ที่ยังไม่ได้สรุปผลการศึกษาในช่วงของการทดลองเปิดเขื่อนปากมูลที่ผ่านมา แต่การเปิดเขื่อนต่อในครั้งนี้ก็ไม่ได้ทำให้ชาวบ้านมั่นใจนักเนื่องจากยังไม่มีมติครม. หรือคำสั่งจากรัฐบาลที่เป็นลายลักษณ์อักษรแต่อย่างใด
อย่างไรก็ตามการเปิดเขื่อนต่อ ก็ทำให้คนหาปลาในลุ่มน้ำมูนสามารถหาปลาได้ต่อไป มีรายได้ และสามารถนำเครื่องมือที่ได้ลงทุนไปอย่างมหาศาลในช่วงของการเปิดเขื่อนที่ผ่านมา อาทิ มอง แห เรือ เครื่องเรือ และอื่นๆ รวมทั้ง "ตุ้มปลายอน" ด้วย
"ต้มปลายอน" ซึ่งเป็นเครื่องมือหาปลาที่ได้สูญหายไปจากแม่น้ำมูนหลังการสร้างเขื่อนเกือบสิบปี ตุ้มปลายอน ซึ่งเป็นเครื่องมือขนาด 15-17 เมตร ที่มีเฉพาะลำน้ำมูนตอนปลายเท่านั้น ในปีนี้เมื่อเปิดเขื่อนชาวบ้านที่เคยใส่ตุ้มปลายอนก็ได้ลงทุนซื้อหาจากหมู่บ้านที่เคยทำตุ้ม ทั้งในราคากว่า 1,200 บาท และต่ำลงตามความคุ้นเคยของคนซื้อขาย บางคนลงทุนทำเอง จากไม้ไผ่ลำยาวที่มีในหมู่บ้าน เครื่องมือชนิดนี้จะใส่ได้เฉพาะที่ โดยในแถบแม่น้ำมูนตอนปลายก็จะใส่ได้เฉพาะบริเวณบ้านค้อใต้ และบ้านท่าแพซึ่งเป็นบริเวณที่เป็นวังน้ำลึก ใต้น้ำเป็นพื้นดินที่สามารถปักหลักยึดตัวตุ้มได้เมื่อใส่
นายสุนทร หอมสิน อายุ 56 ปี ชาวบ้านบ้านค้อใต้ ต.โพธิ์ศรี อ.พิบุลมังสาหาร จ.อุบลฯ กล่าวว่า บ้านค้อใต้ปีนี้ได้เตรียมตุ้มไว้เป็นจำนวนมากเมื่อรู้ว่าเปิดเขื่อน แต่ตุ้มจะใส่ได้ก็เฉพาะในช่วงน้ำขึ้นเท่านั้น ระยะนี้ก็เริ่มใส่กันแล้ว ได้คนละ 6 กิโล 8 กิโล 10 กิโล มีรายได้ทุกวัน ตนได้ไปซื้อตุ้มจาก "เสี่ยว" ที่บ้านท่าแพเพราะไม่มีเวลาสานเอง แต่หลายคนที่บ้านนี้ก็สานเอง เพราะสานไม่ยาก ที่บ้านท่าแพตอนนี้น้ำขึ้นเพื่อนๆ ที่โน่นก็เริ่มลงกันแล้ว
นายสุนทรกล่าวว่า ไม่ได้ใส่ตุ้มมาเกือบสิบปีแล้ว หลังจากปิดเขื่อนเพราะปลาไม่มี น้ำก็ลึกมาก ตุ้มที่เคยมีก็พังบางคนก็ขายไป มีปีนี้ที่มีตุ้มในหมู่บ้าน รู้สึกภูมิใจ ดีใจอย่างบอกไม่ถูก คิดว่าในชีวิตนี้จะไม่ได้ใส่ตุ้มในแม่น้ำมูนอีกแล้ว ถ้าไม่เปิดเขื่อนก็คงไม่ได้ใส่
การใส่ตุ้ม นายสุนทรเล่าว่า การใส่ก็จะใส่ไม่ห่างกันนัก จะใส่ใกล้ๆ กันต่างคนก็จะช่วยเหลือกัน เพราะตุ้มมีขนาดใหญ่ การเอาปลาขึ้นก็จะเอาขึ้นตั้งแต่ตีห้าของทุกวันเพื่อจะให้ทันตลาดเช้าพิบูลฯ หลังจากที่เอาปลาแล้วก็จะใส่ไว้ที่เดิม แต่จะทำความสะอาดด้วยการขัด จากนั้นก็จะใส่เหยื่อลงไปไว้อีก จะกลับลงยามปลาอีกก็ตอนเช้าเวลาเดิม ปลาในตุ้มจะไม่ตาย ตอนเช้าบรรยากาศจะคึกคักมากในแม่น้ำมูน อยากให้เปิดเขื่อนตลอดไปชาวบ้านจะได้หาปลากินอย่างอุดมสมบูรณ์อย่างนี้ตลอดไป นายสุนทรกล่าวในที่สุด