ฤดูกาลแห่งความอุดม ในหุบเขาสาละวิน

fas fa-pencil-alt
ข่าวสด
fas fa-calendar
31 ตุลาคม  2549

ท้องฟ้ากระจ่างใสกลางแสงแดดยามสาย หลังจากสายฝนที่ลมหอบเอามาจากดอยสูงกระหน่ำความฉ่ำเย็นลงสู่ผืนนาตลอดคืน แมลงปอตัวจ้อยบินร่อนอยู่เหนือท้องทุ่งแห่งธัญชาติ กล้าข้าวเขียวอ่อนเพิ่งจะถูกย้ายจากแปลงมาปักลงในผืนนาเป็นแนวเขียว

ยามพ่อแม่หยุดพักจากการดำนามานั่งสูบยากันที่กระท่อม ชาวนาตัวน้อยก็ออกมาวิ่งเล่นไล่จับกันตามคันนา เสียงหัวเราะแห่งความชื่นบานดังแว่วไปทั้งท้องทุ่ง ฤดูกาลแห่งความอุดมสมบูรณ์มาเยือนแล้ว

ที่หมู่บ้านโพซอ ชุมชนของชาวไทยเชื้อสายกะเหรี่ยงในป่าสาละวิน จ.แม่ฮ่องสอน แม้ชาวบ้านทุกหลังคาเรือนจะทำไร่หมุนเวียนบนดอยสูง แต่ที่ราบริมลำห้วยหลายสายที่ไหลผ่านหมู่บ้าน ทำให้หลายครอบครัวมีที่นาด้วย

ห้วยแม่แงะ คือหนึ่งในลำห้วยสาขาของแม่น้ำสาละวินไหลมาจากขุนน้ำบนดอยสูง ไหลผ่านหมู่บ้านโพซอ ก่อนลงสู่แม่น้ำสาละวินสายใหญ่ เป็นแหล่งน้ำสำคัญสำหรับการทำนาของชาวบ้านกว่า 30 ครอบครัว

ฝายพื้นบ้าน ซึ่งทำด้วยท่อนไม้จำนวนมากปักกั้นลำห้วย ส่งน้ำเข้าสู่ลำเหมืองที่ขุดไว้ลงในนาขั้นบันไดของชาวบ้าน น้ำใสไหลรินหล่อเลี้ยงกล้าข้าวให้เติบโต ไหลลงสู่แปลงนาที่มีระดับต่ำกว่าไปเรื่อยๆ จนสุดท้ายก็ไหลลงลำห้วยเช่นเดิม

การทำนาแบบนี้จึงคล้ายกับ "ขอยืมน้ำ" จากลำห้วยมาหล่อเลี้ยงต้นข้าวในนา และคืนน้ำที่เหลือสู่ห้วย คนที่อยู่ในป่าไม่จำเป็นต้องพึ่งพาการจัดการน้ำจากภายนอก แต่สามารถที่จะจัดการได้เองอย่างพอเพียงมีประสิทธิภาพ

ชาวบ้านเล่าว่าฝายหนึ่งแห่งจากส่งน้ำเข้านา 1-8 แห่ง สำหรับฝายที่มีนาหลายเจ้า คนที่เริ่มทำฝายขุดเหมืองครอบครัวแรกจะได้รับตำแหน่ง ทีบอโขะ-หัวหน้าฝาย ซึ่งเป็นผู้กำหนดการใช้น้ำของนาเจ้าต่างๆ ที่ใช้ฝายร่วมกัน เมื่อฤดูกาลฉ่ำฝนมาเยือน เจ้าของนาที่ใช้ฝายร่วมกันจะมาช่วยกันซ่อมแซมฝาย ขุดร่องลำเหมือง และกำหนดวันเลี้ยงผีฝาย ที่เรียกเป็นภาษาปกากญอว่า หลื่อที้บ้อโขะ

พะตีพะชู้ บอกเราว่าพรุ่งนี้จะทำพิธีหลื่อที้บ้อโขะ ชวนพวกเราไปร่วมงานด้วย

ยามสายวันถัดมา พวกเราเดินเลาะตามทางเดินเล็กๆ ริมห้วยออกไปจากหมู่บ้าน ขึ้นดอยลูกเตี้ยๆ จนมาถึงที่กระท่อมริมนา เมื่อมาพร้อมกันแล้วจึงชวนกันเดินไปที่ฝายซึ่งอยู่ใกล้ๆ เราตกใจเล็กน้อยที่เห็นฝายคอนกรีตขวางลำน้ำอยู่ เรานึกว่าเป็นฝายไม้เหมือนกันฝายอื่นๆ ที่เราเห็นอยู่ใกล้ๆ หมู่บ้าน

จอคนหนึ่งให้คำอธิบาย "เมื่อก่อนก็เป็นฝายไม้เหมือนที่อื่นๆ แหละ แต่หลายปีโน้นทางอำเภอให้งบตำบลมาทำฝาย ใช้เงินไปตั้งหลายล้าน ก็เลยมีฝายปูนที่เดียวในหมู่บ้านเลย"

"ฝายชาวบ้านหรือฝายปูนก็เอาน้ำเข้านาได้เหมือนกัน แต่ฝายไม้เราทำเองได้ ช่วยๆ กันทำใหม่ทุกปี ไม่ต้องเสียเงิน ฝายปูนนี่ใช้เงินเยอะ ปลาก็ว่ายข้ามไปลำบากหน่อย เขาอยากมา สร้างให้เราก็ไม่ว่าอะไร"

"เป็นฝายปูนแบบนี้แล้วยังเลี้ยงผีฝายกันอีกเหรอคะ?"

"เลี้ยงสิ ยังไงก็ต้องเลี้ยง ปกาปญอเชื่อว่าผีฝายผีห้วยให้น้ำกับเรา ให้เรามีน้ำทำนาทุกๆ ปี"

ที่ริมฝายหนุ่มๆ เจ้าของนาออกไปตัดไม้ไผ่มาทำศาล อีก 2 คนกำลังถางหญ้าออกให้โล่งเพื่อเป็นลานไหว้ เมื่อไม้ไผ่ตัดมาวางพร้อม พะตีพะซู้ก็เริ่มตั้งศาล ทำพื้นขัดแตะ มุงหลังคาด้วยใบไม้ สานบันได ตัดกระบอกไม้เป็นจอก ทำช่อดอกไม้จากตอกเสียบในกระบอก รินเหล้า ทำกระทงวางของไหว้ต่างๆ และแขวนตระกร้าใส่ไก่ไว้ข้างศาล

ทุกอย่างเสร็จเรียบร้อย ทุกคนนั่งลงต่อหน้าศาล ยกมือพนมกลางอกด้วยความสำรวม

สรรพสิ่งสงบเงียบ มีเพียงเสียงน้ำรินไหลแว่วมา พร้อมกับเสียงสวดไหว้ของพะตีพะซู้ เป็นภาษากะเหรี่ยง ทุกคนต่างรวมใจกันแสดงความเคารพต่อผีฝายและผีห้วยผู้นำความอุดมให้แก่ผืนนาและปากท้อง

จากนั้นจึงนำไก่ไปทำอาหารเพื่อมาไหว้อีกครั้ง ก้อนหินสามเส้าถูกนำมาเรียงเพื่อก่อกองไฟ ไก่ทั้ง ๔ ตัวส่งกลิ่นหอมฉุยยามนำมาปิ้งถอนขน ก่อนต้มในหม้ออีกครั้งรวมกับสมุนไพรและผักป่าที่ขึ้นอยู่มากมายในป่าแถวๆ นั้น

กลิ่นไก่ต้มทำเอาหลายคนน้ำลายหก แต่ก็ต้องเก็บอาการให้สำรวมเพราะพะตีกำลังเอาไก่ไปไหว้ศาล เมื่อไหว้ที่ศาลแล้วเราไหว้ที่กระท่อมริมนาอีกครั้ง พะตีเทเหล้าใส่จอก วางเครื่องไหว้ใส่กระทงใบไม้ และจุดเทียนไหว้หิ้งที่กระท่อม เจ้าของนาทุกคนและครอบครัวนั่งเรียบร้อยไหว้อยู่พร้อมกัน ส่งใจไปถึงนาที่ข้าวกำลังออกเขียว ขอให้ผีปกป้องเจ้า ให้ได้ข้าวพอกิน

แล้วก็ถึงเวลาอร่อย! อาหารและเหล้าถูกจัดเป็นสองวง จะนั่งวงไหนตามสบาย

"เวลาไหว้ผี กินเลี้ยงต้องนั่งกินสองวง ให้เป็นคู่ จะดี" พะตีพะซู้อธิบาย ไก่บ้านเนื้อแน่นเพราะวิ่งออกกำลังหากินทุกวัน เรากินกันอย่างเอร็ดอร่อยและสบายใจ เพราะลูกเมียทุกคนมาร่วมกินพร้อมๆ กัน ไม่ต้องห่วงว่าจะต้องเก็บอาหารไว้ให้ใครอีก เจ้าตัวน้อยตาลุกวาวเมื่อพ่อหยิบไก่ชิ้นโตให้ เป็นรางวัลที่ช่วยพ่อแม่ทำนามาตั้งแต่เริ่มไถ

"ที่บ้านโพซอนี่อุดมสมบูรณ์ ชาวบ้านอยู่กันมีความสุข หน้าฝนทำนา หน้าแล้งปลูกกระเทียม ปลูกผัก ถั่ว ตากแห้งส่งขายบ้างนิดๆ หน่อยๆ ดินทำนาก็ดี ดีจนต้องปลูกบื้อผื่อ-ข้าวต่ำ เพราะข้าวออกรวงเยอะมาก ข้าวต้นสูงๆ นี่ปลูกไม่ได้ มันจะล้มหมด เมล็ดข้าวมันใหญ่หนักเกิน ปุ๋ยนี่ไม่เคยใส่เลย ใส่ไม่ได้ ข้าวมันจะออกเม็ดเยอะเกิน"

"แล้วน้ำจากฝายนี่แบ่งกันยังไงคะ เวลาน้ำไม่พอใครจะตัดสินว่าใช้น้ำยังไง?"

"ถ้ามีปัญหาก็มาคุยกันทุกคน สุดท้ายถ้าตกลงไม่ได้ด็ให้แก่ฝายเป็นคนตัดสินใจ แต่ที่ผ่านมาไม่เคยมีปัญหา ไม่มีปีไหนที่น้ำไม่พอเลย น้ำห้วยไหลดีตลอดทุกปี"

กินเลี้ยงผีวันนี้ทุกคนพักผ่อนพูดคุยกันอย่างออกรส เวลาแห่งความสุขติดปีกบินผ่านไปอย่างรวดเร็ว ทุ่งนาอาบแสงอาทิตย์ยามบ่ายเป็นสีเขียวจ้า งานเลี้ยงจบลงแล้ว พรุ่งนี้และวันต่อๆ ไปคือการทำงานกันอีกครั้ง

ฤดูกาลแห่งความอุดมคงดำเนินต่อไปเรื่อยๆ ทุกรอบปี ตราบเท่าที่น้ำห้วยยังคงไหลจากขุนห้วยสู่ท้องนา!!

 


เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง