เวียงมอกรอผู้ว่าซีอีโอลำปางแก้ปัญหา

fas fa-pencil-alt
ศูนย์ข่าวภาคเหนือ สำนักข่าวประชาธรรม
fas fa-calendar
14 ธันวาคม 2544

กรมชลฯเบี้ยวค่าชดเชยสร้างเขื่อนนาน 10 ปี

ลำปาง/ชาวเวียงมอกปักหลักรอผู้ว่าฯซีอีโอแก้ปัญหาเดือดร้อนจากการสร้างเขื่อนแม่มอกนานเกือบ 10 ปี   กรมชลประทานบ่ายเบี่ยงไม่จ่ายค่าชดเชย  ไม่จัดสรรที่ดินทำกินให้  ชี้ครั้งนี้จะพิสูจน์ฝีมือผู้ว่าฯซีอีโอลำปางแก้ปัญหาประาชนในจังหวัด

            วันนี้ (14 ธันวาคม)  กลุ่มชาวบ้านต.เวียงมอก อ.เถิน จ.ลำปางเกือบร้อยคนที่ได้รับผลกระทบจากโครงการสร้างเขื่อนเก็บ น้ำแม่มอกโดยกรมชลประทานมาตั้งแต่ปี 2535  ยังคงปักหลัก ณ บริเวณสำนักงานชลประทานที่ 2 จ.ลำปาง  รอการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนจากผู้ว่าราชการจังหวัดซีอีโอ  นายพีระ  มานะทัศน์   และรัฐบาล  ซึ่งได้มีการชุมนุมมาตั้งแต่วันที่ 12 ธันวาคมที่ผ่านมา    และขณะนี้กำลังรอให้ผู้ว่าฯ ซีอีโอ แต่งตั้งคณะกรรมการ 3 ฝ่าย ซึ่งประกอบดวยกลุ่มตัวแทนฝ่ายประชาชน   ตัวแทนฝ่ายปกครอง  และตัวแทนจากกรมชลประทาน   ดำเนินการแก้ไขปัญหาตามที่ได้มีการตกลงกันเมื่อวันที่ 13 ธันวาคมที่ผ่านมาว่า  จะดำเนินการจัดหาที่ดินทำกินและจ่ายค่าชดเชยให้แก่ราษฎรโดยมีมาตรการดำเนินการที่ชัดเจน  และมีคำสั่งที่ลงนามโดยผู้ว่าราชการจังหวัดเสียก่อน

            นายจรัส  ใหม่ยศ  ที่ปรึกษาสหพันธ์เกษตรกรภาคเหนือและองค์กรพัฒนาเอกชนในพื้นที่จ.ลำปางเปิดเผยถึงผลการ เจรจาระหว่างกลุ่ม ตัวแทนชาวบ้านผู้เดือดร้อน  กรมชลประทาน  และผู้ว่าฯ  เมื่อวานนี้ 13 (ธันวาคม)  มีข้อตกลงถึงแนวทางการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของชาวบ้านเวียงมอกว่า   กลุ่มชาวบ้านท่าเกวียนที่เดือดร้อนเนื่องจากไม่สามารถเข้าทำกินที่ดินทำกินซึ่งกรมชลประทานจัดสรรให้จำนวน   63  ราย  จะมีการจัดหาที่ดินในเขตชลประทานเขื่อนแม่มอกให้แก่ราษฎร  ส่วนชาวบ้านที่ยังไม่ได้รับค่าชดเชยที่ดิน  พืชผล  ผู้ว่าฯ พีระชี้แจงว่ามติ ค.ร.ม.  11 ธันวาคม 2544  ได้มีการอนุมัติในหลักการว่าจะจ่ายค่าชดเชยพิเศษให้แก่ราษฎร  ซึ่งได้รับผลกระทบจากการสร้างเขื่อนเก็บน้ำแม่มอกจำนวนเงิน  8 ล้าน 4 แสนบาทแล้ว  ซึ่งจะต้องมีการติดตามเพื่อดำเนินการต่อไป

            นอกจากนี้ยังได้มีข้อตกลงว่าจะต้องมีการชลอการจับกุมดำเนินคดีชาวบ้านน้ำพุจำนวน 54 ราย  ซึ่งเป็นหมู่บ้านที่กรมชลประทานนำที่ดินจัดสรรแก่บ้านท่าเกวียนซึ่งถูกน้ำท่วม   แต่ปรากฏว่ากรมชลประทานไม่ยอมจ่ายค่าชดเชยที่ดิน  ดังนั้นชาวบ้านจึงไม่ยอมออกจากที่ดินทำกินของตนเอง   ทำให้ชาวบ้านท่าเกวียนไม่สามารถเข้าไปทำกินได้ 

            นายจรัสกล่าวว่าขณะนี้ตัวแทนทั้ง 3 ฝ่ายได้ลงพื้นที่เพื่อสำรวจที่ดินในเขตชลประทานเขื่อนแม่มอกแล้วว่ามีเพียงพอที่จะจัดสรรให้แก่ราษฎรหรือไม่  ซึ่งชาวบ้านเชื่อว่ายังมีที่ดินทำกินอีกมากที่สามารถนำมาจัดสรรแก่ราษฎรได้  แต่กรมชลประทานงุบงิบไว้เป็นที่ดินของชลประทาน  ไม่ยอมนำมาจัดสรร 

            ด้านนายศรีษะเกษ  สมาน  องค์กรพัฒนาเอกชนในพื้นที่จ.ลำปางก็กล่าวว่าการแก้ไขปัญหาครั้งนี้จะถือเป็นการพิสูจน์การ ทำงานของผู้ว่าซีอีโอจ.ลำปางว่าจะสามารถแก้ไขปัญหาประชาชนในจังหวัดได้มากน้อยแค่ไหน  เพราะชาวบ้านเองก็มีความหวังว่าถ้าสามารถแก้ปัญหาในระดับจังหวัดได้  ก็ไม่ต้องเดินทางไปร้องเรียนถึงทำเนียบรัฐบาลอีก   

            นายดวล  คำนึง  ตัวแทนชาวบ้านผู้เดือดร้อนจากบ้านท่าเกวียน ต.เวียงมอกกล่าวว่าปัญหาของชาวบ้านที่เดือดร้อนจากการโครงการสร้างเขื่อนแม่มอกมีมาตั้งแต่ปี 2538  หมู่บ้านตนเองถูกน้ำท่วม  แต่ปรากกฏว่ากรมชลประทานไม่ยอมจัดสรรที่ดินทำกินให้พร้อมเสียก่อน  และยังทำให้ชาวบ้านต้องทะเลาะกันเองอีกด้วย คือระหว่างชาวบ้านน้ำพุ  กับชาวบ้านท่าเกวียน  เพราะกรมชลประทานนำที่ดินทำกินของบ้านน้ำพุมาจัดสรรให้แก่บ้านท่าเกวียนโดยไม่ยอมจ่ายค่าชดเชยให้    เขาก็ไม่ยอมออก  ชาวบ้านจึงเดือดร้อนกันไปหมด  พวกที่ไม่มีที่ดินทำกินก็ต้องออกไปหางานทำนอกบ้าน บางส่วนก็รอค่าชดเชยที่ดินทำกิน  พืชผล  และบ้าน ที่อยู่อาศัย  ซึ่งชาวบ้านเรียกร้องมาตลอด  แต่รัฐบาลไม่เคยเหลียวแล

            “พอเราเรียกร้องจากกรมชลประทานมาก ๆ เข้า  เขาก็เอาข้าวสารอาหารแห้งมาแจก  มาส่งเสริมอาชีพให้เป็นครั้ง ๆ  แต่มันไม่แก้ปัญหาเพราะชาวบ้านไม่มีที่ดินทำกิน”  นายดวลกล่าวพร้อมกับย้ำว่าการแก้ปัญหาถ้าหากชาวบ้านไม่เข้ามีส่วนร่วม  ก็จะเหมือนที่ผ่าน ๆ มาไม่ได้แก้ปัญหาจริง   

            อนึ่งโครงการสร้างเขื่อนเก็บน้ำแม่มอก ต.เวียงมอก อ.เถิน จ.ลำปาง  เริ่มดำเนินการประชาสัมพันธ์โครงการตั้งแต่ปี 2532  เขื่อนมีความสูง 150 เมตร  ยาว 1,990 เมตร  บรรจุน้ำ 135 ล้านลูกบาศก์เมตร  โดยนำน้ำไปใช้ในเขตที่ราบลุ่มเกษตรในทุ่งเสลียม  จ.สุโขทัย  ในการก่อสร้างเขื่อน  ชุมชนที่ได้รับผลกระทบเดือดร้อนน้ำท่วม ต้องอพยพ และถูกแย่งชิงที่ดินเพื่อไปจัดสรรทำกิน ได้แก่บ้านน้ำพุ  บ้านท่าเกวียน  บ้านหอรบ ต.เวียงมอก อ.เถิน   กรมชลประทานเริ่มดำเนินการเวนคืนที่ดินทำกิน ที่อยู่อาศัย  ต้นไม้พืชผล จ่ายค่าชดเชยมาตั้งแต่ปี 2535  ขณะนียังดำเนินการไม่แล้วเสร็จ  รวมผู้ที่ยังไม่ได้รับค่าชดเชยเหลืออีก 80 กว่าราย  ไม่มีที่ดินทำกินจำนวน 63 ราย   ซึ่งที่ผ่านมาชาวบ้านได้ร่วมกับสหพันธ์เกษตรกรภาคเหนือ (สกน.)  เรียกร้องต่อรัฐบาลทักษิณให้แก้ไขปัญหาความเดืดร้อน    และรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์รับปากว่าจะดำเนินการแก้ไขปัญหาให้  แต่จนถึงขณะนี้ยังไม่มีความคืบหน้าใด ๆ .

 


เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง