“เวทีเล่าทุกข์ ”
“ความทุกข์บนแผ่นดินนี้มีมากมายเหลือเกิน จะเขียนยังไงหมด.....”
ผมรำพึงด้วยความสะทกสะท้อนใจหลังจากฟังอาจารย์ ชัยพันธ์ ประภาสะวัติ ที่ปรึกษาสมัชชาคนจน เล่าถึงชะตากรรม ของ ชาวบ้านผู้ได้รับผลกระทบเสียหายจากการสร้างเขื่อนสิรินธรและถูกทางราชการทอดทิ้งมา นานเกือบสามสิบปีขณะโดยสารรถตู้ผ่าน เขื่อนดังกล่าวสู่ด่านช่องเม็ก ระหว่างไปร่วมสัมมนาวิชาการที่เขื่อน ปากมูลเมื่อเดือนเมษายนศกนี้
ด้วยเหตุนี้ ผมจึงยินดีทั้งน้ำตาที่สาธารณชนชาวไทยได้มีโอกาสตระหนักรู้ความทุกข์ดังกล่าวบ้างเมื่อคุณ ภักดี จันทเจียด และ คุณ เพชร ขันจันทรา ผู้สิ้นเนื้อประดาตัวและบ้านแตกสาแหรกขาดเพราะเขื่อนสิรินธรและ เขื่อนห้วยละห้า ถึงแก่เสียงแหบปร่า น้ำตาหยาดซึม มิอาจกล้ำกลืนฝืนเล่าทุกข์ของตนและพ่อแม่พี่น้องครอบ ครัวให้เพื่อนร่วมชาติฟังต่อไปได้บนเวทีสาธารณะที่หอ ประชุมเล็ก มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เมื่อ ๑๗ ส.ค. ที่ ผ่านมา
“ความทุกข์บนแผ่นดินนี้มีมากมายเหลือเกิน จะร้องไห้อย่างไรจึงสาสม.....”
“ผู้ปกครองชนิดใดที่ทำให้ประชาชนต้องถึงแก่ร้องไห้.......”
ย้อนพินิจดูแล้ว เวทีสาธารณะครั้งนี้นับเป็นปรากฎการณ์ใหม่ในประวัติศาสตร์การเมืองไทยที่คนยาก คนจน นักกิจกรรม องค์กรประชาชน อาจารย์นักวิชาการ ข้าราชการระดับอธิบดี และนักการเมืองระดับรัฐมนตรี ได้มานั่งอภิปรายแสดงข้อมูลความเห็น แตกต่างขัดแย้งบนเวทีเดียวกัน ในเวลาจำกัดจำเขี่ยเท่ากัน อย่างเสมอภาค กันต่อหน้าผู้ชมผู้ฟังทั้งในหอประชุมและทั่วประเทศ
ไม่เพียงเท่านั้น แต่ละฝ่าย โดยเฉพาะอย่างยิ่งตัวแทนรัฐบาลฝ่ายบริหาร ต้องมาชี้แจงแถลงไขให้เหตุผล อธิบายมติค นโย บายและการกระทำของตัวเองโดยตรงต่อสาธารณชนในเวทีเปิดที่ซึ่งพวกตนไม่ได้กุมเสียงข้าง มากเด็ดขาดไว้ล่วงหน้าอย่างปลอด โปร่งมั่นใจ (ไม่เหมือนในสภาผู้แทนฯ) เพื่อให้มหาชนรับฟังไตร่ตรอง พินิจ พิเคราะห์ พิจารณาวินิจฉัยความถูกไม่ถูกควรไม่ควรของ แต่ละฝ่ายด้วยดุลพินิจอิสระตามสมควร
น่าเสียดายที่ความเท่าเทียมกันบนเวทีนั้นตั้งอยู่บนความไม่เท่าเทียมที่แวดล้อมเป็นบริบทอยู่ในสังคม การเมือง อีกทั้งต่าง ฝ่ายยังต่างคิดต่างแถลง แทนที่จะร่วมขบคิดหาทางออกทางแก้ปัญหาด้วยกัน
ทั้งก่อนขึ้นและหลังลงจากเวที คนจนได้แต่ประท้วงอยู่กลางถนนหน้าทำเนียบรัฐบาล ขณะท่านอธิบดี และรัฐมนตรีกุม อำนาจสั่งการตัดสินใจอยู่ข้างใน และสื่อมวลชนอิเล็กทรอนิกส์ทีวีวิทยุซึ่งแพร่กระจายข่าวสาร ข้อมูลเข้าถึงคนไทยส่วนใหญ่ของ ประเทศ ก็จัดสรรเผื่อแผ่เวลาออกอากาศทั้งที่ฟรีและใช้งบประชาสัมพันธ์ของ หน่วยงานรัฐวิสาหกิจซื้อมาให้แก่ทรรศนะฝ่ายรัฐอย่าง เอื้อเฟื้อเฟือฟาย ยิ่งกว่าที่เปิดให้แก่ทรรศนะฝ่ายค้านของ คนจนหรือองค์กรประชาชนหรือนักวิชาการที่มักจะเป็นแค่ “ข่าวที่ไม่เป็น ข่าว ” ถึงไหนต่อไหน ไม่รู้กี่เท่าต่อกี่ เท่า
แม้กระทั่งก่อนถ่ายทอดสดรายการเวทีสาธารณะเช้าวันนั้น ช่อง ๑๑ ยังแพร่ภาพรายงานพิเศษของการ ไฟฟ้าฝ่ายผลิตฯที่ เชียร์เขื่อนและโจมตีสมัชชาคนจนด้านเดียวออกอากาศปูพื้นเกริ่นนำรายการ “อย่างเป็นกลาง ” เลย !
ลองคิดดูเถิดว่าหากทีวีทุกช่องวิทยุทุกสถานีจัดสรรเวลาออกอากาศนำเสนอทรรศนะทั้งของรัฐกับของ คนจนในประเด็น ปัญหาที่ขัดแย้งอย่างเสมอหน้าเท่าเทียมกันโดยสม่ำเสมอคงเส้นคงวานาทีต่อนาทีทุกวันทุกคืน เป็นเวลาหนึ่งปี มติมหาชนไทยใน เรื่องเหล่านี้จะโน้มเอียงเปลี่ยนไปถึงปานไหน !
ส่วนเรื่องร่วมคิดร่วมแก้ปัญหาร่วมหาทางออก ยังไม่เห็นหน เพราะแม้แต่ข้าวมื้อเที่ยงของผู้เข้าร่วม แถลงวันนั้นทั้ง ๓ ฝ่าย ยังแยกย้ายกันกินห้องใครห้องมันเลย อนิจจา....
วันนั้นผมเองก็งดสอนเพื่อเปิดโอกาสให้นักศึกษาแปดสิบกว่าคนในชั้นได้ไปสังเกตสัมผัส วิชาการเมืองการปกครองไทยใน ภาคปฏิบัติจริงที่ยกเวทีมาแสดงสดถึงถิ่น คิดไม่ถึงว่าคนจะหลามล้นหอประชุมจนมิอาจเบียด เสียดเข้าไปฟังข้างในได้ ผมจึงมาอาศัย สังเกตการณ์ด้านนอกผ่านทีวี
พอจะพบเห็นข้อสังเกตรวม ๆ ดังต่อไปนี้ :-
หัวใจของมติที่คณะกรรมการกลางซึ่งประกอบไปด้วยนักวิชาการทั้ง ๑๐ ยื่นเสนอต่อรัฐบาลเป็นแนว ทางในการแก้ไขข้อ ขัดแย้งระหว่างรัฐบาลกับสมัชชาคนจนคือ
๑) การพิจารณาตัดสินใจดำเนินโครงการพัฒนาของรัฐต้องทำโดยคณะกรรมการพหุภาคีที่ชาวบ้านท้อง ถิ่นมีส่วนร่วม
๒) ในทุกโครงการข้างต้น ต้องทำการสำรวจประเมินผลกระทบทั้งด้านสิ่งแวดล้อมและสังคม (Environmental & Social Impact Assessment หรือ EIA & SIA) ทั้งก่อนดำเนินโครงการโดยทำไปพร้อม กับการศึกษาความเหมาะสมเป็นไปได้ของโครงการหรือ feasibility studies, และหลังโครงการแล้วเสร็จด้วย ทั้งนี้หน่วยงานที่รับผิดชอบการสำรวจประเมินดังกล่าวไม่ว่าจะทำเองหรือว่าจ้าง ผู้อื่นทำพึงเป็นหน่วยงานด้านสิ่ง แวดล้อมซึ่งไม่ใช่เจ้าของโครงการ และให้ชาวบ้านและองค์กรเอกชนร่วมกำหนดกรอบและกำกับ การศึกษา
๓) ทบทวนมติคณะรัฐมนตรีชุดรัฐบาลชวนวันที่ ๓๐ มิ.ย. ๒๕๔๑ โดยยึดหลักให้คนอยู่กับป่า เจ้าหน้า ที่ราชการไม่มีอำนาจสิทธิ์ ขาดฝ่ายเดียว แต่ให้ชาวบ้านร่วมกับราชการพิสูจน์สิทธิ์ที่ดินทำกินของชาวบ้านที่ทับ ซ้อนเขตป่าอนุรักษ์ โดยไม่ใช้ภาพถ่ายทาง อากาศเป็นเกณฑ์เดียวในการตัดสิน แต่ใช้การเดินรังวัดในพื้นที่และ พยานบุคคลประกอบ
๔) มุ่งรอมชอมประนีประนอม แต่ละฝ่ายต้องอ่อนข้อบ้าง ไม่ได้เต็มร้อย หาทางจัดการความขัดแย้ง อย่างสันติในระบบ ป้องกัน ความรุนแรง และ
๕) ทั้งนี้ทั้งนั้น เป้าหมายของมติคณะกรรมการกลางคือ “ฟื้นฟูธรรมชาติ ฟื้นฟูชุมชน ” ตามคำให้การ ของ รศ. ศรีศักร วัลลิโภดม ตัวแทนคณะกรรมการกลางบนเวทีสาธารณะ
ข้อเสนอดังกล่าวของคณะกรรมการกลาง สมัชชาคนจนยอมถอยครึ่งก้าว รับเอาไว้ทั้งหมดและยืนยัน ตาม ส่วนรัฐบาลกลับ แบ่งรับแบ่งสู้ ตามมติคณะรัฐมนตรีที่ ๒๕ ก.ค. และ ๘ ส.ค. ศกนี้
บนเวทีสาธารณะ ถ้อยแถลงของรัฐมนตรีและอธิบดีผู้รับผิดชอบโดยสาระไม่ใคร่มีอะไรใหม่ พื้นฐาน ยังคงยืนกรานใน อำนาจตัดสินใจสิทธิ์ขาดของตน อ้างกฎหมายและระเบียบราชการดังที่เป็นอยู่ อิงข้อมูลที่ ราชการป้อนให้ นิยามการมีส่วนร่วมของ ประชาชนให้เป็นแบบอยู่ภายใต้การชี้นำกำกับ ตั้งโจทย์และกำหนด ระเบียบวาระโดยฝ่ายราชการ และถึงที่สุดก็อ้างชาติและ ประชาชน ๖๐ ล้านคนตามเคย
ข้อน่าสังเกตเพิ่มเติมที่เอาเข้าจริงก็มิได้แปลกใหม่อะไรเกี่ยวกับฝ่ายรัฐบาลมีอาทิเช่น
รมช. เกษตรฯ เนวิน ชิดชอบ โน้มต่ำลงไปหยิบประเด็นชาวเขาภาคเหนือไม่ใช่คนไทยเพราะไม่มีบัตร ประชาชนจึงไม่มีสิทธิ์ เหนือทรัพยากรที่ดินบนแผ่นดินไทย มาปลุกระดมมวลชนให้แบ่งฝ่ายเป็น “คนไทย ” กับ “คนไม่ไทย ” อีก
รมว. ประจำสำนักนายกฯ สาวิตต์ โพธิวิหค ผู้ดูแลกิจการพลังงานและการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศ ไทย ทำท่าจะถอยหลัง กลับไปตั้งต้นศึกษาใหม่ประหนึ่งไม่ยอมรับด้วยซ้ำว่าเขื่อนปากมูลส่งผลกระทบต่ออาชีพ ประมงของชาวบ้านแถบนั้นอย่างถาวร และ รวมศูนย์หมกมุ่นอยู่แต่กับเขื่อนผลิตไฟฟ้าแห่งหนึ่งแห่งเดียวเป็นที่ตั้ง
ความสั้นยาวแคบกว้างของวิสัยทัศน์เทียบได้ชัดกับอาจารย์ศรีศักร ผู้พูดในปัญหาเดียวกันว่านี่ไม่ใช่เรื่อง ของเขื่อนแห่งเดียว แต่เดิมพันคือแม่น้ำมูลทั้งสายที่เป็นเส้นเลือดหล่อเลี้ยงอู่อารยธรรมอีสาน ให้อาหารปลายังชีพ แก่ชาวอีสานทั้งภาคมานับร้อยนับพัน ปี ที่กำลังถูกบ่อนทำลายลงด้วยเขื่อน ๆ หนึ่งซึ่งผลิตไฟฟ้าได้เพียงน้อยนิด ทว่ากลับมีอานุภาพทำลายล้างมหาประลัย
รัฐบาลเห็นแม่น้ำทั้งสายและผลกระทบสืบเนื่องทั้งหมดหรือไม่ หรือเห็นแค่เขื่อนกับไฟฟ้า ? ทำไมจึง มองอย่างอื่นไม่เห็น ?
ต่อท่าทีแบ่งรับแบ่งสู้มติคณะกรรมการกลางของรัฐบาลเช่นนี้ สมัชชาคนจนปฏิเสธด้วยเหตุผลใหญ่ ๆ ๓ ข้อคือ
๑) พวกเขารับมติครม. ๓๐ มิ.ย. ๒๕๔๑ ไม่ได้เพราะเอาแต่จะขยายพื้นที่ป่า มากกว่าจะแก้ความขัดแย้ง ระหว่างชาวบ้านที่อยู่ในเขต ป่าอนุรักษ์กับกรมป่าไม้ ถือเป็น “มติยกเลิกคนอยู่กับป่า ” แทนที่จะสร้างมติร่วมกัน ขึ้นมาโดยทั้งฝ่ายรัฐบาล ราชการ และชาวบ้าน เพื่อใช้เป็นหลักแก้ปัญหา
๒) พวกเขาไม่ไว้ใจรัฐบาลเพราะรัฐบาลไม่ไว้ใจชาวบ้าน รัฐบาลควรเปิดใจรับฟังทำความเข้าใจปัญหา ชาวบ้าน หาข้อยุติโดยถือทุกข์ ชาวบ้านสำคัญกว่ากฎหมายหรือนโยบาย และ
๓) พวกเขาไม่ไว้ใจหน่วยราชการต่าง ๆ ทั้งระดับกรม รัฐวิสาหกิจและภูมิภาคว่าจะปฏิบัติตามมติ คำสั่งรัฐบาลจริง ในอดีตเคยมีบท เรียนมาแล้วว่ามติครม.จำนวนมากไร้ความหมาย หน่วยงานราชการไม่ยอม นำไปปฏิบัติ และรัฐบาลก็ไม่ใส่ใจจี้ไชเร่งรัดจริงจัง
ฉะนี้แล้ว เมื่อจบเวทีสาธารณะ ก็ทำให้อดรู้สึกไม่ได้ว่าเอาเข้าจริงอาจไม่ได้อะไร เหมือนกลับไปตั้ง ต้นนับหนึ่งใหม่ ฝ่ายรัฐ แทบจะไม่ได้ขยับจากจุดยืนตั้งมั่นดั้งเดิมของตัวออกไปรับลูกการอ่อนข้อลงบ้างของ ฝ่ายคนจนหรือข้อเสนอประนีประนอมของ นักวิชาการเลย
กระนั้นก็ตาม ดูเหมือนว่าถ้าจะมีใครได้อะไรบ้างจากเวทีวันนั้นก็คือสาธารณชนชาวไทย และในบรรดา อะไรทั้งหลายแหล่ที่ พวกเราได้ นอกเหนือจากข่าวสารข้อมูลใหม่บ้างเก่าบ้างแล้ว บางทีสิ่งสำคัญสูงค่าที่สุดก็อาจ จะได้แก่น้ำตา - ทั้งของคนจนบนเวที และที่ชื้นรื้นรินหยาดลงมาจากตาพวกเราเองด้วยความสะเทือนใจในความ ทุกข์ความยากของพี่น้องร่วมชาติผู้อับจนหนทาง
น้ำตาที่ปราศจากราคาค่างวดอันใดเลยนี้เป็นข้อพิสูจน์ว่าเราเป็นคนชาติเดียวกัน ที่ยังรู้จักเอื้ออาทรต่อกัน เมตตาสงสารกัน มาก พอที่จะร้องไห้รักกัน และมันอาจเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีสำหรับที่เราจะร่วมกันช่วยเหลือหาทาง แก้ไขปัญหาข้อขัดแย้งให้แก่กันอย่างสันติ เยี่ยงพี่น้องญาติมิตรต่อไป
ตราบใดที่คนไม่จนยังมีน้ำตาให้คนจน ชาติเราก็ยังไม่สิ้นหวัง