วิจัยไทบ้าน
รัฐบาลยังไม่ได้ตัดสินใจว่าจะทำยังไงดีกับเขื่อนปากมูล ระหว่างที่ให้เปิดประตูเขื่อนอยู่นี้ มีงบประมาณจากราชการและรัฐวิสาหกิจลงไปทำวิจัยเก็บข้อมูล เพื่อประกอบการติดสินใจของรัฐบาลในภายหน้า
มือปืนวิจัยคึกคักกันทั่วหน้า ควบม้าไล่ตามเงินวิจัยกันฝุ่นตลบทั่วลุ่มน้ำมูล หลายชื่อของมือปืนเหล่านี้ก็คือหน้าเก่าที่เคยทำวิจัย ให้สร้างเขื่อนปากมูลมาแล้วนั่นเอง
คิดแล้วก็น่าอนาถ มือปืนซึ่งไล่ตามกลิ่นเงินเหล่านี้นี่แหละ ที่ในที่สุดแล้วก็เป็นผู้ตัดสินใจด้วยงานวิจัยและข้อมูล ซึ่งอ้างว่าเป็นกล๊างกลาง เพื่อกำหนดชะตากรรมของชาวบ้านเป็นหมื่นเป็นแสนครอบครัวริมแม่น้ำมูล ซึ่งเป็นแม่น้ำสายใหญ่สุดของอีสาน
โดยไม่มีเงินสนับสนุนจากรัฐสักสตางค์แดงเดียว คณะนักวิจัยสมัชชาคนจนจึงต้องดิ้นรนทำวิจัยข้อมูลของตนขึ้น ถ่วงดุลงานวิจัยของมือปืน โดยได้รับความร่วมมือจากนักวิชาการอิสระและเครือข่ายแม่น้ำเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
เขาเรียกงานวิจัยของเขาว่า “วิจัยไทบ้าน” กรณีผลจากการเปิดประตูเขื่อนปากมูล
นักวิชาการที่เข้ามาร่วมมือนั้นมีฐานะเป็นเพียงผู้ช่วยนักวิจัย ในขณะที่ชาวบ้านหรือไทบ้านจำนวน 200 คนเป็นนักวิจัยเอง โดยรวบรวมความรู้ของเขามาวิเคราะห์และสังเคราะห์กันเอง จนได้เนื้อหาซึ่งเป็นที่น่าเชื่อถือ
ขอยกตัวอย่างเช่น ในการศึกษาเรื่องปลาหลังเปิดเขื่อน เขาเก็บรวบรวมตัวอย่างปลา ถ่ายรูปไว้แล้วเอาพรานปลาที่ชำนาญที่สุดในบริเวณนั่นมา 20 คน ต่างเคยหาปลามานานกว่า 50 ปี เป็นวิทยากรด้านข้อมูลของพรรณปลาต่าง ๆ เหล่านี้ ประชุมกันโต้แย้งกันจนกว่าจะได้ข้อยุติ
ในทำนองเดียวกัน ก็ทำอย่างนี้กับพรรณพืช, เครื่องมือหาปลา, ระบบนิเวศน์, เกษตรริมมูล ฯลฯ
ฉะนั้น ความรู้ที่ได้จากการวิจัยไทบ้านจึงเป็นความรู้ของไทบ้านจริง ๆ ไม่ใช่ความรู้ของนักวิจัยภายนอกที่พลิกตำราฝรั่งตรวจสอบอย่างที่มักจะทำกัน
ทางด้านเศรษฐกิจ, สังคมและวัฒนธรรม ก็อาศัยทั้งการสังเกตการณ์อย่างมีส่วนร่วม, การสัมภาษณ์และการจดบันทึกข้อมูลดิบอย่างเดียวกับการวิจัยของนักวิชาการ
แต่นอกจากนี้แล้ว ยังมีการประชุมกลุ่มในหมู่บ้านเพื่อให้ได้ตัวเลขที่แน่ชัดในหลายเรื่อง
ผมได้อ่านงานวิจัยนี้แล้ว พบว่าเป็นงานวิจัยที่ดีเลิศ มีข้อมูลรายละเอียดที่แจ่มชัด ตัวเลขข้อมูลเหล่านี้อาจชัดเจนเป็นระบบกว่าข้อมูลเกี่ยวกับแม่น้ำมูลที่เราเคยมีมาในหลายเรื่องด้วย เช่นเขาสำรวจพบว่าหลังจากการเปิดประตูเขื่อนระหว่างมิถุนายน 2544 ถึงพฤษภาคม 2545 มีพันธุ์ปลากลับมาสู่แม่น้ำมูลถึง 145 ชนิด รวมกับปลาต่างถิ่นอีก 7 ชนิด อาจกล่าวได้ว่ากว่าครึ่งของพันธุ์ปลาในแม่น้ำมูลแต่เดิมซึ่งมี 265 ชนิดได้กลับมาสู่แม่มูลอีกแล้ว
ในจำนวน 145 ชนิดของปลาที่กลับคืนมานี้ เป็นปลาจากแม่น้ำโขงถึง 134 ชนิด แสดงว่าเกือบทั้งหมดของปลาในแม่มูลล้วนมาจากแม่น้ำโขงสะท้อนให้เห็นว่าการปิดแม่น้ำมูลด้วย เขื่อนพลังงานไฟฟ้าก่อผลกระทบอย่างหนักต่อระบบนิเวศน์ของแม่มูลอย่างไร
วิจัยไทบ้านยังพบด้วว่ากาอพยพไปกลับของปลาในน้ำโขงและน้ำมูลนั้นดำเนินไปตลอดทั้งปี (อาจมีเว้นเดือนยี่เดือนเดียว หรือข้อมูลยังไม่สมบูรณ์ดี) ไม่ได้มีเฉพาะเพียง 4 เดือนในรอบปี อย่างที่เคยเข้าใจกัน
ทำให้เห็นว่าหากต้องการรักษาระบบนิเวศน์ของน้ำมูลไว้อย่างมั่นคงแล้ว การปิดประตูเขื่อนแม้เพียงบางเดือนก็ก่อให้เกิดผลกระทบที่ร้ายแรงได้
ระบบนิเวศน์ของแม่มูลฟื้นตัวขึ้นได้อย่างรวดเร็วหลังการเปิดประตูเขื่อน เช่น ผักตบชวาหายไปภายใน 1 เดือน หลังจาก 3 เดือนผ่านไป การอุดตันของตะกอนโคลนเลนตามแก่งซึ่งไทบ้านเรียกว่า “อ้น” ก็หมดไป หลังจาก 5 เดือนผ่านไป เห็นปลาซึ่งเป็นศัตรูของปลาก็เริ่มลดลงและหมดไปในที่สุด แก่งต่าง ๆ เริ่มโผล่ขึ้นเหนือน้ำตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน ทำให้พรรณพืชตามแก่งเริ่มกลับคืนมา นอกจากนี้ พืชน้ำบางชนิดก็เริ่มฟื้นคืนกลับมา เช่น ตะไคร่น้ำ (ไทบ้านเรียก “เทา”) ซึ่งเป็นอาหารปลาและคน เป็นต้น รวมทั้งสัตว์ หน้าดินซึ่งเป็นอาหารของปลาก็กลับคืนมาด้วย
วิจัยไทบ้านแบ่งกลุ่มประชากรริมน้ำมูลออกเป็นสามกลุ่มคือ ชุมชนริมมูล, ชุมชนริมห้วยสาขา (อยู่ถัดออกไป) และชุมชนบ้านโคก (อยู่ถัดต่อออกไปอีก) ปรากฏว่าเมื่อเปิดประตูเขื่อน ชาวบ้านทั้งสามกลุ่มนี้ แม้ทำมาหารายได้ในวิถีทางที่แตกต่างกัน แต่ต่างก็ได้ประโยชน์ทั่วถึงกัน
ทั้งนี้ เพราะต่างร่วมอยู่ใน “เศรษฐกิจปลา” ซึ่งผูกพันแลกเปลี่ยนกันทั้งในเรื่องสินค้า, วัฒนธรรมและความสัมพันธ์กันมานาน เมื่อเปิดประตูเขื่อน “เศรษฐกิจปลา” ก็กลับฟื้นคืนมาใหม่ แม้ในชุมชนบ้านโคกซึ่งอยู่ห่างน้ำมูลออกมา นอกจากมีคนไปหาปลาตามแก่งแล้ว ชาวบ้านอื่น ๆ ก็ยังเข้าถึงอาหารคุณภาพในราคาต่ำลง หรือสามารถระบายสินค้าเกษตรโดยเฉพาะข้าวของตนไปสู่ตลาดเปิดใหม่คือคนริมฝั่งมูลได้สะดวกขึ้น เป็นต้น
ปลาทำให้เกิดการหมุนเวียนของเศรษฐกิจชุมชนทั่วไป ปั๊มน้ำมันขายน้ำมันได้มากขึ้นกับเรือหาปลาที่เพิ่มจำนวนขึ้น ร้านค้าเครื่องมือหาปลาก็ขายได้มากขึ้น ร้านชำในหมู่บ้านมียอดขายเพิ่มขึ้น แม้แต่สหกรณ์โรงเรียนก็มียอดขายเพิ่มขึ้นถึงสองเท่า เพราะเด็กนักเรียนมีสตางค์ติดตัวไปโรงเรียนมากขึ้นด้วย ชาวบ้านบางคนตั้งเพิ่มขายกาแฟตามทับหาปลาตลอดทั้งคืน ช่องทางหารายได้ในเศรษฐกิจชุมชนเปิดกว้างขึ้นอีกมากมายเพราะการฟื้นกลับคืนมาสู่สภาพที่อุดมสมบูรณ์ของแม่มูล
อีกด้านหนึ่งที่เปลี่ยนไปก็คือบทบาทของผู้หญิงเขื่อนปากมูลกันพื้นที่ของผู้หญิงให้ถอยกลับไปสู่พื้นที่ส่วนตัวในครัวเรือน ซ้ำมีบทบาทไม่สู่สำคัญนักในครัวเรือนเสียด้วย ลูกหลานแตกฉานซ่านเซ็นไปหางานทำในที่ห่างไกล นับตั้งแต่กองขยะในกรุงเทพฯ ไปจนถึงงานต่างประเทศ (40% ของลูกหลานบ้านดงมะไฟไปทำงานต่างประเทศ โดยต้องลงทุนกันคลละประมาณ 200,000 บาท เพราะแม่มูลถูกทำลายลงด้วยเขื่อน เป็นต้น)
แต่ปลาที่กลับมาสู่น้ำมูล ทำให้ผู้หญิงเข้ามามีบทบาทในพื้นที่สาธารณะมากขึ้น นับตั้งแต่ร่วมในการจับปลา, ขายปลา, แลกปลา และพิธีกรรมต่าง ๆ ซึ่งเริ่มฟื้นกลับคืนมาในชุมชน
วิจัยไทบ้านให้ตัวเลขที่ชัดเจนได้ในหลายกรณี เช่น ในชุมชนริมมูล มีครัวเรือนถึง 94.91% (6,915 ครัวเรือน) ที่กลับลงมาหาปลาใหม่เมื่อเปิดประตูเขื่อน 21.51% หาปลาอย่างเดียวโดยไม่ได้ทำนาเลย และอีก 65.50% หาปลาด้วยและทำนาด้วย
รายได้ของคนหาปลาผันแปรไปตามวงจรชีวิตของปลา ช่วงที่ปลาใหญ่ขึ้นจะทำรายได้เฉลี่ยต่อหัวได้ถึงกว่า 400 บาทต่อวัน ในฤดูที่ขนาดของปลาลดลง รายคาตกเพราะมีปริมาณมาก ชาวบ้านก็หันมาทำปลาร้าเพื่อนำไปขายหรือแลกข้าว ได้รายได้เฉลี่ยตกประมาณ 200-300 บาทต่อวัน
ทั้งหมดนี้กรรมกรในกรุงเทพฯ ส่วนใหญ่ทำไม่ได้ จึงน่าอัศจรรย์ที่สภาพัฒน์ ตัดสินใจสร้างเขื่อนไฟฟ้าเอผลิตไฟฟ้าป้อนโรงงานอุตสาหกรรม บังคับให้ประชาชนแถบปากมูลต้องมาเป็นกรรมกรในโรงงาน ด้วยค่าจ้างไม่ถึงครึ่งของรายได้ที่เขาเคยได้ แถมยังเรียกการกระทำอย่างนี้ว่าการพัฒนาเสียอีก
ถ้าการวิจัยถูกผูกขาดอยู่กับกลุ่มคนระดับบนโดยมีนักวิชาการเป็นแนวหน้าและมือปืน โอกาสที่ความรู้ซึ่งถูกสร้างขึ้นจะได้รับใช้คนส่วนใหญ่ก็เป็นไปได้ยาก มีคนที่คิดถึงการเปิดโอกาสให้ชาวบ้านได้ทำการวิจัยด้วยตนเองมานานแล้ว แต่เท่าที่ผมทราบยังไม่ค่อยสัมฤทธิผลเท่าไร
ระเบียบวิธีวิจัยของชาวบ้านไม่ค่อยถูกใจด๊อกเตอร์ครับ
วิจัยไทบ้านของสมัชชาคนจนเป็นแบบอย่างของความสำเร็จที่ไม่ค่อยมีบ่อยนัก ผมคิดว่าหน่วยงานที่ส่งเสริมการวิจัยทั้งหลายควรใส่ใจกระบวนการวิจัยครั้งนี้ให้มาก จะส่งคนไปรวบรวมความรู้ กระบวนการจากนักวิจัยและผู้ช่วยนักวิจัยเพื่อการเรียนรู้ของตนเองได้ยิ่งดี
ส่วนหนึ่งของความสำเร็จของวิจัยไทบ้านในครั้งนี้ เกิดขึ้นจากการที่ชาวบ้านได้ตั้งคำถามการวิจัยตลอดจนนิยามคำถามนั้นด้วยตนเอง คำถามการวิจัยเป็นคำถามที่ชาวบ้านเองอยากได้คำตอบ ไม่ใช่คำถามที่ถูกนักวิชาการภายนอกนิยามให้ นอกจากนี้ชาวบ้านเป็นนักวิจัยเอง ไม่ได้เป็นผู้ช่วยนักวิจัยหรือผู้ให้ข้อมูลแก่นักวิชาการซึ่งมักจะฟันเงินนักวิจัยไปเป็นส่วนใหญ่
ความรู้ที่วิจัยไทบ้านสร้างสรรค์ขึ้นจากงานวิจัยชิ้นนี้ จึงมีลักษณะที่แตกต่างจากงานวิจัยทั่วไป ซึ่งมักเป็นความรู้ที่ได้จากการสังเกตการณ์ของคนภายนอก แต่วิจัยไทบ้านให้ข้อมูลและการวิเคราะห์จากภายใน
ใครอ่านก็จะได้กลิ่นอายและความรู้สึกอย่างนี้ชัดเจน และทำให้ผลการศึกษาของวิจัยไทยบ้านครั้งนี้แตกต่างจากกานวิจัยที่เราคุ้นเคยอย่างมาก แม้ว่าโดยแบบฟอร์มจะไม่ต่างกันก็ตาม