วิกฤติแม่น้ำของ(โขง) : เมื่อน้ำขึ้น - ลงไม่เป็นธรรมชาติ

fas fa-pencil-alt
สุมาตร ภูลายยาว-เครือข่ายแม่น้ำเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
fas fa-calendar
2539

ตลิ่งของสองข้างทางน้ำของ
แม้ยืนมองอยู่ยังคอตั้งบ่า
เขาหาบน้ำตามขั้นบันไดมา
แต่ตีนท่าลื่นลู่ดั่งทูเทียน
เหงื่อที่กายไหลโลมลงโทรมร่าง
แต่ละย่างก้าวยันสั่นถึงเศียร
อันความทุกข์มากมายหลายเล่มเกวียน
ก็วนเวียนอยู่กับของสองฝั่งเอย
“ นายผี ”

บทกวีดังกล่าวที่ยกมานั้นเป็นบทกวีของผู้เฒ่าคนหนึ่งที่มีโอกาสได้มายืนอยู่บนริมฝั่งของแม่น้ำสายประวัติศาสตร์สายหนึ่ง ในอดีตมันถูกขีดเส้นให้แบ่งความสัมพันธ์ของคนทั้งสองฝั่งออกจากกันโดยเงื่อนไขของความเป็นรัฐชาติสมัยใหม่ บทกวีดังกล่าวแสดงนัยยะของความจริงที่เกิดขึ้นบางอย่างให้คนที่ไม่เคยได้รับรู้ความเป็นไปของแม่น้ำสายนี้ได้รับรู้ “เขาหาบน้ำตามขั้นบันไดมา” คำที่ยกมานั้นแสดงให้เห็นว่าคนที่อาศัยอยู่ตามริมฝั่งแม่น้ำโขงได้พึ่งพาแม่น้ำสายนี้เป็นที่เลี้ยงชีวิตมาหลายอายุคน

รู้จักแม่น้ำโขง
แม่น้ำโขง (หรือ "ของ" ในภาษาท้องถิ่น) มีต้นกำเนิดจากภูเขาจี้ฟู ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของเทือกเขาหิมาลัยบนที่ราบสูงธิเบต เขตจังหวัดหยู่ซู่ มณฑลฉิงไห่ ประเทศจีน มีแม่น้ำจาคูและแม่น้ำอาคูไหลมารวมกัน คนจีนทั่วไปเรียกว่า “แม่น้ำหลานซาง” ซึ่งหมายถึงแม่น้ำที่ไหลเชี่ยวกราก แต่คนชนชาติลื้อในแคว้นสิบสองพันนาหรือสิบสองปันนาเรียกว่าแม่น้ำ “ล้านช้าง” แม่น้ำโขงไหลผ่าน 6 ประเทศ ได้แก่ จีน พม่า ลาว ไทย เวียดนาม และกัมพูชา และไหลออกสู่ทะเลจีนใต้ที่เวียดนาม มีความยาวทั้งสิ้น 4,909 กิโลเมตร มีความยาวเป็นอันดับ 10 ของโลก มีพันธุ์ปลาที่สำรวจพบ 1,245 ชนิด และมีพื้นที่ชุ่มน้ำ 795,000 ตารางกิโลเมตร แม่น้ำโขงตอนบนได้รับน้ำจากการละลายของหิมะเป็นส่วนใหญ่ ส่วนตอนล่างได้รับน้ำจากเทือกเขาต่าง ๆ ที่ไหลลงสู่แม่น้ำสาขาของแม่น้ำโขง

บริเวณประเทศไทยที่แม่น้ำสายนี้ไหลผ่านมีแม่น้ำสาขาที่ไหลลงสู่แม่น้ำสายนี้ดังนี้ ในภาคเหนือของไทยมีแม่น้ำกกและแม่น้ำอิง ในภาคอีสานมีแม่น้ำมูนและแม่น้ำสงคราม ในลาวมีแม่น้ำยอน แม่น้ำงาว แม่น้ำงึม แม่น้ำเทิน และแม่น้ำเซกอง ในกัมพูชามีโตนเลสาป หรือทะเลสาบเขมร ซึ่งต้นน้ำส่วนหนึ่งต่อเนื่องมาจากเทือกเขาสอยดาวฝั่งตะวันออกของจังหวัดจันทบุรี และในเวียดนามมีแม่น้ำเซซาน สำหรับผู้คนที่อาศัยอยู่ตามริมฝั่งแม่น้ำโขง แม่น้ำสายนี้เปรียบเหมือนเส้นเลือดหลักที่หล่อเลี้ยงชีวิตของพวกเขา ประชาชนในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มากกว่า 60 ล้านคน มีชีวิตผูกพันอยู่กับแม่น้ำสายนี้ ซึ่งเป็นทั้งแหล่งอาหาร แหล่งน้ำที่ใช้ทำการเกษตร การเดินทาง การขนส่ง ตลอดจนใช้ดื่มกิน และสันทนาการ

วงจรน้ำขึ้น-น้ำลงของแม่น้ำโขง
ระดับน้ำขึ้น–น้ำลงในแม่น้ำโขงจะแตกต่างกันระหว่างฤดูฝนและฤดูแล้งถึง 20 เมตร ส่งผลให้ชุมชนที่อยู่อาศัยตามริมฝั่งแม่น้ำมีวิถีการผลิตที่แตกต่างกันออกไปตามธรรมชาติน้ำขึ้น–น้ำลง ผู้คนที่อาศัยอยู่ตามริมฝั่งน้ำจะรู้และเข้าใจดีว่า ปลายเดือนพฤษภาคมถึงต้นเดือนมิถุนายนของทุกปีจะเป็นช่วงเวลาที่น้ำเริ่มขึ้นและมีระดับสูงขึ้นเรื่อยๆ จนถึงเดือนสิงหาคม เมื่อเดือนตุลาคมมาถึง น้ำจะเริ่มทรงตัวและเริ่มลดลงในเดือนพฤศจิกายน ขณะเดียวกันเดือนที่น้ำลดลงมากที่สุดก็คือเดือนเมษายนของทุกปี

มกราคม-กุมภาพันธ์ 2547 วิกฤติระดับน้ำในแม่น้ำโขง
มกราคม - กุมภาพันธ์ 2547 เป็นช่วงเวลาที่วิกฤติที่สุดของแม่น้ำโขง เพราะระดับน้ำในแม่น้ำโขงลดลงอย่างน่าใจหาย ระดับน้ำที่วัดที่สถานีอุทกวิทยาเชียงแสนเปรียบเทียบกันระหว่างต้นปีถึงวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2547 กับปี 2546 พบว่าระดับน้ำต่างกันมาก นายสมชาย พูนนิคม หัวหน้าศูนย์สำรวจอุทกวิทยาเชียงแสนกล่าวว่า “ระดับน้ำในแม่น้ำโขงจะลดลงจริง ๆ ก็ต้องเป็นเดือนเมษายนของทุกปี ซึ่งการลดลงของน้ำนั้นจะมีความแตกต่างกันอยู่ที่ประมาณ 1-2 เมตร แต่ในปีนี้น้ำกลับลดลงในเดือนกุมภาพันธ์ ระดับน้ำลดลงเหลือ 1.67 เมตรแล้ว ที่สถานีวัดระดับน้ำอำเภอเชียงของซึ่งเก็บสถิติของระดับน้ำในเดือนกุมภาพันธ์ช่วงต้นเดือนถึงกลางเดือนกุมภาพันธ์พบว่า ระดับน้ำตั้งแต่วันที่ 10–16 เฉลี่ยอยู่ที่ 0.90 ซึ่งไม่เคยเกิดเหตุการณ์เช่นนี้มาก่อนในประวัติศาสตร์”

สภาพวิกฤติของแม่น้ำโขงไม่ได้เกิดเฉพาะที่เชียงแสนและเชียงของเท่านั้น แต่ยังเกิดทางตอนล่างลงไป และยังส่งผลกระทบต่อระดับน้ำในแม่น้ำสาขา นายรัฐพล พิทักษ์เทพสมบัติ เจ้าหน้าที่ของ IUCN (สหภาพสากลว่าด้วยการอนุรักษ์) ซึ่งทำงานในพื้นที่จังหวัดนครพนมกล่าว่า “แม่น้ำโขงที่จังหวัดนครพนมก็ลดลงเช่นกัน ซึ่งในปีนี้ก็ลดลงกว่าปีก่อนมาก และเมื่อแม่น้ำโขงลดลงก็ส่งผลให้แม่น้ำสงครามซึ่งเป็นแม่น้ำสาขาของแม่น้ำโขงลดลงด้วย”

อะไรคือสาเหตุที่ทำให้แม่น้ำโขงวิกฤติ?
นักเอลนิโยนิยมบางคนระบุว่าเป็นเพราะภูมิอากาศเปลี่ยนแปลง น้ำโขงจึงแห้งเร็วกว่าปกติ แต่หากเราเข้าใจแม่น้ำโขงก็จะรู้ว่าน้ำโขงตอนบนส่วนใหญ่มาจากการละลายของหิมะ ยิ่งไปกว่านั้นเรายังต้องมองว่าจีนกำลังทำอะไรกับแม่น้ำโขงตอนบน

ปัจจุบันจีนได้สร้างเขื่อนเพื่อกั้นน้ำโขงเสร็จเรียบร้อยแล้ว 2 เขื่อน เขื่อนไฟฟ้าพลังน้ำมานวานซึ่งมีความสูง 126 เมตรสร้างเสร็จในปี พ.ศ.2539 เขื่อนไฟฟ้าพลังน้ำแห่งที่ 2 คือเขื่อนต้าเฉาชานก็สร้างเสร็จแล้วในปีที่ผ่านมา เขื่อนแห่งที่ 3 คือ เซี่ยวหวาน กำลังดำเนินการก่อสร้างอยู่ ซึ่งเป็นเขื่อนที่มีขนาดใหญ่ที่สุดสันเขื่อนสูงถึง 300 เมตร และเขื่อนล่าสุดคือ เขื่อนจินหง บริษัทจีนก็แอบก่อสร้างเงียบๆ ตั้งแต่ปลายปีที่แล้ว

ภายหลังที่ประเทศจีนได้สร้างเขื่อนแล้วเสร็จและเริ่มมีการกักน้ำและปล่อยน้ำเป็นช่วงเวลา ทำให้น้ำในแม่น้ำโขงที่เคยไหลอย่างอิสระกลายเป็นแม่น้ำที่ขึ้น–ลงไม่เป็นไปตามธรรมชาติ แต่เป็นไปตามความต้องการไฟฟ้า บางเดือนน้ำขึ้น 3 วัน น้ำลง 2 วัน บางเดือนน้ำลง 4 วัน น้ำขึ้น 2 วัน ทั้งที่แม่น้ำโขงไม่เคยเป็นเช่นนี้มาก่อน เพราะโดยปรกติน้ำจะค่อยๆ ลดลง และลดลงเต็มที่ในช่วงเดือนเมษายนจนถึงเดือนพฤษภาคมของทุกปีเท่านั้น

ในปี 2545 ที่แม่น้ำโขงบริเวณพรมแดนจีน-พม่า และพรมแดนพม่า-ลาว มีการระเบิดแก่งเพื่อการเดินเรือพาณิชย์ ซึ่งเป็นหนึ่งในโครงการที่ร่วมมือกันระหว่างรัฐบาลของทั้ง 4 ประเทศในนามของการพัฒนาสี่เหลี่ยมเศรษฐกิจ ทั้งการระเบิดแก่งและการสร้างเขื่อนในแม่น้ำโขงอาจจะเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้น้ำในแม่น้ำโขงลดลงก็เป็นได้

ผลกระทบจากการขึ้น–ลงของแม่น้ำโขงที่ไม่เป็นไปตามธรรมชาติ
เมื่อน้ำโขงขึ้น-ลงไม่เป็นไปตามธรรมชาติย่อมส่งผลให้หลายประเทศท้ายน้ำได้รับผลกระทบ ปลาที่เคยอาศัยอยู่ตามคก (ส่วนที่เว้าเข้าไปในตลิ่งเกิดเป็นแอ่งน้ำขนาดใหญ่และมีความลึกพอสมควรเป็นที่อาศัยของปลา) เมื่อคกแห้ง ปลาก็ไม่มี ไกซึ่งเป็นสาหร่ายน้ำจืดชนิดหนึ่งที่มีเฉพาะแม่น้ำโขง เกิดตามแก่งหินที่แดดส่องถึง หากน้ำลด ไกที่เกาะอยู่ตามแก่งหินก็หลุด และหากน้ำมามาก ไกก็หลุดเช่นกัน ไกจัดเป็นฐานเศรษฐกิจที่สร้างรายได้ให้กับครอบครัวโดยเฉพาะชาวเชียงของ เมื่อ 3-4 ปีก่อน ชาวเชียงของเคยเก็บไกได้ 3-4 เดือนในช่วงน้ำลง แต่ปัจจุบันนี้เพียงเดือนกุมภาพันธ์ไกก็เริ่มจะหมดแล้วเพราะน้ำขึ้น-ลงไม่เป็นไปตามธรรมชาติ

ระดับน้ำที่ขึ้น-ลงไม่เป็นธรรมชาติในปีนี้ ยังส่งผลให้ปริมาณปลาลดลง ทำให้คนทำการประมงพื้นบ้านในแม่น้ำโขงไม่สามารถที่จะจับปลาได้เหมือนก่อน นายสุขสันต์ ธรรมวงค์ คนหาปลาชาวบ้านหาดบ้ายกล่าวว่า “ปีนี้แม่น้ำโขงลดลงมากและปลาก็ไม่ค่อยมีเหมือนปีก่อน” เช่นเดียวกับคนหาปลาที่บ้านปากอิง ซึ่งเป็นจุดที่มีปลามากที่สุดในบริเวณนี้ ก็ได้ระบุตรงกันว่าปลาในปีนี้ลดลงกว่าครึ่งหนึ่ง หากเทียบกับ 4 ปีก่อน

ความเดือดร้อนนี้ก็ได้เกิดกับเรือท่องเที่ยวที่รับ–ส่งนักท่องเที่ยวที่ล่องเรือในแม่น้ำโขงเพื่อชมเกาะแก่งก็ได้รับผลกระทบจากน้ำขึ้น-ลงเช่นกัน เพราะในปีนี้ แม่น้ำโขงเกิดดอนทรายขึ้นมาใหม่เป็นจำนวนมาก ร่องน้ำที่เคยเดินเรือได้ก็เดินเรือไม่ได้อีกต่อไป โดยเฉพาะเรือท่องเที่ยวขนาดใหญ่ที่วิ่งจากห้วยทราย-บ่อแก้ว-หลวงพระบางก็ได้รับผลกระทบมากจากร่องน้ำลึกที่เปลี่ยนไป เรือบางลำก็จำเป็นต้องใช้ไม้ไผ่ลำยาววัดระดับน้ำก่อนเพื่อที่จะดูว่าร่องน้ำไหนที่เรือจะวิ่งไปได้

“อันความทุกข์มากมายหลายเล่มเกวียน ก็วนเวียนอยู่กับของสองฝั่งเอย” คำกล่าวนี้คงจะเป็นจริงเสียแล้ว เพราะในปี 2547 นี้ถือว่าเป็นปีที่แม่น้ำโขงเกิดวิกฤติอย่างหนักหน่วง เมื่อน้ำขึ้น–น้ำลงไม่เป็นธรรมชาติ ผลกระทบต่างๆ ไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะกับแม่น้ำเท่านั้น แต่ส่งผลต่อชีวิตที่อาศัยแม่น้ำอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ แล้วใครจะเป็นผู้เข้ามาแก้ไขวิกฤติที่เกิดขึ้นกับแม่น้ำโขงสายนี้ คนตัวเล็ก ๆ ที่อาศัยอยู่ตามลำน้ำแห่งนี้หรือจะเป็นผู้แก้วิกฤติด้วยตัวเอง แล้วแม่น้ำโขงจะวิกฤติไปอีกกี่ปี หรือว่าแม่น้ำสายใหญ่สายนี้จะถึงการล่มสลายเสียแล้ว แม่น้ำเพื่อชีวิตไม่ใช่เพื่อความตาย มิใช่หรือ?

เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง