วิพากษ์ มติ ครม.๘ สิงหาคม
กรณีมาตรการระยะยาวใน
การแก้ปัญหาเขื่อนรัฐบาลตบตาคนจนซ้ำซาก
หลังจากที่รัฐบาลทนต่อเสียงวิพากษ์วิจารณ์ว่ามติ ครม. วันที่ 25 กรกฎาคม 2535 แก้ปัญหาสมัชชาคนจนได้เพียง 15 กรณีจาก 16 กรณีได้ไม่นาน ในที่สุดวันที่ 8 สิงหาคม ครม. ได้นำข้อเสนอด้านมาตรการระยะยาวเข้าสู่การพิจารณา และมีมติรับมาตรการระยะยาว 6 ข้อของกลุ่มปัญหาเขื่อน ขณะที่มติ ครม. วันที่ 8 สิงหาคม 2543 ยังคงปฏิเสธการทบทวนมติ ครม. 30 มิถุนายน 2543 ซึ่งทำให้ไม่สามารถแก้ปัญหาป่าไม้ที่ดินได้เหมือนมติ ครม. 25 กรกฎาคม
สำหรับกลุ่มปัญหาเขื่อน มาตรการระยะยาวที่ ครม. มีมติเห็นชอบถูกนำมาอ้างว่า “รัฐบาลให้คนจนมากที่สุดแล้ว” เหมือนดังเช่นที่รัฐบาลเคยอ้างมาโดยตลอด
อย่างไรก็ตาม โดยข้อเท็จจริงแล้ว มติ ครม. 8 สิงหาคม ยังคงเป็นมติที่ไม่ได้แก้ปัญหาคนจน เพราะ ครม. นำเฉพาะรายงานสรุปของคณะกรรมการกลางเข้าสู่การพิจารณา โดยที่ไม่ได้นำสาระสำคัญซึ่งเป็นรายละเอียดและข้อเสนอรูปธรรมในการแก้ปัญหาเข้าพิจารณา บทความนี้ต้องการที่จะชี้และวิพากษ์สาระสำคัญที่รัฐบาลไม่ได้นำเข้าสู่การพิจารณา ซึ่งหากพิจารณามติ ครม. 8 สิงหาคมแล้ว มีรายละเอียดดังนี้:
1. หลักการร่วม
มติ ครม. วันที่ 8 สิงหาคม ไม่ได้ยอมรับหลักการร่วม 10 ข้อตามข้อเสนอมาตรการระยะยาวของคณะกรรมการกลาง ข้อ 1.1 สาระสำคัญของหลักการร่วมทั้ง 10 ข้อ สามารถสรุปได้ดังนี้:
- การชดเชยต้องคำนึงถึงการทำให้ผู้ได้รับผลกระทบมีวิถีการดำรงชีวิตใกล้เคียงกับที่เคยเป็นอยู่แต่เดิมมากที่สุด
- การอพยพโยกย้ายต้องทำให้วิถีชีวิตของชาวบ้านใกล้เคียงของเดิมมากที่สุด พร้อมทั้งให้หลักประกันทางอาชีพ และดูแลความเป็นอยู่ของชุมชนที่ได้รับผลกระทบ
- ยุติการสร้างเขื่อนขนาดใหญ่ทุกเขื่อนที่มีอยู่ในแผนจนกว่าจะมีการกำหนดมาตรการในการศึกษาผลกระทบและความคุ้มทุน และมาตรการในการพิจารณาอนุมัติโครงการที่รอบคอบและเป็นธรรมมากกว่านี้
- ฟื้นฟูอาชีพและวัฒนธรรมที่คำนึงถึงความเป็นพื้นที่สาธารณะที่ประชาชนสองฝั่งลำน้ำใช้ประโยชน์ร่วมกัน และไม่ยอมรับการศึกษาประเมินผลการฟื้นฟูอาชีพและวัฒนธรรมสำหรับเขื่อนที่สร้างแล้ว
- ให้ฝ่ายต่างๆ ของสังคมและผู้มีส่วนได้เสียเข้ามีส่วนร่วมในองค์กรบริหารจัดการ และในทุกขั้นตอนและกระบวนการพัฒนาโครงการ
- การศึกษาความเหมาะสมของโครงการต้องคำนึงถึงต้นทุนด้านสิ่งแวดล้อมและสังคม และแผนการแก้ไขผลกระทบของโครงการ
การไม่ยอมรับหลักการร่วมนี้เท่ากับว่ารัฐบาลไม่ยอมรับหลักการที่ว่าการสร้างเขื่อนจะไม่ทำให้ชีวิตของชาวบ้านผู้ได้รับผลกระทบเลวลง แต่จะทำให้ดีขึ้นหรืออย่างน้อยที่สุดก็เท่าเดิม ซึ่งมีนัยของการที่รัฐไม่ยอมรับหลักการที่ว่าการพัฒนาต้องยุติธรรมต่อผู้ที่ได้รับผลกระทบ
2. กลุ่มเขื่อนยังไม่สร้าง
ประการแรก ในประเด็นการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม มติ ครม. วันที่ 8 สิงหาคม ไม่ได้พิจารณามาตรการระยะยาวของคณะกรรมการกลางดังต่อไปนี้:
- การศึกษาความเหมาะสมของโครงการที่คำนึงถึงต้นทุนด้านสิ่งแวดล้อมและสังคม และแผนการแก้ไขผลกระทบของโครงการ
- การศึกษาหลายแนวทางสำหรับราษฎรผู้ได้รับผลกระทบ โดยเน้นถึงสภาพสังคมและมานุษยวิทยา ความคงอยู่ในสังคม ขนบธรรมเนียมประเพณี วิถีชีวิต และคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น โดยมองในรูปชุมชนไม่ใช่ปัจเจกชนแต่ละครอบครัว
- การศึกษาผลกระทบเบื้องต้นในโครงการพัฒนาแหล่งน้ำทุกประเภท แม้จะไม่อยู่ในข่ายที่ต้องดำเนินการตามกฎหมาย
- การเปลี่ยนแปลงระบบนิเวศและทรัพยากรที่มีผลต่อวิถีชีวิตของชุมชน ไม่ใช่ประเมินผลเชิงมูลค่าทางเศรษฐกิจเพียงอย่างเดียว
- การกำหนดมาตรการในการศึกษาความคุ้มทุนและผลกระทบของโครงการสร้างเขื่อนโดยให้มีการศึกษาจากหลายฝ่าย โดยเฉพาะการศึกษาของท้องถิ่นเพื่อเป็นการเปรียบเทียบและตรวจสอบ
- ให้ประชาชน โดยเฉพาะผู้ได้รับผลกระทบมีส่วนร่วมในกระบวนการศึกษาประเมินผลกระทบในทุกขั้นตอน และให้มีการเผยแพร่รายงานการศึกษาผลกระทบแก่ประชาชน
การไม่ยอมรับหลักการข้างต้นนี้ นอกจากการปฏิเสธการคำนวณต้นทุนทางสิ่งแวดล้อมและสังคมในการศึกษาความเหมาะสมโครงการแล้ว ยังเท่ากับปฏิเสธการศึกษาทางเลือกให้แก่ผู้ได้รับผลกระทบ การปฏิเสธที่จะทำรายงานการศึกษาผลกระทบเบื้องต้นแก่โครงการเขื่อนขนาดกลางหรือเล็ก ซึ่งตามหลักการสากลแม้โครงการเหล่านี้ไม่มีขนาดใหญ่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ทำรายงาน แต่ก็จำเป็นต้องมีการจัดทำรายงานผลกระทบเบื้องต้นเนื่องจากโครงการเหล่านี้ได้สร้างปัญหาผลกระทบทางสังคมและสิ่งแวดล้อมเช่นกัน
การปฏิเสธการให้ความสำคัญกับการเปลี่ยนแปลงระบบนิเวศและทรัพยากรที่มีผลต่อวิถีชีวิตของชุมชน ไม่ใช่ประเมินผลเชิงมูลค่าทางเศรษฐกิจเพียงอย่างเดียว
การไม่ยอมรับหลักการที่เสนอให้กำหนดมาตรการในการศึกษาความคุ้มทุนและผลกระทบของโครงการสร้างเขื่อน โดยให้มีการศึกษาจากหลายฝ่าย เท่ากับปิดโอกาสในการเปรียบเทียบและตรวจสอบรายงานซึ่งปัจจุบันนี้รายงานการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมนั้นล้วนแต่ผูกขาดโดยบริษัทที่ปรึกษาและว่าจ้างโดยเจ้าของโครงการ
ยิ่งไปกว่านั้น การไม่ยอมรับหลักการที่ให้ประชาชน โดยเฉพาะผู้ได้รับผลกระทบมีส่วนร่วมในกระบวนการศึกษาประเมินผลกระทบในทุกขั้นตอน และให้มีการเผยแพร่รายงานการศึกษาผลกระทบแก่ประชาชน ยังเท่ากับปฏิเสธการมีส่วนร่วมของประชาชน อันเป็นสิทธิที่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2540 ให้การรับรอง
ประการที่สอง ในเรื่องของการประเมินและชดเชยผลกระทบ มติ ครม. 8 สิงหาคม ได้ปฏิเสธหลักการการประเมินและการชดเชยผลกระทบ โดยปฏิเสธหลักการการชดเชยความสูญเสียทางเศรษฐกิจ รายได้ และทรัพยากรที่เป็นฐานชีวิตของชุมชนที่เกิดขึ้นในขณะนั้นและในอนาคต โดยรัฐยังยืนยันว่าให้เป็นไปตาม พ.ร.บ. ว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2530 ซึ่ง พ.ร.บ. ฉบับนี้ไม่ได้ให้ความยุติธรรมที่เพียงพอแก่ผู้ที่ถูกเวนคืน อีกทั้งยังไม่ยอมรับสิทธิตามประเพณีและสิทธิส่วนรวม (ใครที่เคยถูกเวนคืนก็จะรู้ซึ้งถึงกฎหมายนี้ดี ยกเว้นบรรดานายทุนที่ซื้อที่ดินเก็งกำไร)
ยิ่งไปกว่านั้น รัฐยังผลักภาระนี้ (หรืออีกนัยหนึ่งก็คือการท้าทาย) ให้ชาวบ้านไปฟ้องศาลปกครองเอาเอง หากไม่เห็นด้วยกับการจ่ายค่าชดเชย
หลักการสำคัญอีก 2 ประการที่เกี่ยวข้องกับการประเมินและชดเชยผลกระทบก็คือ การที่ ครม. ปฏิเสธ:
- ข้อเสนอกรณีการอพยพโยกย้ายผู้ได้รับผลกระทบที่ว่าเจ้าของโครงการต้องมีแผนการที่ชัดเจน และต้องจัดหาพื้นที่รองรับที่เหมาะสมกับการประกอบอาชีพ อันจะไม่ทำให้คุณภาพชีวิตด้อยลงไปกว่าที่เป็นอยู่เดิม ทั้งนี้ต้องเป็นไปตามความเห็นชอบของผู้รับผลกระทบ
- การที่รัฐไม่พิจารณาให้ตั้งกองทุนประกันความเสียหายเพื่อนำมาใช้ในการแก้ไขปัญหาผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นในอนาคตภายหลังการเปิดดำเนินโครงการ
ประการที่สาม ประเด็นการมีส่วนร่วม มติ ครม. 8 สิงหาคม มิได้พิจารณาข้อเสนอของคณะกรรมการกลางที่ระบุว่าให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการจัดทำและพิจารณารายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสังคมทุกขั้นตอน รวมทั้งไม่ได้พิจารณาข้อเสนอที่ระบุว่ากำหนดให้ประชาชนผู้ได้รับผลกระทบมีส่วนร่วมในการชดเชยผลกระทบในทุกขั้นตอน โดยการมีส่วนร่วมในกลไกและกระบวนการสำรวจความเสียหาย เช่น คณะกรรมการต่างๆ ที่ตั้งขึ้นเพื่อการดังกล่าวต้องมีองค์ประกอบที่มาจากประชาชนผู้ได้รับผลกระทบหรือผู้แทนที่ประชาชนผู้ได้รับผลกระทบแต่งตั้งขึ้นไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่ง
การปฏิเสธกระบวนการการมีส่วนร่วมของประชาชนในการประเมินและพิจารณารายงานนี้เท่ากับเป็นการปฏิเสธการมีส่วนร่วมของประชาชนในโครงการ อันเท่ากับว่าเป็นการขัดต่อรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย
สำหรับการปฏิเสธการมีส่วนร่วมในการชดเชยผลกระทบนั้น เท่ากับว่าในที่สุดแล้วการจ่ายค่าชดเชยก็ยังอยู่ในอำนาจของคณะกรรมการระดับจังหวัด ซึ่งเป็นกลไกที่ไม่เอื้อให้การจ่ายค่าชดเชยแก่ผู้ได้รับผลกระทบมีความยุติธรรม ยิ่งไปกว่านั้นกลไกคณะกรรมการระดับจังหวัดที่มีแต่ข้าราชการยังเอื้อให้มีการคอรัปชั่น ซึ่งปรากฏอยู่เสมอในการจ่ายค่าชดเชยกรณีเขื่อนที่ในที่สุดแล้ว เงินค่าชดเชยไม่ถึงมือชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบแต่กลับตกอยู่ในมือของนายทุนและข้าราชการประจำ
ประการที่สี่ ประเด็นด้านองค์กรการบริหารจัดการ มติ ครม. 8 สิงหาคม ไม่ยอมรับมาตรการระยะยาวในการแก้ปัญหาเขื่อนที่ยังไม่สร้าง โดยปฏิเสธข้อเสนอที่ว่า หน่วยงานที่รับผิดชอบดำเนินการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสังคมต้องไม่ใช่หน่วยงานที่จะสร้างโครงการนั้น และต้องมีตัวแทนของชาวบ้านในพื้นที่และองค์กรพัฒนาเอกชนเข้าร่วมเป็นกรรมการกำกับด้วย ให้ผู้ทรงคุณวุฒิในสถาบันการศึกษาในส่วนภูมิภาคนั้นๆ ร่วมเป็นคณะทีมงานศึกษา ในทางกลับกัน มติ ครม. กลับยืนยันให้เจ้าของโครงการเป็นผู้ว่าจ้าง
นอกจากนั้น ครม. ยังไม่ได้พิจารณาข้อเสนอของคณะกรรมการกลางที่เสนอว่า โครงการที่มีผลกระทบค่อนข้างรุนแรง ควรให้หน่วยงานกลางหรือองค์กรซึ่งเป็นที่ยอมรับของสังคมทำหน้าที่ในการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสังคม เพื่อเป็นการศึกษาเปรียบเทียบกับการศึกษาที่ได้ดำเนินการตามปกติ
การปฏิเสธหน่วยงานกลางทำหน้าที่กำกับการศึกษาผลกระทบและปฏิเสธตัวแทนของชาวบ้านและองค์กรพัฒนาเอกชนนี้ จึงเท่ากับว่ากระบวนการในการศึกษาผลกระทบยังคงเป็นกระบวนการเดิม นั่นก็คือ ไม่มีความเป็นอิสระและถูกผูกขาด โดยบรรดาบริษัทที่ปรึกษาที่ดำเนินธุรกิจด้านนี้เป็นการเฉพาะ การที่ให้เจ้าของโครงการว่าจ้างยังเท่ากับว่ารัฐยังไม่เปลี่ยนแปลงกระบวนการทำรายงานที่ทุกวันนี้มีการฮั้วกันระหว่างบริษัทที่ปรึกษากับเจ้าของโครงการ ซึ่งในที่สุดรายงานการศึกษาผลกระทบจะถูกจัดทำขึ้นเพื่อสนับสนุนมากกว่าที่จะประเมินอย่างอิสระและน่าเชื่อถือว่า เป็นรายงานที่มีการประเมินผลกระทบอย่างตรงไปตรงมา
นอกจากนั้นการปฏิเสธหน่วยงานกลางหรือสถาบันทางสังคมในการศึกษาผลกระทบทางสังคมและสิ่งแวดล้อมในกรณีโครงการที่มีผลกระทบค่อนข้างรุนแรงเพื่อเปรียบเทียบกับการศึกษาตามปกติ ยังเท่ากับว่าไม่เปิดโอกาสให้มีการตรวจสอบผลการศึกษาโดยการเปรียบเทียบ
ประการที่ห้า ประเด็นข้อเสนอด้านกฎหมายและนโยบาย มติ ครม. 8 สิงหาคม ไม่ได้พิจารณาทุกประเด็นที่เป็นสาระสำคัญได้แก่:
- การปฏิรูปกฎหมายและกฎระเบียบที่เกี่ยวข้องกับการชดเชยผลกระทบเพื่อให้การชดเชยครอบคลุมความเสียหายที่เกิดขึ้นจริงและมีความเป็นธรรมมากที่สุด
- หากอนุมัติให้มีการก่อสร้างโครงการ ต้องอนุมัติงบประมาณในส่วนที่เกี่ยวข้องกับมาตรการในการลดผลกระทบสิ่งแวดล้อมควบคู่กันไป
- กรณีโครงการขนาดกลางและเล็ก ต้องมีกระบวนการให้ข้อมูลที่แท้จริงแก่ประชาชนก่อนการตัดสินใจสร้างโครงการ โดยอาจนำขั้นตอนการศึกษาผลกระทบเบื้องต้นในการประเมินผลกระทบมาประยุกต์ใช้ ให้ประชาชนในชุมชนหรือผู้ได้รับผลกระทบมีส่วนร่วมในการตัดสินใจดำเนินโครงการ ให้ผู้ได้รับผลกระทบมีส่วนร่วมในการประเมินความเสียหายและการชดเชยผลกระทบในทุกขั้นตอน และมีการกระจายอำนาจการพิจารณาตัดสินใจว่าจะดำเนินโครงการหรือไม่ให้องค์กรท้องถิ่น
- กำหนดให้มีค่าชดเชยและค่าเสียโอกาสสำหรับผู้ได้รับผลกระทบจากการก่อสร้างแหล่งน้ำขนาดเล็ก
การปฏิเสธโดยไม่พิจารณาดำเนินการปฏิรูปกฎหมายและกฎระเบียบที่เกี่ยวข้องกับการชดเชยผลกระทบเพื่อให้การชดเชยครอบคลุมความเสียหายที่เกิดขึ้นจริงและมีความเป็นธรรมมากที่สุดนั้น เท่ากับว่ารัฐไม่ได้มีความจริงใจในการแก้ปัญหาในเชิงนโยบายเพื่อให้ผู้ได้รับผลกระทบได้รับความยุติธรรมจากการดำเนินโครงการสร้างเขื่อน
นอกจากนั้น รัฐก็ยังไม่เปลี่ยนนโยบายในการสร้างเขื่อนขนาดกลางและเล็ก โดยไม่ยอมรับหลักการการประเมินผลกระทบเบื้องต้นซึ่งเป็นหลักการสากล เนื่องจากเป็นที่ยอมรับกันทั่วไปว่าโครงการขนาดกลางและเล็กสร้างผลกระทบเช่นกันดังนั้นจึงควรมีการประเมินผลกระทบเบื้องต้นด้วย ยิ่งไปกว่านั้นยังปฏิเสธการมีส่วนร่วมของชุมชนและผู้ได้รับผลกระทบทั้งๆ ที่ผ่านมาโครงการเหล่านี้มักอ้างความต้องการของราษฎร
3. กลุ่มเขื่อนที่สร้างแล้ว
มติ ครม. 8 สิงหาคม ไม่ได้พิจารณาข้อเสนอด้านมาตรการระยะยาวของคณะกรรมการกลาง ได้แก่:
- ให้ทำการประเมินผลโครงการ (Post Project EIA) โดยเป็นการประเมินในลักษณะการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมที่พิจารณาทั้งทางด้านเศรษฐศาสตร์ วิศวกรรม สังคม และสิ่งแวดล้อม พร้อมกับกำหนดมาตรการและวิธีการแก้ไข โดยใช้หลักการและวิธีการตามข้อเสนอเรื่องการศึกษาผลกระทบในเขื่อนที่ยังไม่ได้ดำเนินการก่อสร้าง
- จากผลการดำเนินการข้อ 1 ให้กำหนดแผนงานและมาตรการเพื่อดำเนินการฟื้นฟูทรัพยากร ธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม และสภาพความเป็นอยู่ของผู้ได้รับผลกระทบจากโครงการสร้างเขื่อน หากผลการศึกษาดังกล่าวยืนยันว่าผู้รับผลกระทบจากการสร้างเขื่อนมีสภาพความเป็นอยู่แย่กว่าที่เคยเป็นอยู่เดิมก่อนการสร้างเขื่อน ทั้งนี้เป็นไปตามสภาพความสูญเสียที่เกิดขึ้นจริง และอาศัยกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชน
- โครงการใดที่ผลการประเมินออกมาในทางลบมากๆ อาจจะพิจารณาให้ยกเลิกโครงการนั้น และหากโครงการใดไม่ได้รับประโยชน์ตามที่ได้ตั้งไว้วัตถุประสงค์ไวให้กำหนดมาตรการและการดำเนินงานให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์
- ให้มาตรการตามข้อเสนอข้างต้นเป็นสิ่งที่ต้องดำเนินการตามกฎหมาย
การปฏิเสธไม่พิจารณามาตรการระยะยาวกลุ่มเขื่อนที่สร้างแล้วตามข้อเสนอของคณะกรรมการกลางเท่ากับว่ารัฐบาลไม่ยอมรับหลักการของการประเมินผลโครงการซึ่งเป็นหลักการบริหารราชการแผ่นดินที่ปกติแล้วรัฐจะต้องดำเนินการอยู่แล้ว ไม่เฉพาะแต่โครงการเขื่อนเท่านั้น แต่รวมถึงโครงการอื่นๆ โดยทั่วไป
การไม่ยอมรับการประเมินโครงการเขื่อนที่สร้างไปแล้วจึงเท่ากับว่ารัฐได้ปกปิดข้อมูลข้อเท็จจริงต่อสาธารณะ หรือไม่ก็เป็นเพราะรัฐกลัวความจริงที่ว่าโครงการเขื่อนนั้นโดยส่วนใหญ่แล้วไร้ประสิทธิภาพ ไม่บรรลุวัตถุประสงค์ หรือไม่เป็นไปตามวัตถุประสงค์ที่วางไว้ และหลายโครงการควรที่จะยกเลิกด้วยซ้ำไป
ความจริงแล้ว หลักการประเมินผลโครงการนั้น เป็นหลักการที่เป็นที่ยอมรับโดยสากล แม้แต่ธนาคารโลกเองก็ยังมีการประเมินผลโครงการเขื่อนที่ธนาคารสนับสนุนเงินกู้
การไม่พิจารณามาตรการระยะยาวของกลุ่มเขื่อนที่ให้ประเมินผลโครงการยังเท่ากับว่ารัฐไม่ได้แสดงความรับผิดชอบต่อประชาชนผู้รับผลกระทบ ซึ่งปรากฏชัดว่าผู้ได้รับผลกระทบจากการสร้างเขื่อนทุกเขื่อนที่ผ่านมาล้วนแต่มีสภาพความเป็นอยู่แย่กว่าที่เคยเป็นอยู่เดิมก่อนการสร้างเขื่อน ซึ่งตรงกันข้ามกับคำกล่าวของรัฐและนักสร้างเขื่อนที่กล่าวอยู่เสมอว่า “การสร้างเขื่อนจะไม่ทำให้ชาวบ้านผู้ได้รับผลกระทบจะมีชีวิตที่ดีขึ้นหรืออย่างน้อยที่สุดก็เท่าเดิม”
การที่รัฐไม่ให้ความสำคัญกับชาวบ้านผู้ได้รับผลกระทบนี้ สะท้อนให้เห็นอย่างชัดเจนว่าคำกล่าวข้างต้นนั้นเป็นเพียงโวหารที่ไม่มีวันที่จะเกิดขึ้นจริง
คำถามก็คือว่า เขื่อนที่รัฐอ้างว่าสร้างขึ้นเพื่อการพัฒนานั้น ได้เคารพสิทธิของผู้ได้รับผลกระทบและตระหนักถึงความยุติธรรมในการใช้ทรัพยากรหรือไม่ อย่างไร?