วิถีแห่งป่าของคนอยู่ป่า
เสียงสุนัขเห่าดังขรมตั้งแต่ปากทางเข้าหมู่บ้าน เมื่อรถกระบะแปลกหน้าของพวกเราโผล่มา เข้ามาพร้อมฝุ่นตลบ ก่อนจอดลงตรงลานกลางหมู่บ้าน
“ โอ้!! มายังไงนี่หน่อหวะพอ นึกว่าจะไม่ได้เจอกันอีกแล้ว ขึ้นบ้านก่อน”
พะตีนุ ชำนาญคีรีไพร พ่อหลวงบ้านแม่ก๋อนกล่าวต้อนรับ พลางเรียกลูกๆ มาช่วยกันขนของที่พวกเราบรรทุกมาเต็มรถ วันนี้พวกเรามาทำงานวิจัยไทบ้าน : ภูมิปัญญาสาละวิน ร่วมกับชาวบ้านที่บ้านแม่ก๋อน หมู่บ้านชาวไทยเชื้อสายกะเหรี่ยง หมู่บ้านเล็กๆ ริมห้วยแม่ก๋อน ห้วยสาขาของแม่น้ำสาละวิน จังหวัดแม่ฮ่องสอน ห่างจากตัวอำเภอแม่สะเรียงเข้ามาในป่าราว ๓ ชั่วโมงโดยถนนลูกรังในหน้าแล้ง ส่วนหน้าฝนการเดินทางบนถนนสายนี้ต้องใช้รถมอเตอร์ไซค์และเดินเท้าเท่านั้น
“ พวกเราจะขอมาอยู่บ้านพะตีซักสามสี่วันนะคะ”
“ เอาเลย เอาเลย ตามสบาย แต่ช่วงนี้แล้ง น้ำห้วยน้อยหน่อย อาบน้ำในห้วยนี่แหละเน่อ เดี๋ยวออกไปดูเขตอนุรักษ์ปลาสิ หยะโพพะโด่ ปแกทีโกล้ะปู– ปลาตัวใหญ่ๆ มีอยู่เต็มเลย ดูได้แต่ห้ามจับกินหนา จับกินถูกปรับตัวละห้าร้อย...” พ่อหลวงนุวันนี้ยังอารมณ์ดีเหมือนเคย
ลูกสาวคนเล็กของพ่อหลวงชวนเราออกไปฝัดข้าวที่ลำห้วย เด็กหญิงตัวน้อยยืนถือกระด้งอันใหญ่ฝัดข้าวอยู่ริมห้วย ลมพัดเอารำข้าวร่วงลงบนผืนน้ำ ปลาในห้วยตัวใหญ่จำนวนมากที่หลบอยู่ใต้แก่งหินพากันออกมาฮุบกินรำข้าวอย่างสนุกสนาน ปลาพวกนี้ตัวใหญ่มากสำหรับลำห้วยเล็กขนาดกว้างเพียงสองเมตรในหน้าแล้ง
“ พ่อหลวงกับชาวบ้านช่วยกันทำเขตอนุรักษ์มาหลายปีแล้ว เขตยาวประมาณ ๒๐๐ เมตร ตั้งแต่วัดหน้าหมู่บ้านยาวลงไปถึงโรงเรียนสุดหมู่บ้านโน่น ไม่ให้ชาวบ้านจับปลาเลยในเขตนี้” สะท้าน ชีววิชัยพงษ์ หนุ่มกะเหรี่ยงเจ้าถิ่นเล่า “ หน้าฝนห้วยใหญ่กว่านี้มาก น้ำเอ่อขึ้นมาเกือบถึงบ้านเลยนะ น้ำพัดแรงแต่พวกปลามันก็อยู่ของมัน ไม่ไปไหน เหมือนมันรู้ว่าที่นี่ปลอดภัย”
ช่วงนี้ชาวบ้านถางไร่เสร็จแล้ว รอฝนลงเดือนหน้าก็ไปหยอดเมล็ดข้าว ช่วงนี้ชาวบ้านจึงไม่ยุ่งมากนัก มีเพียงเตรียมเมล็ดพันธุ์ให้พร้อมสำหรับการเพาะปลูกครั้งใหม่
วันรุ่งขึ้นพ่อหลวงให้พะตีพะเส่พือพาเราเดินดูป่าตามห้วยไปที่บ้านแม่สะบา หย่อมบ้านที่อยู่ถัดไป “ อยู่ในเมืองนั่งรถจนเดินบ่ได้แล้วก๊า ออกไปเดินดูป่าเน่อวันนี้ แล้วค่อยปิ้กมาคุยกัน” พะตีนุยืนส่งเราอยู่หน้าบ้าน
“ ไกลมั้ยพะตี ไปนอนค้างเลยดีมั้ยคะ ? ”
“ บ่ไกล๋...“ พะตีลากเสียงยาวนัยว่าไม่ไกลจริงๆ “ เดินกำเดียวก็ถึง เดินไปถึงบ้านแม่สะบาแล้วกลับมานอนที่นี่แหละ ห่อข้าวไปกินด้วย”
ลำห้วยใสไหลเอื่อยตามร่องหิน ฤดูแล้งแบบนี้ต้นไม้พากันผลัดใบ มองไปทางไหนก็แห้งไปหมดแทบทั้งป่า แต่ก็เป็นช่วงเวลาที่ดีที่สุดในการหา “ น้ำผึ้งเดือนห้า”
“ ช่วงนี้กะแนจอ– น้ำผึ้งเยอะ อร่อยที่สุดก็น้ำผึ้งหน้าแล้งนี่แหละ ดอกไม้ป่าแล้งออกเยอะ ผึ้งก็มีน้ำหวานกิน” พะตีเล่า “ น้ำผึ้งป่าที่นี่ของดี มีคนแม่สะเรียงเข้ามาซื้อบ่อยๆ เอามอเตอร์ไซค์เข้ามารับซื้อเข้าไปถึงบ้านแม่สะบาโน่น”
ว่าแล้วก็ได้ยินเสียงมอเตอร์ไซค์สองคันดังแผดมาจากทางต้นน้ำ สองพ่อค้าเข้ามารับซื้อน้ำผึ้ง เตรียมแกลอนเปล่ามาเต็มหลังรถมอเตอร์ไซค์
“ น้ำผึ้งบ่มีแล้วก้า ตะวาก็เพิ่งมีคนมาซื้อ” พะตีกล่าวกับพ่อค้าสองนักบิดผู้ทุ่มเทแรงกายแรงใจบุกป่าฝ่าสายน้ำเข้ามาซื้อน้ำผึ้งถึงในหมู่บ้าน
“ ลองเข้าไปดูก่อน อาจจะหาได้อีกก็ได้” คนหนึ่งกล่าวพร้อมพารถไต่ทางวิบากตามลำห้วยไปอย่างไม่ยอมสิ้นหวัง!
จากหมู่บ้านออกมา มีที่ราบริมห้วยแคบๆ บ้างเป็นที่นา และที่สวนของชาวบ้าน พวกเราพากันเดินลัดเลาะลำห้วยไปเรื่อยๆ เมื่อเห็นพวกเราบางคนเหนื่อยและร้อน พะตีก็พาไปกินน้ำซับจากบ่อทรายใสแจ๋วริมห้วย น้ำแร่ธรรมชาติจากแหล่งผลิตของแท้ ! เราพากันนั่งที่ใต้ร่มต้นมะขามป้อม “ เก็บมะขามป้อมกินก่อน ชุ่มคอดี จะได้ไม่เหนื่อย”
มะขามป้อมลูกกลมๆ รสเปรี้ยวๆ ฝาดๆ แต่อมไว้แล้วกลับหวานขึ้นเรื่อยๆ ในคอ
“ ตรงนี้มีม้อเค้– โป่งดิน เป็นโป่งอ้น เรียกว่าค้ออะม้อ มีตัวอ้น สัตว์เล็กสัตว์น้อยมากินดินที่นี่” พะตีชี้ให้ดูรูเว้าเข้าไปในดินริมตลิ่งน้ำใกล้กับต้นมะขามป้อม “ เดี๋ยวจะพาไปดูที่อื่นอีก”
ตลอดช่วงเช้า พวกเราเดินข้ามห้วยครั้งแล้วครั้งเล่า พอนั่งพักริมฝั่งน้ำก็เห็นดอกไม้ป่าหน้าแล้งกลีบเบาหวิวร่วงลงสู่ผิวน้ำ ลอยตามน้ำไปติดรวมกันอยู่ที่แก่งหิน จิงโจ้น้ำดีดตัวช้าๆ อยู่บนผิวน้ำใสแจ๋ว น้ำนิ่งๆ แบบนี้ดูมันช่างขี้เกียจเหลือเกิน เจ้าแมลงน้อย
เราเดินลัดจากห้วยขึ้นไปบนดอย เดินลงสู่ที่ราบเล็กๆ โอบล้อมด้วยภูเขา
“ ตรงนี้เรียกว่าม้อบือมี หน้าฝนน้ำจากห้วยจะเข้ามาขังเป็นหนองน้ำ มีข้าวป่าขึ้น ข้าวป่าเม็ดเล็กๆ หางยาวๆ คนไม่กินแต่นกมากิน เมื่อก่อนที่ป่าใหญ่มีกระทิงเยอะ กระทิงก็ลงมาที่นี่ทุกปี”
พะตีเล่าเพิ่มเติมว่าพื้นที่ชุ่มน้ำแห่งนี้ยังเป็นแหล่งหาปลายามหน้าฝน เพราะมีปลาจากห้วยมาอาศัยอยู่มากมาย ในบริเวณหนองน้ำ ซึ่งบัดนี้เหือดแห้งตามฤดูกาล มีต้นไม้ใหญ่กำลังออกดอกสีแดงฝอยตามกิ่งก้าน
“ อันนี้ชื่อต้นสะเจ้หน่า เปลือกนี่กินแก้ท้องเสีย ดอกสีแดงเอาไปจิ้มน้ำพริก อร่อย” พี่สะท้านเล่าพลางก้มเก็บดอกสีแดงใส่เต็มย่าม “ เอาไปกินเย็นนี้”
พะตีพาเราออกเดินต่อ แต่คราวนี้พาขึ้นดอย เลาะสันดอยเตี้ยๆ ผ่านป่าที่กำลังผลัดใบ ไม่นานเราก็มาถึง ม้อแม่สะบา – โป่งแม่สะบา โป่งที่สำคัญที่สุดแห่งหนึ่งในป่าสาละวินอันกว้างใหญ่
โป่งแห่งนี้เป็นโป่งน้ำซับ มีโป่งนกอยู่ด้านล่าง เมื่อเราเดินเหยียบใบไม้เข้าไปใกล้ๆ เสียงดังกรอบแกรบ นกฝูงใหญ่ที่กำลังกินน้ำก็กระพือปีกบินขึ้นสู่ฟ้า ถัดขึ้นมาอีกนิดเป็นโป่งสัตว์ป่า มีน้ำซึมออกมาจากพื้นเป็นทางยาวหลายเมตร ล้อมรอบด้วยใบบอน ขณะที่รอบๆ โป่งมีใบไม้แห้งกรอบปกคลุมอยู่ทั่ว
พะตีชี้ให้เราดูรอยตีนกระทิงที่เพิ่งเข้ามากินน้ำที่โป่ง “ รอยนี่ยังใหม่ๆ อยู่เลย คงจะลงซักตะวา วานซืนนี่แหละก้า” รอบๆ บริเวณโป่งยังมีรอยเท้าสัตว์อื่นๆ ให้เห็นอีก เช่น เก้ง
พะตีรอเราถ่ายรูปเรียบร้อยแล้วจึงชวนออกเดินทางต่อ โดยปฏิเสธไม่ยอมตอบคำถามใดๆที่เราพากันถามเกี่ยวกับโป่งแห่งนี้ บอกเพียงว่า “ เดี๋ยวเย็นนี้กลับถึงหมู่บ้านค่อยเล่าให้ฟัง”
หลังจากไปเยี่ยมเยียนชาวบ้านที่บ้านแม่สะบาแล้ว เย็นนั้นเราเดินท่องน้ำกลับถึงบ้านแม่ก๋อนด้วยสภาพเหมือนกลับจากรบ เหนื่อยและหิว อาหารเย็นฝีมือเมียพะตีนุช่างอร่อยเหลือเกิน
ค่ำคืนในบ้านป่า เคียวเกี่ยวฟ้ากำลังจะลาลับยอดไม้ เรานั่งล้อมวงคุยกับชาวบ้าน ทั้งผู้เฒ่าผู้แก่ คนหนุ่มสาว และเด็กน้อย แทบทุกคนใส่เสื้อกะเหรี่ยงที่ทอกันเอง
“ ป่าสาละวินนี่มีสัตว์เยอะ เสือ กระทิง หมี หมาป่า เก้ง สัตว์พวกนี้ไม่มีประเทศ เป็นสัตว์ไร้สัญชาติ ว่ายข้ามน้ำสาละวินหากินทั้งฝั่งไทย ฝั่งพม่า อย่างกระทิงนี่ลงมากินโป่งที่แม่สะบาทุกปี เดี๋ยวนี้ก็ยังมา” พะตีนุเล่า
คำว่าม้อ ในภาษากะเหรี่ยง แปลได้ว่าโป่ง หรืออีกความหมายแปลว่าป่าช้า เป็นแหล่งแร่ธาตุอาหารของสัตว์ป่า ซึ่งจะลงมากินโป่งเสมอตลอดทั้งปี
“ ชาวบ้านในป่าเชื่อว่าทุกๆ ที่ในป่ามีเจ้าของรักษาอยู่ โป่งก็มีเจ้าของ สัตว์ป่าที่ลงมากินโป่งทุกตัวเป็นสัตว์เลี้ยงของเจ้าของโป่ง เหมือนกับที่ชาวบ้านเลี้ยงวัวเลี้ยงควาย ชาวบ้านไม่มีสิทธิไปซุ่มยิงสัตว์ที่โป่งเด็ดขาด แค่คิดจะไปยิงก็ไม่ได้ ถ้ายิงได้ สัตว์ตาย คนยิงก็ตาย!”
ชาวบ้านเชื่อว่าหากโป่งไม่มีเจ้าของก็จะไม่มีสัตว์ป่าลงมากิน เจ้าของโป่งแปลงร่างได้หลายอย่าง เป็นสัตว์ คน และอื่นๆ เพื่อคุ้มครองโป่ง ไม่ให้คนเข้ามายิงสัตว์ป่าในเขตโป่ง
“ เคยมีชาวบ้านเดินผ่านโป่งตอนกลางคืน เห็นเจ้าของโป่งมี ๓ ตา ตาที่ ๓ อยู่ตรงหน้าผาก เป็นไฟสีเขียว เดินไปมาแถวๆ โป่ง” คำบอกเล่าจากคนเฒ่าคนแก่ ทำเอาคนฟังจากต่างถิ่นอย่างพวกเราขนหัวลุก
สำหรับชาวบ้านในป่า เขตโป่งถือเป็นเขตหวงห้าม สร้างบ้านใกล้ๆ ไม่ได้ เคยมีพระจากแม่สะเรียงไปสร้างกุฏิอยู่ใกล้ๆ โป่ง ไม่นานพระก็ล้มเจ็บ ต้องย้ายออกไป จะซุ่มยิงสัตว์ที่โป่งไม่ได้
“ เคยมีชาวบ้านไปทำห้างซุ่มยิงสัตว์ที่โป่งแม่สะบา ที่เจ้าที่แรงมากที่สุด กลางคืนกำลังเฝ้ายิงสัตว์ ก็มองเห็นงูเลื้อยขึ้นมาบนห้าง เลยเอามีดฟัน แต่กลายเป็นว่าฟันตอกมัดห้าง เลยตกลงมาตาย อีกคนก็กำลังซุ่มที่โป่ง ก็มีผู้หญิงสาวชวนลงมากินหมากด้วยกันข้างล่าง แต่เขาไม่ยอมลงมา จนเช้า ลงมาข้างล่างก็เห็นรอยเท้าเสือเดินวนเวียนไปมา”
“ คนสุดท้ายที่รอดกลับมา ไปทำห้างที่โป่ง คืนนั้นตอนเฝ้าโป่ง มีผู้หญิงเดินมาบอกว่าให้กลับบ้าน ลูกตายแล้ว เขาไม่เชื่อ เพราะคิดว่าต้องเป็นเจ้าของโป่งมาหลอกแน่ๆ อีกสักพักผู้หญิงคนเดิมก็มาบอกอีกว่าเมียตาย ให้กลับไปดูที่บ้าน เขาก็ยังไม่เชื่อ อีกพักนึงก็มีชาย ๔ คนหามแคร่ต่างศพลูกและเมียเดินมา บอกว่าให้ลงมาดู แต่เขาก็ไม่ยอมลงจากห้าง เอาปืนยิงไปที่แคร่ เลยเห็นว่าเป็นเสือ ผู้ชาย ๔ คนก็คือขา ๔ ข้าง จนเช้าลงมาก็กลับเข้าหมู่บ้านแล้วเล่าให้ชาวบ้านฟัง คนนี้เป็นรายสุดท้ายที่รอดกลับมา จากนั้นก็ไม่มีชาวบ้านคนไหนไปเฝ้าโป่งอีกเลย”
การห้ามยิงสัตว์ในบริเวณโป่ง จึงเป็นความเชื่อที่ชาวบ้านในแถบนี้ถือปฏิบัติอย่างเคร่งครัด ขนาดพวกเรามาจากในเมือง มาได้ยินแบบนี้ยังกลัวจนน้ำตารื้น
นอกจากโป่งแล้ว ยังมีต้นไม้ใหญ่บางชนิด ที่เมื่อออกผล ผลจะร่วงหล่นลงพื้นดิน มีสัตว์ป่าหลายชนิดมากิน ชาวบ้านเชื่อว่าต้นไม้ใหญ่เหล่านี้มีเจ้าของเช่นเดียวกับโป่ง ห้ามเฝ้าและห้ามยิงสัตว์ที่มากินผลไม้บริเวณต้นไม้เหล่านี้เด็ดขาด ต้นไม้เหล่านี้มีอาทิ สะค้อสะ -มะม่วง สะปีโต๊ – มะกอกป่า และ สิย้าสะ – มะขามป้อม
สำหรับชาวบ้านกะเหรี่ยง มีสัตว์ป่าหายากหลายชนิดที่ห้ามยิงเด็ดขาดไม่ว่าจะพบที่ใด เช่น กระทิง กวางผา นกเงือก ชะนี แต่สัตว์บางชนิดก็อนุญาตให้กินได้ เช่น หมูป่า “ หมูป่ามันมีเยอะ ออกลูกทีละแปด-เก้าตัว ถ้ามีเยอะเกินก็มากินข้าว กินผักในไร่เสียหาย ต้องจับมากินบ้าง” พะตีนุว่า
ที่ป่าบ้านแม่ก๋อน ชาวบ้านยังช่วยกันทำเขตป่าอนุรักษ์ ห้ามตัดไม้เด็ดขาด แต่เก็บผัก เก็บเห็ด เก็บยาสมุนไพรมาใช้ได้
วงคุยคืนนี้จบลง ชาวบ้านจุดไต้ส่องทางเดินกลับบ้านกันหมดแล้ว ลมเย็นจากชายป่าพัดกรูลอดช่องไม้เข้ามาในบ้าน พวกเรานอนขดเบียดกันแน่นแม้อากาศจะไม่หนาว อันเป็นผลจากเรื่องโป่งที่ได้ยินมาหมาดๆ
ความเชื่อแบบนี้เอง ที่ช่วยรักษาทรัพยากรสัตว์ป่าในป่าสาละวินไว้
สำหรับคนบ้านป่าสาละวิน ทุกๆ สรรพสิ่งล้วนมีเจ้าของ ชาวบ้านจึงใช้ป่าอย่างเคารพ และรู้รักษา เพื่อให้ทุกๆ คนในชุมชนได้มีกินตลอดไป ดังคำสอนของผู้เฒ่ากะเหรี่ยงที่สอนลูกหลานว่า
อ่อเดะต่อเบะอ่อดิ๊ซอ อ่อแดวะต่อเบะอ่อดิ๊ซอ
ได้เขียดตัวหนึ่งกินด้วยกัน ได้ตั้กแตนตัวหนึ่งก็กินด้วยกัน
ต่าชิอ่อปิ ต่าโดะ อ่อนอ
มีน้อยให้จิ้มกินด้วยกัน มีมากให้แบ่ง