อาวุธสงครามที่เรียกว่าเขื่อนสาละวิน

fas fa-pencil-alt
อาทิตย์ ธาราคำ
fas fa-calendar

“หากมีสงคราม ดอกไม้ยังคงหลบซ่อนได้ในป่า แต่ถ้าน้ำสาละวินท่วมแผ่นดิน ดอกไม้ก็คงไม่มีที่ซ่อนอีกต่อไป”

จากเพลง “As long as the Salween Flows” ของวง Salween Angles

ทันทีที่กระทรวงพลังงาน และการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) แถลงข่าวเรื่องการลงนามร่วมกับบริษัทไซโนไฮโดร (Sino Hydro) รัฐวิสาหกิจด้านพลังงานยักษ์ใหญ่ของจีน ในการร่วมทุนสร้างเขื่อนแห่งแรกบนแม่น้ำสาละวินในพม่า ที่ฮัตจี รัฐกะเหรี่ยง ความกังวลใจก็เข้าปกคลุมชุมชนลุ่มสาละวิน รวมทั้งผู้ที่ติดตามเรื่องนี้

กว่า 4 ปีแล้วที่ กฟผ. ผลักดันโครงการเขื่อนสาละวินอย่างหนัก โดยช่วงแรกเน้นที่เขื่อนสาละวินชายแดนไทย-พม่า ด้านจังหวัดแม่ฮ่องสอน เพราะพื้นที่โครงการตั้งอยู่ระหว่างชายแดน สามารถเข้าถึงได้จากทั้ง 2 ประเทศ แต่เมื่อปลายปีที่ผ่านมา กฟผ.กลับลงนามกับรัฐบาลทหารพม่าในการสร้างเขื่อนแห่งแรกที่ฮัตจี ในรัฐกะเหรี่ยง โดยระบุว่ารัฐบาลพม่าเป็นผู้เลือกเพราะเป็นพื้นที่ที่เหมาะสมที่สุด ซึ่งรายงานข่าวระบุว่าจะเริ่มก่อสร้างภายในปลายปีนี้

กระบวนการตัดสินใจที่รวบรัดและไม่เคยมีการเปิดเผยข้อมูลแก่สาธารณะก่อนการดำเนินการ ทำให้เกิดข้อสังเกตว่าโครงการเขื่อนขนาด 38,000 ล้านบาท ทำไมต้องรีบขนาดนี้? และทำไมต้องสร้างในรัฐกะเหรี่ยง?

การตัดสินใจสร้างเขื่อนสาละวินที่ฮัตจี ประจวบเหมาะกับสถานการณ์สงครามในรัฐกะเหรี่ยงที่รุนแรงที่สุดครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์ จนเหมือนกับว่ากองทัพพม่าจงใจใช้ “เขื่อน” ในฐานะ ”โครงการพัฒนา” เป็นอาวุธชิ้นใหญ่ที่จะทำลายชนกลุ่มน้อยให้ราบคาบไป เหมือนกับที่รัฐบาลหลายประเทศเคยใช้มาแล้ว

นับตั้งแต่ปลายปี 2548 กองทัพพม่าเปิดศึกครั้งใหญ่ที่สุดในรอบ 10 ปี ในรัฐกะเหรี่ยง โดยเฉพาะเขตทางตอนบนไม่ไกลจากเมืองหลวงแห่งใหม่ที่ปินมะนา มีรายงานว่าประชาชนอย่างน้อย 16,000 คนต้องกลายเป็นผู้พลัดถิ่น เนื่องจากหมู่บ้านถูกเผาทำลายโดยทหารพม่า ชาวบ้านจำนวนหนึ่งสามารถเอาชีวิตรอดมาถึงริมแม่น้ำสาละวิน ข้ามมาอาศัยในค่ายผู้ลี้ภัยที่ อ.สบเมย ส่วนหนึ่งอาศัยอยู่ในค่ายพักพิงชั่วคราวซึ่งดูแลโดยหน่วยงานบรรเทาทุกข์ภายใต้กองกำลังกู้ชาติกะเหรี่ยง และชาวบ้านที่เหลือจำนวนมากยังคงหลบซ่อนตัวอยู่ในป่า

“ริมสาละวินที่ชายแดนนี่ปลอดภัยที่สุดแล้ว แต่ถ้าพม่าจะมาสร้างเขื่อนจริงๆ ก็คงอยู่ไม่ได้ น้ำท่วมยังไม่หนักเท่ากับทหารพม่าจะเข้ามามากขึ้น ไม่รู้เราจะต้านได้นานแค่ไหน” ซอวิน เจ้าหน้าที่ทหารกะเหรี่ยง KNU กล่าว

มีรายงานว่าปีนี้กองทัพพม่าเพิ่มกองกำลังอีก 6 กองร้อยในเขตรัฐกะเหรี่ยงที่ติดแม่น้ำสาละวินชายแดนไทย-พม่าใน “พื้นที่สีดำ” หรือพื้นที่ซึ่งยังมีกองกำลังกู้ชาติเคลื่อนไหวอยู่ และมีแผนว่าจะตีฐานที่มั่นของ KNU ที่ริมสาละวินให้ได้ภายในปีนี้

ส่วนบริเวณเขื่อนที่ฮัตจี ปัจจุบันถือเป็น “พื้นที่สีขาว” อยู่ภายใต้กองทัพพม่าและกองกำลัง DKBA หลังจากตีฐานที่มั่นของกะเหรี่ยงที่มาเนอปลอว์ได้เมื่อปี 2538 ปัจจุบันจึงเป็นเขตที่คนนอกไม่สามารถเข้าถึงได้ นอกจากได้รับอนุญาตจากกองทัพพม่า ทำให้การศึกษาของเขื่อนแห่งนี้ต้องกระทำภายใต้การดูแลประกบจากทหารพม่า และหลังจากเจ้าหน้าที่กฟผ.เหยียบกับระเบิดเสียชีวิตเมื่อต้นเดือนพฤษภาคม คณะผู้เชี่ยวชาญจากกรุงเทพฯ ก็ระงับการลงพื้นที่ทันที โดยกฟผ. ระบุว่าจะข้อมูลจากทหารพม่าเป็นหลัก

คุ้มแล้วหรือไม่ที่ประเทศไทยจะเอาชื่อเสียงไปเสี่ยงต่อการถูกรุมประณามจากนานาชาติข้อหาร่วมมือกับรัฐบาลเผด็จการละเมิดสิทธิมนุษยชนของชนกลุ่มน้อยในนามของการพัฒนา

ตอนนี้ยังไม่สายเกินไปที่กฟผ.จะระงับโครงการ และพิจารณาผลกระทบให้ถี่ถ้วน ก่อนที่จะถูกใช้เป็นเครื่องมือสร้างอาวุธสงครามเข่นฆ่าพี่น้องของเราเอง

สรุปข้อมูลความคืบหน้าโครงการเขื่อนบนแม่น้ำสาละวิน

ฐานทหารพม่าแห่งใหม่ ไม่ไกลจากหัวงานเขื่อนสาละวินชายแดน ตอนล่างที่ดากวิน-บ้านท่าตาฝั่ง

ข้อมูลเกี่ยวกับความสูง พื้นที่ที่จะถูกน้ำท่วมและพลังการผลิตของแต่ละเขื่อนจะแตกต่างกันออกไปตามหน่วยงานต่างๆ ซึ่งขณะนี้ ยังไม่มีตัวเลขที่แน่ชัดนัก ทั้งนี้เพราะมีการเปลี่ยนแปลงในช่วงการวางแผนและไม่มีการเปิดเผยข้อมูลเหล่านี้อย่างเป็นทางการ

เมื่อเดือนพฤษภาคม 258 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ได้ลงนามใน Memorandum of Understanding (MOU) กับกระทรวงพลังงานไฟฟ้าของรัฐบาลพม่าเพื่อทำการศึกษาความเป็นไปได้ในการสร้างเขื่อนมูลค่าหลายหมื่นล้านบาทบนแม่น้ำสาละวินและตะนาวศรี

MOU นี้เป็นกรอบใหญ่สำหรับการศึกษาการพัฒนาพลังงานไฟฟ้าทั้งลุ่มน้ำสาละวินและตะนาวศรี ข้อมูลปัจจุบันชี้ว่ามีโครงการที่ถูกผลักดันมากที่สุดทั้งสิ้น 6 แห่ง ได้แก่

  1. ท่าซาง ตั้งอยู่ในรัฐฉาน ขนาด 7,110 เมกกะวัตต์ เขื่อนแห่งนี้จะเป็นเขื่อนที่ใหญ่ที่สุดบนลุ่มน้ำสาละวินและจะสูงที่สุดในภูมิภาคอุษาคเนย์ ด้วยความสูงถึง 228 เมตร เป็นโครงการของบริษัทเอกชนไทย MDX ซึ่งระหว่างปี 2539-2541 กองทัพพม่าบังคับอพยพประชาชนในพื้นที่ดังกล่าวถึง 300,000 คน ซึ่งเป็นช่วงเดียวกันกับที่มีการศึกษาโครงการ ปัจจุบันอยู่ระหว่างการศึกษาออกแบบโครงการ และมีรายงานว่าบริษัทฯ ได้ก่อสร้างถนนจากชายแดนไทยที่จังหวัดเชียงใหม่เข้าถึงหัวงานเขื่อน โรงไฟฟ้าขนาดเล็ก และอาคารบ้านพักคนงาน

  2. ยวาติ๊ด 600 เมกกะวัตต์ อยู่ในเขตรัฐคะเรนนี ประเทศพม่า

  3. เว่ยจี หรือสาละวินชายแดนตอนบน 4,000-5,600 เมกกะวัตต์ ความสูง 220 เมตร ตั้งอยู่ที่ “เว่ยจี” บนชายแดนประเทศไทย-พม่า ด้านจังหวัดแม่ฮ่องสอน ตรงข้ามกับรัฐกะเหรี่ยง เป็นโครงการของกฟผ. ส่วนหนึ่งของพื้นที่โครงการอยู่ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าสาละวิน ขณะนี้มีการตัดถนนเลียบแม่น้ำสาละวินไปจนถึงด่านออเลาะ ใกล้หัวงานเขื่อน

  4. ดา-กวิน หรือสาละวินชายแดนตอนล่าง 500 หรือ 792 หรือ 900 เมกกะวัตต์ ตั้งอยู่ใกล้บ้านท่าตาฝั่ง อำเภอแม่สะเรียง จังหวัดแม่ฮ่องสอน อยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติสาละวิน เป็นโครงการของกฟผ. อ่างเก็บน้ำของเขื่อนแห่งนี้จะยาวไปจนจรดฐานของเขื่อน

  5. ฮัตจี ในรัฐกะเหรี่ยง พื้นที่โครงการตรงข้ามกับจังหวัดตาก เขื่อนตั้งอยู่ท้ายน้ำจากชายแดนที่สบเมยลงไปในประเทศพม่าประมาณ 40-50 กิโลเมตร ระดับเก็บกักน้ำของเขื่อน (Head Water) อยู่ที่ระดับประมาณ 48 เมตรเหนือระดับน้ำทะเลปานกลาง และ crest +60 เมตร ซึ่งเป็นข้อมูลที่คาดการณ์เท่านั้น ยังไม่มีข้อมูลที่แน่นอน ทั้งนี้ กฟผ. ระบุว่าเขื่อนกักเก็บน้ำอยู่ที่ระดับ 48 มรทก. จึงจะไม่ท่วมในประเทศไทยเลย พื้นที่อ่างเก็บน้ำจะท่วมเฉพาะในเขตพม่า ปัจจุบันอยู่ระหว่างการศึกษา กำลังผลิตติดตั้ง คาดว่าอยู่ในระดับ 600-1,200 เมกกะวัตต์ เขื่อนฮัตจีเป็นโครงการที่มีการผลักดันมากที่สุดในขณะนี้ โดยกฟผ. ได้ลงนามบันทึกข้อตกลง (MOA) กับกรมไฟฟ้าพลังน้ำพม่าในการร่วมทุน และล่าสุดได้ลงนามบันทึกความเข้าใจ (MOU) ร่วมกับบริษัท Sinohydro รัฐวิสาหกิจของจีน เมื่อเดือนพฤษภาคม 2549 รายงานข่าวระบุว่ากฟผ. จะกู้เงินดอกเบี้ยต่ำจากประเทศจีนเพื่อลงทุนสร้างเขื่อนแห่งนี้ ซึ่งมีมูลค่าประมาณ 1,000 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือราว 3,800 ล้านบาท

  6. ตะนาวศรี 600 เมกกะวัตต์ อยู่บนแม่น้ำตะนาวศรี หรือภาษาพม่าเรียก “ตะนิ้นตะรี” ตรงข้ามกับจังหวัดประจวบคีรีขันธ์

เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง