เอ็มโอยูเขื่อนกั้นโขงขัด"ม.190" แฉบริษัทประเมินค่าชดเชยแล้ว

fas fa-pencil-alt
มติชน
fas fa-calendar
30 กรกฎาคม 2551

อดีต ส.ว.อุบลฯลงพื้นที่ก่อสร้างเขื่อนบ้านกุ่ม จ.อุบลฯ เผยบริษัทศึกษาความเป็นไปได้ให้แต่ข้อมูลด้านบวกกับชาวบ้าน หมกเม็ดข้อมูลด้านลบ แถมสำรวจยอดค่าชดเชยกันแล้ว ฟันธง"นพดล"ไปทำเอ็มโอยูกับลาวไม่แจ้งให้สภาทราบ ผิดรัฐธรรมนูญมาตรา 190

นพ.นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ อดีต ส.ว. อุบลราชธานี และประธานมูลนิธิประชาสังคม จ.อุบลราชธานี เปิดเผยเมื่อวันที่ 29 กรกฎาคม เกี่ยวกับการที่รัฐบาลไทย-ลาว ร่วมลงนามในบันทึกข้อตกลงร่วม (เอ็มโอยู) ให้บริษัทเอกชนศึกษาความเป็นไปได้ใน การก่อสร้างเขื่อนขนาดใหญ่กั้นแม่น้ำโขง ที่ อ.โขงเจียม จ.อุบลราชธานี มูลค่า 90,000 ล้านบาท ว่า เมื่อวันที่ 28 กรกฎาคมที่ผ่านมา ได้ลงพื้นที่ที่บ้านท่าล้ง อ.โขงเจียม เพื่อ สังเกตการณ์การทำงานของบริษัทที่เข้าไปเก็บข้อมูลศึกษาความเป็นไปได้ในการก่อสร้าง พบว่าขณะนี้ชาวบ้านในพื้นที่ทราบรายละเอียดของโครงการดังกล่าวกันบ้างแล้วจากการให้ข้อมูลด้านบวกของบริษัท ไม่มีข้อมูลในด้านลบ หรือด้านอื่นๆ ที่ประชาชนควรรับทราบอย่างรอบด้าน อีกทั้งยังพูดกันถึงเรื่องการจ่ายเงินค่าชดเชยกรณีชาวบ้านต้องย้ายออกจากพื้นที่อีกด้วย

นพ.นิรันดร์กล่าวว่า หากจำกันได้ ก่อนหน้านี้นายสมัคร สุนทรเวช นายกรัฐมนตรีเคยไปเยือนลาวแล้วกลับมาพูดเรื่องที่ไม่เห็นด้วยกับการทำรายงานผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) เพราะทำให้โครงการต่างๆ เกิดความล่าช้า ทำให้เห็นความไม่ชอบมาพากลบางอย่าง แต่จากการทำงานในพื้นที่เรื่องนี้มาตลอด ทางมูลนิธิประกาศชัดว่า ไม่ได้ต้านเขื่อน แต่สิ่งที่รัฐบาลกำลังทำอยู่เวลานี้นั้นล้วนแต่ทำผิดรัฐธรรมนูญทั้งสิ้น เริ่มจากการไปทำข้อตกลงร่วม หรือเอ็มโอยู กับรัฐบาลลาว โดยไม่แจ้งให้ตัวแทนประชา ชน หรือรัฐสภาทราบ เข้าข่ายผิดกฎหมายรัฐธรรมนูญ มาตรา 190 วรรค 2 เพราะโครงการสร้างเขื่อนบ้านกุ่มนั้น เป็นโครงการขนาดใหญ่ ส่งผลกระทบต่อลำน้ำโขง ที่เป็นแม่น้ำนานาชาติ ส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศลำน้ำ การทำมาหากินของชาวบ้าน สร้างเขื่อนต้องระเบิดแก่ง ตลิ่งต้องพัง กระทบความมั่นคงของประเทศ เพราะเป็นพื้นที่ที่ไม่มีการแบ่งปันเขตแดนชัดเจน

นพ.นิรันดร์กล่าวด้วยว่า ไม่มีใครรู้ว่าเอ็มโอยูที่นายนพดล ปัทมะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศในขณะนั้น ไปลงนามเมื่อวันที่ 25 มีนาคม 2551 เอาไว้มีรายละเอียดผูกพันอะไร อย่างไรบ้าง เขื่อนแห่งนี้สร้างขึ้นมาเพื่อผลิตกระแสไฟฟ้า ปกติแล้วตามกฎหมายไทย โครงการนี้ต้องทำอีไอเอ เอสไอเอเพื่อวิเคราะห์ผลกระทบด้านสิ่งแวด ล้อมและด้านสังคม และเอชไอเอวิเคราะห์ผลกระทบด้านสุขภาพ จึงขอเรียกร้องให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเปิดเผยเอ็มโอยูที่ไปทำกับลาวด้วยว่ามีรายละเอียดอย่างไรบ้าง ขณะนี้ได้ส่งเรื่องไปให้คณะกรรมาธิการสิ่งแวดล้อม 2 สภาพิจารณา พร้อมเชิญลงพื้นที่แล้ว

นายหาญณรงค์ เยาวเลิศ สมาชิกสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สป.) กล่าวถึงกรณีที่รัฐบาลระบุเป็นฝายไม่ใช่เขื่อนซึ่งไม่ต้องทำอีไอเอว่า เขื่อนบ้านกุ่มเป็นเขื่อนขนาด 44 ประตู ถือว่าใหญ่มากเมื่อเทียบกับเขื่อนปากมูล ซึ่งเป็นเขื่อนกั้นแม่น้ำ โดยเขื่อนปากมูลนั้นมีประตูปิดเปิดน้ำแค่ 8 บานเท่านั้น ตามกฎของคณะกรรมการแม่น้ำโขง (เอ็มอาร์ซี) แล้วระบุว่า สิ่งก่อสร้างใดที่ขวางทางน้ำทำให้น้ำท่วมบริเวณเหนือสิ่งก่อสร้างและส่งผลกระทบระหว่าง 2 ประเทศ จะต้องทำอีไอเอ อีกทั้งมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 1 สิงหาคม 2543 กำหนดให้แม่น้ำโขงเป็นพื้นที่ชุ่มน้ำนานาชาติ การกระทำโครงการใดๆ ที่ส่งผลกระทบ จะต้องทำอีไอเอ ไม่ทำถือว่าผิดกฎหมาย

อนึ่ง รัฐธรรมนูญ มาตรา 190 วรรค 2 ระบุว่า "หนังสือสัญญาใดมีบทเปลี่ยนแปลงอาณาเขตไทย หรือเขตพื้นที่นอกอาณาเขต ซึ่งประเทศไทยมีสิทธิอธิปไตยหรือมีเขตอำนาจตามหนังสือสัญญาหรือตามกฎหมายระหว่างประเทศ หรือจะต้องออกพระราชบัญญัติเพื่อให้การเป็นไปตามหนังสือสัญญา หรือมีผลกระทบต่อความมั่นคงทางเศรษฐกิจหรือสังคมของประเทศอย่างกว้างขวาง หรือมีผลผูกพันด้านการค้า การลงทุน หรืองบประมาณของประเทศอย่างมีนัยสำคัญ ต้องได้รับความเห็นชอบของรัฐสภา ในการนี้ รัฐสภาจะต้องพิจารณาให้แล้วเสร็จภายในหกสิบวันนับแต่วันที่ได้รับเรื่องดังกล่าว"

เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง