เอ็นจีโอบุกสถานทูตจีน จี้หยุดสร้างเขื่อน

fas fa-pencil-alt
ไทยรัฐ
fas fa-calendar
3 เมษายน 2553

เอ็นจีโอแม่น้ำโขงบุกสถานทูตจีนประจำประเทศไทย ร้องหยุดสร้างเขื่อน หากไม่ยุติ เตรียมฟ้องศาลโลก...

เวลา 09.00 น. วันที่ 3 เม.ย. กลุ่มเครือข่ายทรัพยากรธรรมชาติและวัฒนธรรมลุ่มน้ำโขงล้านนา เครือข่ายสมัชชาคนจน โครงการแม่น้ำเพื่อชีวิต เครือข่ายประชาสังคมไทยเพื่อแม่น้ำโขง พร้อมด้วยชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบจากการสร้างเขื่อนในแม่น้ำโขงของประเทศจีน กว่า 100 คน นำโดยนายนิวัฒน์ ร้อยแก้ว ประธานกลุ่มรักษ์เชียงของ จังหวัดเชียงราย และนายสมเกียรติ เขื่อนเชียงสา ประธานเครือข่ายอนุรักษ์ธรรมชาติลุ่มน้ำโขงล้านนา เดินทางมายื่นหนังสือถึงรัฐบาลจีน เพื่อเรียกร้องให้แก้ไขปัญหาแม่น้ำโขง โดยมีนายเหยว เหวิน ผู้อำนวยการฝ่ายการเมือง สถานทูตจีนประจำประเทศไทย ลงมารับหนังสือร้องเรียน

นายนิวัฒน์กล่าวว่า เครือข่ายฯมายื่นหนังสือเพื่อให้รัฐบาลจีนลงมาดูแลและแก้ไขปัญหาแม่น้ำโขงอย่างจริงจังและจริงใจ กับประเทศท้ายน้ำโขงตอนล่างคือ ไทย ลาว เวียดนาม และกัมพูชา พร้อมกับขอให้รัฐบาลจีนดำเนินการใน 4 เรื่อง คือ:

  1. ขอให้รัฐบาลจีนหยุดสร้างเขื่อนเพิ่มเติมในแม่น้ำโขง
  2. ให้หยุดระเบิดแก่งในแม่น้ำโขง
  3. ให้มีการตั้งคณะกรรมการลุ่มน้ำโขงภาคประชาชน
  4. ขอให้รัฐบาลจีนเป็นหัวขบวนในการแก้ไขปัญหาแม่น้ำโขง

ทั้งนี้ หากรัฐบาลจีนไม่มีการตอบรับข้อเสนอดังกล่าว ซึ่งเกิดจากข้อสรุปของภาคประชาชนของทั้ง 4 ชาติในลุ่มน้ำโขงตอนล่าง ก็อาจจะพิจารณาใช้ช่องทางกฎหมายฟ้องต่อศาลโลก เพื่อให้จีนยอมทำตามข้อเรียกร้องดังกล่าว

"หลังการประชุมสุดยอดผู้นำโขงตอนล่างครั้งที่ 1 ที่อำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ สิ้นสุดลงในวันที่ 5 เม.ย. นี้ เครือข่ายฯจะให้เวลากับจีนสักระยะหนึ่งในการแก้ปัญหา แต่หากยังไม่มีการตอบสนอง ภาคประชาชนทั้ง 4 ชาติก็จะดำเนินการทางกฎหมายเพื่อฟ้องศาลโลก นอกจากนี้จะทำหนังสือถึงคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง (MRC) เพื่อให้ทบทวนบทบาทขององค์กรนี้ว่าตั้งมาเพื่ออะไร เพราะตลอด 15 ปีที่ผ่านมา MRC ไม่ได้ปกป้องผลประโยชน์ของประชาชนในลุ่มน้ำโขงเลย แต่กลับวางเฉยและปล่อยให้ประเทศจีนสร้างเขื่อนกั้นลำน้ำโขง ที่สำคัญตลอดระยะเวลา 4-5 ปีที่ผ่านมา MRC กลับชี้ว่าสาเหตุที่แม่น้ำโขงแห้งลงมาจากภาวะโลกร้อน ทั้งที่ข้อเท็จจริง เครือข่ายฯมีหลักฐานที่เก็บข้อมูลของสถานีวัดน้ำเฉพาะในไทย 6 สถานี พบว่าการที่น้ำขึ้นและลงผิดปกติมาจากการสร้างเขื่อน นอกจากนั้น เมื่อเทียบกับแม่น้ำสาละวิน ที่ห่างจากแม่น้ำโขงแค่ 30 เมตร ทำไมไม่เกิดวิกฤตน้ำแล้งและน้ำท่วมหนัก" นายนิวัฒน์ กล่าว

ประธานเครือข่ายกลุ่มอนุรักษ์เชียงของ กล่าวอีกว่า นับตั้งแต่มีการสร้างเขื่อนม่านวาน แห่งแรกบนลำน้ำโขง ในปี 2539 เขื่อนต้าเฉาซาน ในปี 2546 และเขื่อนจิงหงในปี 2551 ชาวบ้านโดยเฉพาะไทยและลาว ได้รับผลกระทบอย่างหนัก เพราะเกิดภาวะน้ำท่วมหนักและแล้งหนัก ซึ่งกระทบต่อการเกษตรกรรมตามแนวชายฝั่งแม่น้ำโขง รวมทั้งการทำการประมง หากสถานการณ์ยังดำเนินแบบนี้โดยไม่มีการแก้ไข ชาวบ้านก็คงต้องอพยพย้ายถิ่นในที่สุด

อ้างอิง : https://www.thairath.co.th/news/local/bangkok/74647

เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง