เอ็นจีโอจี้ 6 ประเทศถกปัญหาน้ำโขงท่วมหนัก
เครือข่ายอนุรักษ์ฯลุ่มแม่น้ำโขง-ล้านนา จวกน้ำท่วมใหญ่เชียงราย เหตุจีนปล่อยน้ำจากเขื่อนกั้นน้ำโขง จี้คณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง 6 ประเทศประชุมด่วนเพื่อหาแนวทางจัดการน้ำ ไม่เช่นนั้นประเทศท้ายน้ำรับเคราะห์หนัก ด้านพาณิชย์จังหวัดเผยไม่กระทบการค้าไทย-จีน
นายสมเกียรติ เขื่อนเชียงสา ผู้ประสานงานเครือข่ายอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและวัฒนธรรมลุ่มแม่น้ำโขง-ล้านนา เปิดเผย "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า จากกรณีน้ำท่วมหนักในพื้นที่ริมฝั่งแม่น้ำโขงตั้งแต่ อ.เชียงแสน อ.เชียงของ อ.เวียงแก่น จ.เชียงราย ไปจนถึงภาคตะวันออกเฉียงเหนือของไทย รวมทั้งในฝั่งแขวงบ่อแก้ว สปป.ลาว นั้นพบว่าสถานการณ์อยู่ในขั้นวิกฤตใกล้เคียงกับเหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่ในปี 2509 และปี 2514 แต่ลักษณะการท่วมแตกต่างออกไปจนน่าเป็นห่วงอย่างมาก
ในอดีตน้ำท่วมริมฝั่งแม่น้ำโขงหนัก เพราะแม่น้ำสาขา เช่น แม่น้ำกก แม่อิง ไหลเอ่อและถูกแม่น้ำโขงหนุน แต่สภาพการท่วมในขณะนี้นับเป็นครั้งแรกที่แม่น้ำสาขาไม่ได้มีปริมาณมากพอที่จะเอ่อล้น แต่น้ำที่ท่วมเกิดจากแม่น้ำโขงเข้าท่วมโดยตรง โดยทะลักขึ้นฝั่งเข้ามาเป็นรัศมีกว่า 10 กิโลเมตร ส่งผลกระทบต่อบ้านเรือนราษฎรและพื้นที่ทางการเกษตรเป็นบริเวณกว้าง
เหตุการณ์เช่นนี้เกิดจากการปล่อยน้ำจากเขื่อนภายในประเทศจีนลงมา แต่ไม่มีการแจ้งต่อสาธารณะเรื่องการเปิด-ปิดน้ำ จึงทำให้ชาวบ้านริมฝั่งได้รับผลกระทบฉับพลันไม่ทันตั้งตัว ก่อให้เกิดความเสียหายเป็นบริเวณกว้าง ระดับน้ำโขงเลยจุดวัดน้ำหรือจุดวิกฤติขึ้นมาถึง 3.50 เมตร ซึ่งนอกจากจะกระทบต่อชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนที่ต้องหนีน้ำกันอย่างโกลาหลแล้ว ยังทำให้การเกษตรริมฝั่ง เช่น ข้าวโพด ถั่ว ฯลฯ เสียหายตลอดแนว ขณะเดียวกันตลิ่งริมฝั่งก็พังทลายเป็นบริเวณกว้าง ซึ่งกรณีนี้ในฝั่ง สปป.ลาว ถือว่ากระทบมากกว่าประเทศไทยอย่างมาก
นายสมเกียรติกล่าวอีกว่า ข้อมูลวงในระบุว่าปริมาณน้ำครั้งนี้มาจากการปล่อยประตูน้ำของเขื่อนจิ่งหงที่เมืองเชียงรุ้ง เขตปกครองตนเองสิบสองปันนา มณฑลหยุนหนาน ประเทศจีน ซึ่งเป็นเขื่อนที่สร้างเสร็จใหม่ล่าสุดเพิ่งเปิดใช้งานเมื่อเดือน มิ.ย.2551 เป็นเขื่อนที่อยู่ใกล้ประเทศไทยมากที่สุดเพียง 285 กิโลเมตร โดยเป็น 1 ใน 3 เขื่อนที่สร้างเสร็จแล้วในจีนตอนใต้ และอยู่ระหว่างการก่อสร้างอีก 3 แห่ง ขณะที่จีนมีโครงการก่อสร้างเขื่อนกั้นแม่น้ำโขงทั้งหมด 8 เขื่อน
ผลกระทบที่เกิดขึ้นดังกล่าวนี้ เห็นว่าทางคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง 6 ประเทศ ซึ่งประกอบด้วย ไทย จีน ลาว พม่า กัมพูชา และเวียดนาม ควรจะหันมาหารือกันใหม่ว่าควรจะสร้างเขื่อนเพิ่มอีกหรือไม่ รวมทั้งต้องหารือเรื่องการบริหารจัดการน้ำเพื่อไม่ให้กระทบต่อประเทศที่อยู่ท้ายน้ำ ขณะที่ฝ่ายไทยเองก็ควรศึกษาเรื่องนี้อย่างจริงจัง
"เครือข่ายแม่น้ำโขงในประเทศไทยคงจะหารือกัน เพื่อเรียกร้องให้ทุกฝ่ายหันมาหารือในเรื่องนี้โดยด่วนก่อนจะเกิดปัญหามากกว่านี้" นายสมเกียรติกล่าว
รายงานข่าวจากสำนักงานพาณิชย์จังหวัดเชียงราย แจ้งว่าไทยมีการนำเข้าจากจีนผ่านทางเรือในแม่น้ำโขงที่ อ.เชียงแสน ตั้งแต่เดือน ม.ค.-มิ.ย.2551 มีมูลค่า 434.030 ล้านบาท ส่วนใหญ่เป็นสินค้ากสิกรรมและสิ่งทอ ส่วนสินค้าส่งออกจากไทยไปจีนมีมูลค่า 1,549.142 ล้านบาท ส่วนใหญ่เป็นสินค้ากสิกรรม ประมง และปศุสัตว์
ด้านนางวนิดา ทิพย์ศักดิ์ พาณิชย์จังหวัดเชียงราย กล่าวว่า เหตุการณ์น้ำท่วมไม่ได้ส่งผลกระทบต่อมูลค่าการค้าชายแดนด้าน อ.เชียงแสน แม้ว่าท่าเรือของการท่าเรือแห่งประเทศไทยที่ อ.เชียงแสน จะได้รับผลกระทบเพราะระดับน้ำล้นโป๊ะที่ใช้เป็นสถานที่ขนส่งสินค้ากลางแม่น้ำโขง แต่ก็มีท่าเรือเอกชนกว่า 10 แห่งริมฝั่งแม่น้ำโขงยังเปิดใช้ขนส่งสินค้าได้ตามปกต