(ไอ้)เสือเต้น

fas fa-pencil-alt
ข่าวสด
fas fa-calendar
10 มิถุนายน 2551

ผ่านพ้นวันสิ่งแวดล้อมโลกไปแล้วหลายวัน แต่ควันหลงเรื่องเขื่อนแก่งเสือเต้นยังอยู่ คงมีประเทศเดียวในโลกที่นายกฯ สั่งสร้างเขื่อนในวันสิ่งแวดล้อมโลก! 


 โครงการนี้ยืดเยื้อมาเกือบ 30 ปี คนหนุนก็มาก คนต้านก็เยอะ ถือเป็นกรณีศึกษาที่สังคมไทยควรใส่ใจใฝ่รู้ เพราะใช้ชี้วัดความรู้ ความรับผิดชอบ ของนักการเมือง ข้าราชการ นักวิชาการ ใช้ชี้วัดสำนึกปกป้องรักษาทรัพยากรธรรมชาติ และสิทธิความเป็นมนุษย์ของประชาชน 


 ที่ผ่านมา "น้าชาติ"นายกฯ จอมโปรเจ็กต์ "นายกฯ เติ้ง"ผู้ช่ำชองงานรับเหมา "นายกฯ แม้ว"อัจฉริยะผู้ยิ่งใหญ่ ล้วนอยากเห็นเขื่อนแก่งเสือเต้นเกิดขึ้น แต่ก็ได้แค่อยาก สุดท้ายต้องยอมยกธงขาว เพราะพ่ายแพ้แก่ข้อมูลข้อเท็จจริง! 


 เขื่อนเป็นเรื่องใหญ่ มองแค่เก็บน้ำไว้ใช้หน้าแล้ง กับป้องกันน้ำท่วมหน้าฝน มันสั้นและตื้นเกินไป? 


 จุฬาฯ โดยท่านผู้หญิงสุธาวัลย์ เสถียรไทย สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย(สกว.) สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย(ทีดีอาร์ไอ) องค์การอาหารและการเกษตรโลก(FAO) กรมชลประทาน หน่วยงานเหล่านี้ศึกษาวิจัยเขื่อนแก่งเสือเต้นไว้อย่างละเอียด ข้อมูลข้อเท็จจริงสรุปได้ว่า เขื่อนแก่งเสือเต้นไม่คุ้มค่าทุกด้าน! ป้องกันน้ำท่วมและแก้ขาดแคลนน้ำไม่ได้ เมื่อเทียบกับเขื่อนภูมิพลที่ขนาดใหญ่กว่า หน้าฝนน้ำเหนือมากต้องเร่งระบายลงท่วมท้ายเขื่อนอยู่ดี พอถึงหน้าแล้งปล่อยน้ำได้น้อย เพราะต้องเก็บไว้ปั่นไฟและใช้อีกหลายเดือน 


 สรุปถึงมีเขื่อน สุโขทัย พิษณุโลกก็น้ำท่วม น้ำแล้งเหมือนเดิม เขื่อนแก่งเสือเต้นใช้งบเฉพาะก่อสร้างหมื่นล้านบาท ยังไม่รวมค่าอพยพคนหลายตำบล สัตว์ทั้งป่า สิ่งของอีกมากมายมหาศาล ขณะที่จุดสร้างเขื่อนมีป่าสักทองผืนใหญ่ 2 หมื่นกว่าไร่ ประเมินค่ามิได้ 


 สรุปไม่คุ้มค่าทางเศรษฐศาสตร์ นี่แค่ตัวอย่างการศึกษาวิจัยตามหลักวิชาการโดยหน่วยงานมาตรฐาน เป็นข้อมูลข้อเท็จจริงที่ไม่เกี่ยวกับเอ็นจีโอ คนกลุ่มที่นายกฯ เรียกคุณพ่อแต่อย่างใด!?


เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง