องค์กรลาหู่ออกรายงานผลกระทบโครงการระเบิดแก่งในเขตรัฐฉานตะวันออก

fas fa-pencil-alt
องค์กรพัฒนาชนชาติล่าหู่
fas fa-calendar
ธันวาคม 2545

ในช่วงต้นเดือนกันยายนที่ผ่านมา องค์กรพัฒนาชนชาติล่าหู่ หรือ Lahu National Development Organization  (LNDO) ได้จัดทำรายงาน “AFTERSHOCKS ALONG BURMA'S MEKONG” เปิดเผยผลกระทบโครงการระเบิดแก่งแม่น้ำโขงซึ่งดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2545 ที่ผ่านมา โดยความร่วมมือของรัฐบาล 4 ประเทศในลุ่มน้ำโขง คือ จีน ลาว ไทย และพม่า   รายงานเปิดเผยว่า  ประชาชนกว่า 22,000 คนซึ่งอาศัยอยู่ริมฝั่งแม่น้ำโขงบริเวณรัฐฉานภาคตะวันออก ไม่เคยรับรู้ข้อมูลเกี่ยวกับโครงการนี้และผลกระทบที่จะเกิดขึ้นตามมา   ขณะที่การดำเนินโครงการที่ผ่านมาได้กอ่ให้เกิดการทำลายสิ่งแวดล้อมทั้งในแม่น้ำโขง และทรัพยากรธรรมชาติในพื้นที่รัฐฉานภาคตะวันออกอย่างรุนแรง รวมไปถึงการละเมิดสิทธิมนุษยชนประชาชนท้องถิ่นโดยกองกำลังทหารพม่าที่เพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ  โดยผู้ได้รับสิทธิประโยชน์จากโครงการนี้มีเพียงผู้นำทหารพม่าและผู้นำกลุ่มเจรจาหยุดยิงบางกลุ่มเท่านั้น 

รายงานฉบับนี้มีความยาวทั้งหมด  41 หน้า  ทำการเก็บข้อมูลระหว่างเดือนธันวาคม 2545 – พฤษภาคม 2546  เปิดเผยรายละเอียดเกี่ยวกับความเป็นมาของโครงการระเบิดแก่งซึ่งเกิดขึ้นจากแผนความร่วมมือทางเศรษฐกิจอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง    ประเทศจีนเป็นผู้ผลักดันโครงการดังกล่าวทั้งนี้เพื่อให้สามารถเดินเรือจากเมืองซือเหมา  มณฑลยูนนานของจีนลงมายังแม่น้ำโขงตอนล่าง  ผ่านพม่า  ลาว ไทยไปยังหลวงพระบาง  โดยโครงการดังกล่าวได้รับเงินทุนทั้งหมดจากจีน จำนวน 4.3  ล้านเหรียญสหรัฐ    นับตั้งแต่เริ่มดำเนินโครงการระเบิดแก่งครั้งแรกและครั้งที่สองในช่วงเดือนเมษายนถึงพฤษภาคม 2545 และระหว่างเดือนธันวาคม 2545 ถึงเมษายน 2546   ประชาชนในพื้นที่กว่า 22,000 คนที่อาศัยพึ่งพาแม่น้ำโขง ประกอบด้วยชาวไทยใหญ่ ชาวลาหู่ และชาวอาข่า  ไม่เคยได้รับรู้รายละเอียดโครงการนี้และผลกระทบที่จะเกิดขึ้นจากการระเบิดแก่งมาก่อน     รายงานฉบับนี้เปิดเผยว่า กองกำลังทหารพม่าได้เพิ่มจำนวนกองกำลังทหารเข้ามาในพื้นที่ริมฝั่งแม่น้ำโขงกว่า 1,000 คนในช่วงดำเนินโครงการระหว่างเดือนธันวาคม 2545 – เมษายน 2546  การเพิ่มขึ้นของกองกำลังทหารพม่าได้ก่อให้เกิดการละเมิดสิทธิมนุษยชนชาวบ้านในพื้นที่อย่างรุนแรง นับตั้งแต่การบังคับใช้แรงงาน การทำร้ายทรมานร่างกาย และการข่มขืน ดังเช่น รายงานหน้า 12  เปิดเผยว่า “ในสัปดาห์ที่สองของเดือนเมษายน  กองกำลังทหารพม่าได้ข่มขืนหญิงชาวล่าหูที่เมืองเชียงลาบ (Keng Larb) จังหวัดท่าขี้เหล็ก  หญิงผู้นี้แต่งงานแล้วและมีลูกสามคน แต่หลังจากถูกทหารพม่าข่มขืน  สามีของเขาได้ขอหย่าร้าง  เธอจึงต้องอพยพหนีออกมาจากหมู่บ้านแห่งนั้น ขณะที่ทหารพม่าผู้ก่อเหตุยังคงลอยนวลเช่นเดิม
รายงานฉบับเดียวกันยังเปิดเผยว่า รัฐบาลทหารพม่าได้พยายามส่งเสริมรัฐฉานภาคตะวันออกให้เป็นแหล่งธุรกิจและการค้า  โดยให้สิทธิพิเศษกับผู้นำกองกำลังที่เจรจาหยุดยิงกับรัฐบาลบางกลุ่ม  คือ จาย ลืน ผู้นำกลุ่ม NDAA ในการทำธุรกิจคาสิโน ตัดไม้ และค้ายาเสพติด  ผลประโยชน์ที่เกิดขึ้นจากโครงการพัฒนาในพื้นที่นี้จึงตกอยู่ในมือของคนบางกลุ่มเท่านั้น    ทางด้านผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม นอกจากเกาะแก่งในแม่น้ำโขงจะถูกระเบิด ซึ่งนำไปสู่การลดลงของพันธุ์ปลาแล้ว  พื้นที่รัฐฉานภาคตะวันออกยังได้รับผลกระทบทางด้านสิ่งแวดล้อมจากพื้นที่ป่าและทรัพยากรธรรมชาติซึ่งนับตั้งแต่ปี 1988  จนถึงปัจจุบัน พื้นที่ป่าในเขตนี้ลดน้อยลงไปแล้วครึ่งหนึ่ง  เนื่องมาจากกลุ่มเจรจาหยุดยิงบางกลุ่มได้รับสิทธิพิเศษในการขายทรัพยากรธรรมชาติ   

บทสรุปของรายงานฉบับนี้ได้เรียกร้องให้รัฐบาลอื่น ๆ ในลุ่มน้ำโขงชะลอโครงการระเบิดแก่งที่เหลือ พร้อมทั้งประเมินผลกระทบที่เกิดขึ้นจากโครงการนี้อย่างรอบด้านอีกครั้ง โดยเฉพาะผลกระทบที่เกิดขึ้นในเขตประเทศพม่า ซึ่งประชาชนขาดการมีส่วนร่วมในการตัดสินใจ รวมไปถึงสันติภาพและประชาธิปไตยที่แท้จริง

ผู้สนใจสามารถติดตามอ่านรายงานฉบับเต็มได้ที่ www.salweennews.org และ www.shanland.org

หมายเหตุ : องค์กร LNDO  ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 1997  ก่อนหน้านี้ จัดทำรายงานที่มีชื่อเสียงมาก คือ รายงานการอพยพว้าจากชายแดนจีนสู่ชายแดนไทย หรือ Unsettling Moves : The Wa forced resettlement program in Eastern Shan State   

 


เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง