อภิมหาโปรเจคน้ำโขงตอนบน จุดระเบิดปัญหาข้ามพรมแดน
ช่วงสองถึงสามปีที่ผ่านมา
ชาวบ้านริมฝั่งโขงในอำเภอเชียงของ จังหวัดเชียงราย ต้องเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน ฤดูฝนสองปีมานี้ การเปลี่ยนแปลงระดับน้ำทำให้เกิดตลิ่งพัง บ้านเรือนและที่ดินของชาวบ้านถูกพัดพาไปกับกระแสน้ำ ที่ฝั่งลาว ชาวบ้านดอนสวรรค์ 113 ครัวเรือนต้องอพยพจากที่ดินริมฝั่งโขงเนื่องจากตลิ่งพังหมดสิ้น
พ่อบุญคง ชาวบ้านปากอิง อำเภอเชียงของ กล่าวว่า “ไม่รู้ว่าถึงปีหน้าบ้านจะยังอยู่หรือเปล่า บ้านคนอื่นที่อยู่ติดน้ำถูกพัดไปหมด ตอนนี้ก็คงถึงตาเราแล้ว ไม่รู้จะทำยังไง”
สำหรับชาวบ้าน น้ำโขงเปลี่ยนแปลงอย่างเห็นได้ชัด ไม่ว่าจะเป็นตะกอนดินที่มากขึ้นทำให้น้ำขุ่นข้น และระดับน้ำที่ขึ้นลงอย่างรวดเร็วและผิดธรรมชาติ ไม่เป็นไปตามฤดูกาลอย่างที่เคยเป็นมา ความเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ส่งผลกระทบต่อชีวิตนับล้านที่พึ่งพาสายน้ำโขงในด้านต่างๆ อาทิ การหาปลา แปลงผักริมน้ำ น้ำอุปโภคบริโภค และที่อยู่อาศัย
อภิมหาโครงการจีน
การเปลี่ยนแปลงดังกล่าวเกิดขึ้นหลังจากการดำเนินโครงการพัฒนาแม่น้ำโขงตอนบนในจีน ทั้งการระเบิดเกาะแก่งแม่น้ำโขงเพื่อการเดินเรือพาณิชย์และการสร้างเขื่อน
แม่น้ำโขงในเขตประเทศจีนมีชื่อว่าแม่น้ำหลานชาง ถูกนักพัฒนามองว่ายังไม่ได้รับการใช้ประโยชน์อย่างที่ควรจะเป็น จึงมีโครงการพัฒนามากมายเพื่อก่อให้เกิดประโยชน์ทางด้านเศรษฐกิจสูงสุด จีนมีแผน Lancang Economic Belt ซึ่งประกอบด้วยเขื่อนผลิตไฟฟ้า การเดินเรือพาณิชย์ ท่าเรือ และเขตเศรษฐกิจพิเศษ เชื่อมต่อยูนนานลงมาถึงไทยและลาว
ต้นปีที่ผ่านมา บริษัทไชน่า หัวนึง กรุ๊ป ซึ่งเป็นผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนของจีน ได้รับ “สิทธิในการพัฒนา” แม่น้ำหลานชาง จากทางการจีน โดยมีโครงการสร้างเขื่อนทั้งหมด 8 แห่งบนแม่น้ำโขงในเขตจีน เขื่อนมานวานซึ่งเป็นเขื่อนแรกบนแม่น้ำโขงสร้างเสร็จในปี 2536 เขื่อนแห่งที่สองและสามคือเขื่อนเซี่ยวหวาน เขื่อนด้าเฉาชานกำลังอยู่ระหว่างการก่อสร้าง ปลายปีนี้เขื่อนที่สี่คือเขื่อนจิงหง จะเริ่มก่อสร้างเพื่อขายไฟฟ้าให้แก่ประเทศไทย โดยต้องอพยพชาวบ้านจีนจำนวนมาก
โครงการเดินเรือพาณิชย์
สี่ประเทศแม่น้ำโขงตอนบน ได้แก่ จีน พม่า ลาว ไทย ได้ลงนามในข้อตกลงการเดินเรือพาณิชย์ รัฐบาลจีนได้สนับสนุนเงินทุนในการระเบิดแก่งและขุดลอกสันดอนเพื่อให้เรือพาณิชย์สามารถขนส่งสินค้าระหว่างเมืองซือเหมาประเทศจีนลงมาถึงหลวงพระบางในลาวได้ 95% ของทั้งปี โดยขั้นสุดท้ายของโครงการคือทำให้แม่น้ำโขงเป็นคลองเพื่อการเดินเรือขนาด 500 ตันพ่วงกัน 4 ลำ
ผลกระทบต่อท้ายน้ำ
หากโครงการเขื่อนหลานซางเสร็จสมบูรณ์ เขื่อนในจีนจะสามารถควบคุมปริมาณน้ำในแม่น้ำโขงได้เกือบทั้งหมด เขื่อนในยูนนานจะกักเก็บน้ำในช่วงหน้าฝนและปล่อยน้ำในหน้าแล้ง ทำให้ระดับน้ำโขงในหน้าแล้งสูงกว่าปกติถึง 2 เท่า ปริมาณกระแสน้ำทั้งปีในแม่น้ำโขงช่วงก่อนถึงทะเลที่เวียตนามเป็นน้ำที่มาจากแม่น้ำโขงเขตประเทศจีนประมาณ 15-20% ในขณะที่น้ำโขงช่วงประเทศกัมพูชาในเดือนเมษายนเป็นน้ำที่มาจากเขตจีนถึง 45% และปริมาณน้ำจากพื้นที่รับน้ำในเขตประเทศจีนมีส่วนสำคัญมากต่อกระแสน้ำในช่วงหน้าแล้งของแม่น้ำโขงส่วนที่ไหลผ่านประเทศไทยและลาว
โครงการเหล่านี้ไม่มีการเปิดเผยข้อมูลและปรึกษาหารือกับชาวบ้าน หรือแม้กระทั่งประเทศท้ายน้ำอีก 2 ประเทศคือ เวียดนาม และกัมพูชา ซึ่งต้องได้รับผลกระทบอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
คณะกรรมการเขื่อนโลก ระบุในรายงาน “เขื่อนกับการพัฒนา” ว่าผลกระทบด้านท้ายเขื่อนอาจมีไปไกลถึงหลายร้อยกิโลเมตร หรือกินของเขตกว้างกว่าตัวลำน้ำ ทำให้ผู้คนนับล้านที่อาศัยอยู่ด้านท้ายเขื่อน โดยเฉพาะผู้ที่อาศัยในที่ราบน้ำท่วมถึงเพาะปลูกและทำการประมงต้อง “ได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงในการดำเนินชีวิต และผลผลิตจากทรัพยากรก็อยู่ในภาวะเสี่ยง และประสิทธิผลของการใช้ทรัพยากรในอนาคตก็ไม่แน่นอน”
ซก เสียง อิม นักอุทกวิทยาของคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง (เอ็มอาร์ซี) ให้สัมภาษณ์ว่า การพัฒนาน้ำโขงตอนบนส่งผลกระทบต่อประเทศท้ายน้ำอย่างมหาศาล ปี 2543 เกิดน้ำท่วมผิดธรรมชาติครั้งใหญ่ที่สุดในรอบ 2 ทศวรรษ ตั้งแต่อำเภอเชียงแสน จังหวัดเชียงรายเรื่อยตลอดลำน้ำลงมาจนถึงกัมพูชาและเวียดนาม คณะกรรมาธิการแม่น้ำโขงประมาณการณ์ว่ามีผู้เดือดร้อนจากน้ำท่วมครั้งนั้นถึง 8 ล้านคน และเมื่อจีนเริ่มกักเก็บน้ำเขื่อนมานวาน ปริมาณน้ำโขงที่ไหลผ่านกัมพูชาลดลงครึ่งหนึ่งเหลือเพียง 300 ลูกบาศก์เมตรภายในวันเดียว
สมเด็จฮุนเซ็น นายกรัฐมนตรีกัมพูชา แสดงความวิตกเกี่ยวกับเขื่อนน้ำโขงตอนบนว่าอาจทำให้ทะเลสาบเขมรแห้งลงได้ เพราะทะเลสาบเขมรเชื่อมต่อกับแม่น้ำโขง เป็นส่วนหนึ่งของกันและกัน หากน้ำในทะเลสาบแห้งลง ย่อมหมายถึงการสูญเสียวิถีชีวิตของคนหาปลานับล้านรอบทะเลสาบน้ำจืดที่ใหญ่ที่สุดในภูมิภาค และหมายถึงการสูญเสียรายได้หลักของประเทศกัมพูชาจากการประมงน้ำจืด สมเด็จฮุนเซ็น กล่าวเพิ่มเติมว่า หากทะเลสาบเขมรแห้งลง ไม่ใช่เพียงเขมรเท่านั้นที่จะได้รับผลกระทบ แต่หมายถึงทั่วทั้งภูมิภาคลุ่มน้ำโขงเลยทีเดียว เพราะระดับน้ำในแม่น้ำโขงเป็นปัจจัยหลักที่เกี่ยวพันกับวิถีชีวิตผู้คนและระบบนิเวศในภูมิภาคนี้
การเปลี่ยนแปลงระบบนิเวศ
การสร้างเขื่อนตอนบนของแม่น้ำจะทำให้วัฏจักรน้ำท่วม-น้ำแล้งของแม่น้ำตามฤดูกาลเปลี่ยนแปลงไป ส่งผลกระทบร้ายแรงต่อระบบนิเวศแม่น้ำ ปลา และสิ่งมีชีวิตต่างๆ รวมถึงผู้คนที่มีวิถีชีวิตพึ่งพาทรัพยากรเหล่านี้
เอียน ฟอกซ์ นักอุทกวิทยาและผู้เชี่ยวชาญด้านน้ำท่วมของธนาคารเพื่อการพัฒนาเอเชีย (เอดีบี) กล่าวว่า “โครงการที่สร้างโดยมนุษย์อย่างเช่นเขื่อน อาจเปลี่ยนความสัมพันธ์ระหว่างชาวบ้านและแม่น้ำตลอดไป”
เขื่อนเซี่ยวหวาน ซึ่งมีความสูงเกือบ 300 เมตร กำลังผลิต 4,200 เมกะวัตต์ กำหนดสร้างแล้วเสร็จในปี 2555 และจะเป็นหนึ่งในเขื่อนที่สูงที่สุดในโลก ดร. เหอ ต้าหมิง จากศูนย์แม่น้ำระหว่างประเทศเอเชีย (Asian International River Center) มหาวิทยาลัยยูนนานกล่าวว่า หากเขื่อนนี้สร้างแล้วเสร็จและเริ่มดำเนินการ ปริมาณน้ำในแม่น้ำโขงจะลดลง 17% ในหน้าฝน และเพิ่มขึ้น 40% ในหน้าแล้ง จะปิดกั้นการไหลของตะกอนในแม่น้ำลง 35% ตะกอนเหล่านี้คือปุ๋ยธรรมชาติที่แม่น้ำพัดพาลงสู่ที่ราบน้ำท่วมถึงสองฝั่งน้ำลงไปจนถึงปากแม่น้ำซึ่งเป็นพื้นที่เพาะปลูกอันอุดมสมบูรณ์
ระดับน้ำผิดธรรมชาติ
หนึ่งในปัญหาที่รุนแรงที่สุดคือ การขึ้นลงของระดับน้ำที่ผิดธรรมชาติ โดยปกติระดับน้ำในแม่น้ำโขงขึ้นลงตามฤดูกาล แต่เมื่อมีการระเบิดแก่งในช่วงฤดูแล้ง 2 ปีที่ผ่านมา ระดับน้ำกลับขึ้นลงอย่างรวดเร็วและไม่เป็นไปตามฤดูกาล โดยเฉพาะช่วงเดือนธันวาคม 2544-เมษายน 2545 ที่มีการระเบิดแก่ง การท่าเรือจีนออกประกาศเกี่ยวกับการเดินเรือโดยให้งดเดินเรือ 3 วัน และเดินเรือ 1 วันสลับกัน พบว่าระดับน้ำโขงช่วงอำเภอเชียงแสน เชียงของ ขึ้นลงอย่างรวดเร็วดังที่ประกาศของจีน แม้แต่ช่วงหลังการระเบิดแก่ง ชาวบ้านยังพบว่าระดับน้ำก็ยังไม่เป็นไปตามธรรมชาติ
พ่อบุญคง กล่าวว่า “เมื่อก่อนถ้าถึงหน้าฝน ฝนตกแล้วน้ำก็ค่อยๆ ขึ้น แต่เดี๋ยวนี้วันเดียวน้ำก็ขึ้นเป็นเมตร อีกไม่กี่วันก็ลงอีก เมื่อก่อนพอเริ่มฝนน้ำขึ้น เดือน 8 เดือน 9 ปลาเคยขึ้นมาให้จับ เดี๋ยวนี้น้ำขึ้นๆ ลงๆ ปลาก็หายหมด”
ปลาส่วนใหญ่ในแม่น้ำโขงเป็นปลาอพยพที่จะขึ้นมาวางไข่ทางตอนบนของแม่น้ำตามฤดูกาลและระดับน้ำ แต่เมื่อกระแสน้ำผิดปกติ ปลาที่เคยอุดมสมบูรณ์หล่อเลี้ยงชีวิตชาวบ้านก็ลดจำนวนลงอย่างรวดเร็ว หลายครอบครัวที่ไม่มีที่ดินทำการเกษตร ปลาคือรายได้หลักและความมั่นคงของครอบครัว จำนวนปลาที่ลดลงย่อมหมายถึงการสูญเสียความมั่นคงทางเศรษฐกิจด้วย
ตัวอย่างหนึ่งที่ชัดเจนของผลกระทบคือ การจับปลาบึก ซึ่งเป็นปลาน้ำจืดที่ใหญ่ที่สุดในโลก เป็นอีกสายพันธุ์ที่อยู่ในภาวะใกล้สูญพันธุ์ ชาวบ้านฝั่งไทยและลาวลงจับปลาบึกในช่วงกลางเดือนเมษายนจนถึงพฤษภาคม ก่อนหน้าการสร้างเขื่อนในจีน ก่อนปี 2537 จำนวนเรือหาปลาบึกเฉลี่ยสูงถึง 80 ลำ เฉพาะของชาวบ้านฝั่งไทย แต่หลังจากนั้นจำนวนปลาบึกก็ลดลงเรื่อยๆ 3 ปีที่ผ่านมา มีเรือหาปลาบึกเหลืออยู่เพียง 2-3 ลำเท่านั้น
ผลกระทบต่อระบบนิเวศ
การเปลี่ยนแปลงของระบบนิเวศดังกล่าวส่งผลกระทบร้ายแรงต่อความมั่นคงทางอาหาร เศรษฐกิจชุมชน และสังคม ที่ผูกพันอย่างเหนียวแน่นกับระบบนิเวศ
หนึ่งในตัวอย่างที่ชัดเจนคือ การหายไปของไก หรือสาหร่ายน้ำโขง ซึ่งเป็นแหล่งโปรตีนที่สำคัญของชุมชนในเขตน้ำโขงตอนบน ไกจะขึ้นตามแก่งหรือริมฝั่งน้ำในช่วงหน้าแล้งที่น้ำใสแสงแดดส่องถึง คนเก็บไกส่วนใหญ่เป็นผู้หญิง ไกเหล่านี้เป็นอาหารสำหรับครอบครัว และเป็นรายได้หลักในช่วงหน้าแล้ง แต่เมื่อน้ำโขงขึ้นลงผิดธรรมชาติ และขุ่นข้นด้วยตะกอน ไกแทบไม่สามารถขึ้นได้อีกเลยตั้งแต่ช่วงชายแดนพม่า-ลาวลงมาจนถึงอำเภอเชียงของ นอกจากนี้แปลงผักริมน้ำยามหน้าแล้งก็ต้องเสียหายเช่นกัน โดยปกติแล้วในช่วงหน้าแล้ง เมื่อน้ำโขงลดระดับลง ที่ดินริมฝั่งและสันดอนกลางน้ำจะโผล่ขึ้นมาให้ชาวบ้านได้เพาะปลูก ที่ดินเหล่านี้อุดมสมบูรณ์ด้วยตะกอนที่พัดพามากับสายน้ำตลอดช่วงหน้าน้ำ พืชที่ปลูกมีหลายชนิด อาทิ ยาสูบ ผักกาด ถั่ว ผลผลิตเพื่อบริโภคในครัวเรือน แลกเปลี่ยนกันในชุมชน และสร้างรายได้แก่ครอบครัว
ปัจจุบันแม่น้ำโขงที่เปลี่ยนแปลงไปทำให้แปลงผักเหล่านี้แทบจะกลายเป็นเพียงอดีต หลายหมู่บ้านชาวบ้านต้องเสียที่ดินดังกล่าวไปเนื่องจากกระแสน้ำขึ้นลงไม่แน่นอน ตลิ่งพัง และน้ำท่วม อย่างเช่นที่บ้านสบสม แล้งที่ผ่านมา ชาวบ้านต้องลงปลูกพืชถึง 3 ครั้งในเดือนเดียวเนื่องจากน้ำขึ้นกะทันหันท่วมแปลงเกษตรเสียหาย จนชาวบ้านบางคนถึงกับร้องไห้เนื่องจากพืชที่ปลูกไว้ถูกท่วมหลายครั้ง
พ่อบุญคง เล่าว่า “เมื่อก่อนจะกินผักอะไรก็เก็บที่แปลงริมน้ำ ปลูกเองหมด ไม่เคยซื้อ แต่ตอนนี้ไม่มีแล้ว ที่ถูกน้ำพัดไปหมดแล้ว”
นอกจากนี้ยังมีรายงานว่าท้ายน้ำลงไปถึงอำเภอศรีเชียงใหม่ จังหวัดหนองคาย ก็เกิดปัญหาน้ำขึ้นลงผิดธรรมชาติ ส่งผลให้ตลิ่งพังและน้ำท่วมแปลงเกษตรริมโขงเช่นเดียวกัน
ปัญหาข้ามพรมแดน
ตั้งแต่มีการวางแผนโครงการและดำเนินโครงการ จนกระทั่งผลกระทบร้ายแรงต่างๆ เริ่มเกิดขึ้นและเห็นได้อย่างชัดเจน ชาวบ้านผู้ได้รับผลกระทบไม่เคยได้รับการบอกกล่าวถึงโครงการแต่อย่างใด มิพักต้องพูดถึงการปรึกษาหารือและร่วมเจรจาในกระบวนการตัดสินใจโครงการซึ่งเป็นสิทธิที่พึงมีของผู้ได้รับผลกระทบจากโครงการที่ไม่เคยเกิดขึ้นจริง คนท้องถิ่นได้แต่เป็นประจักษ์พยานของผลกระทบที่ตนเองต้องเผชิญเท่านั้น
เจ้าหน้าที่รัฐระดับสูงก็ดูเหมือนจะไม่ได้รับข้อมูลโครงการอย่างครบถ้วน โดยเฉพาะหน่วยงานด้านสิ่งแวดล้อม และในหลายกรณีพบว่าเจ้าหน้าที่เหล่านี้แทบไม่รู้ข้อมูลการพัฒนาและสร้างเขื่อนบนแม่น้ำโขงในจีน
ข้อตกลงว่าด้วยการเดินเรือเสรีที่ร่วมลงนามโดย 4 ประเทศน้ำโขงตอนบน ได้แก่ จีน พม่า ลาว และไทย ว่าด้วยการเดินเรือระหว่าง 4 ประเทศเท่านั้น ไม่ได้ระบุครอบคลุมถึงการระเบิดแก่งแต่อย่างใด แต่หลังจากการลงนาม ทีมระเบิดแก่งของจีนก็เริ่มปฏิบัติการโดยอ้างว่าการ “บูรณะร่องน้ำ” ดังกล่าวกระทำโดยถูกต้องตามหลักสากล และมีรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) เรียบร้อยแล้ว
คณะรัฐมนตรีไทยกลับมีมติให้ทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อมใหม่ เฉพาะช่วงพรมแดนไทย-ลาว นอกจากนี้ สถาบันสิ่งแวดล้อมโมนาช ออสเตรเลีย ซึ่งคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขงได้สนับสนุนให้ทบทวนอีไอเอ ก็ระบุในรายงานทบทวนอีไอเอว่า “รายงานไม่สามารถยอมรับได้ด้วยเหตุผลหลายประการ เนื้อหาส่วนใหญ่อยู่บนฐานของการคาดเดา ข้อมูลที่ใช้นั้นไม่เพียงพอ และผลกระทบในระยะยาวแทบจะถูกมองข้ามไปทั้งหมด และผลกระทบทางด้านสังคมและสิ่งแวดล้อมก็ถูกเพิกเฉย”
จนถึงปัจจุบัน เจ้าหน้าที่ระดับสูงจำนวนมากในหลายประเทศน้ำโขงก็ยังไม่ตระหนักถึงผลกระทบของโครงการนี้ต่อประชาชนของตนเอง แม้จะมีผู้ที่เป็นห่วงในปัญหานี้ แต่ก็ยังไม่ปรากฏว่ามีรัฐบาลใดออกมาเรียกร้องให้ทบทวนโครงการ หรือตั้งคำถามกับจีน ไม่แม้กระทั่งพยายามทำให้โครงการปฏิบัติตามกฎหมายสิ่งแวดล้อมและสังคมของประเทศตน
ในขณะเดียวกัน ประเทศท้ายน้ำต้องแบกรับภาระข้ามพรมแดนที่เกิดจากโครงการพัฒนาแม่น้ำโขงตอนบน โดยไม่ได้คาดคิดมาก่อนมากขึ้นเรื่อยๆ ตัวอย่างล่าสุดคือปัญหาสาธารณสุข ดังเช่นที่หนังสือพิมพ์มติชน วันที่ 29 กันยายน 2546 รายงานว่ารัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขกล่าวว่า บริเวณสามเหลี่ยมทองคำ จังหวัดเชียงราย เป็นอีกพื้นที่หนึ่งที่เสี่ยงต่อการแพร่กระจายโรค เพราะมีเรือส่งสินค้าต่างชาติเข้ามาจำนวนมาก ลูกเรืออาจนำโรคเข้ามาด้วย โดยเฉพาะเอดส์
ผลกระทบจากการสร้างเขื่อนในจีนและการระเบิดแก่งแม่น้ำโขงเพื่อการเดินเรือพาณิชย์เป็นสัญญาณเตือนว่า การพัฒนาในลุ่มน้ำโขงสร้างปัญหาที่มีลักษณะข้ามพรมแดนมากขึ้นเรื่อยๆ และท้าทายผู้ที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นนักการเมืองผู้มีอำนาจในการตัดสินใจ ข้าราชการ แหล่งเงินทุนสนับสนุนการพัฒนา ภาคประชาสังคม และชุมชนสองฝั่งลำน้ำโขง ว่าจะร่วมมือกันรับมือกับปัญหาลักษณะนี้อย่างไร