ยามเฝ้าแก่ง ป้องกันเสือเต้น
15 ปีก่อน "ลุงหงวน" หรือสงวน กัณทะวงศ์ ผู้เฒ่าท้องน้ำแห่งแก่งเสือเต้น ทำหน้าที่แจวเรือส่งคนข้ามฟาก ที่วังผาอิง ด้วยความสบายใจ กับวิถีชีวิตเรียบง่าย แต่พอรู้ข่าวว่า ทางการมีโครงการจะสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้น และบ้านแกจะต้องกลายเป็นส่วนหนึ่งของตัวเขื่อนด้วย ชีวิตแกก็เริ่มไม่ปกติสุข
"มันเครียด ก็บ้านเรา เราอยู่มาตั้งแต่เกิด คิดจะมาไล่ให้เราไปอยู่ที่อื่นไม่ได้หรอก ยังไงก็ไม่ยอม ต้องสู้" แกบอก
หลังจากนั้นเป็นต้นมาถึงวันนี้ ลุงหงวนจึงกลายเป็นหนึ่งในหลายๆ คน ที่ไม่ยอมและพร้อมจะต่อสู้ เพื่อป้องกันบ้านตัวเองกลายเป็นเขื่อน
"แม้ว่าจะจบเพียง ป.6 แต่พอมีเรื่องเข้ามา เราต้องหาความรู้เพิ่มเติมตลอดเวลา คอยฟังข่าวสารบ้านเมืองว่าใครเป็นอย่างไร โดยเฉพาะเรื่องที่เกี่ยวกับปัญหาของเรา เราต้องรู้เอาไว้ ชาวบ้านที่สะเอียบดีมาก รวมตัวกันดี สามัคคีกันมาก เพราะเราไม่อยากให้ใครมาเอาพื้นที่บ้านเราไปสร้างเขื่อน เคยไปดูมาแล้วหลายที่ทั่วประเทศ มีปัญหากันทั้งนั้น เรารู้ว่าเขื่อนไม่ใช่วิธีการแก้ปัญหา แต่เป็นตัวสร้างปัญหาต่างหาก คนที่บ้านถูกเอาไปทำเขื่อนย่ำแย่กันทั้งนั้น ไม่เคยเห็นใครมีความสุขสักคน เพราะฉะนั้น เราจะไม่ยอมให้ใครเอาบ้านเราไปทำแบบนั้นเด็ดขาด"
ลุงหงวน เป็น 1 ในกรรมการหมู่บ้านที่ทำหน้าที่คอยสอดส่องความไม่ชอบมาพากลที่จะเกิดขึ้นกับพื้นที่ตัวเอง เช่น คนต่างถิ่นแปลกหน้าเข้ามาติดต่อขอซื้อที่ดิน หรือมีใครลอบขนไม้ออกนอกหมู่บ้าน ชาวบ้านจะรู้กันเร็วมาก วิธีการจัดการ คือ จะเข้าไปคุยกับคนเหล่านั้น และจะไม่ยอมให้เอาของออกนอกพื้นที่เด็ดขาด เป็นกฎหมู่บ้าน ที่ทุกคนช่วยกันร่างขึ้นมา และช่วยกันปฏิบัติอย่างเคร่งครัด
ทุกๆ วันชาวสะเอียบ จำนวน 4-5 คน จะผลัดเปลี่ยน หมุนเวียนกันไปเฝ้าพื้นที่ที่จะถูกนำไปสร้างเขื่อน คอยสอดส่องดูแลว่ามีอะไรไม่ชอบมาพากลบ้าง ไม่ชอบมาพากลในที่นี้หมายถึง มีคนแปลกหน้าเข้ามา เก็บข้อมูลในหมู่บ้านหรือไม่
มีใครเอาไม้ออกจากหมู่บ้านหรือไม่ "จริงๆ แล้วเราเต็มใจที่จะให้ข้อมูลที่ถูกต้องกับทุกคน แต่ที่เราต้องเฝ้าระวังกันขนาดนี้ เพราะก่อนหน้านี้เคยมีผู้ไม่หวังดีเข้ามาถ่ายรูปป่าสักช่วงผลัดใบ แล้วนำไปเผยแพร่ทางสื่อว่า เวลานี้ป่าสักทองกลายเป็นป่าเสื่อมโทรม ไม่ได้อุดมสมบูรณ์อย่างที่ชาวบ้านบอก ดังนั้น การเอาพื้นที่ป่าสร้างเขื่อนจึงไม่ใช่เรื่องที่น่าเสียดายนัก ข้อมูลนี้เป็นข้อมูลที่ผิดมาก ก่อนหน้านี้มีผู้พยายามทำแบบนี้บ่อยๆ เราจึงไม่ไว้ใจคนนอกนัก หากเขาต้องการเข้ามาเอาข้อมูลแบบบริสุทธิ์ใจ ชาวบ้านยินดีให้ความร่วมมือ แต่เราไม่อยากให้ใครบิดเบือนข้อมูล"
วันนี้ลุงหงวน ยังคงทำหน้าที่รับ-ส่งคนข้ามฟาก เพียงแต่เปลี่ยนจากเรือแจวเป็นเรือเครื่องยนต์ ทุกเช้าประมาณตีห้าครึ่ง แกจะมาทำหน้าที่อยู่ที่ท่าข้ามเรือวังผาอิง บ้านดอนชัย มีเพื่อนบ้านมาใช้บริการทั้งวัน ส่วนใหญ่ จะเป็นชาวไร่ และคนเก็บของป่าขาย คิดค่าบริการไป-กลับ คนละ 5 บาท ถ้ามีรถเครื่องข้ามด้วย คันละ 20 บาท คนข้ามฟากส่วนใหญ่คุ้นเคยกันดี ข้ามไปตอนเช้า ตอนเย็นข้ามกลับ จึงค่อยจ่ายเงิน ระบบการคิดเงินแบบนี้แกทำมานานแล้ว ยังไม่มีใครเคยโกงสักที ส่วนใครที่ไม่มีเงินก็บอก แกอาสาพาข้ามให้ฟรีๆ โดยไม่คิดเงิน
ลุงหงวน มีรายได้วันละอย่างน้อย 120 บาท แต่วันไหนโชคดีมีคนมาเที่ยว และเหมาเรือชมคุ้งน้ำก็จะมีรายได้ถึง 600-700 บาท เทียบกับเติมน้ำมันวันละ 2 ลิตร ราคาลิตรละ 20 บาท ถือว่าคุ้มพอสมควร
"ถึงน้ำมันจะขึ้นราคาไปถึงลิตรละ 30 บาท ค่าเรือลุงก็ยังเท่าเดิม ไม่ขึ้นราคาเด็ดขาด ได้เงินเยอะกว่านี้ก็ไม่รู้จะเอาไปทำอะไร คิดว่าช่วยกัน ก็เพื่อนบ้านกันทั้งนั้น" แกบอก
นอกจากขับเรือ ลุงหงวนจะช่วยลูกสาวทำเหล้า แกมีโรงเหล้า ที่มีสูตรของตัวเองที่บ้าน เป็นโรงเหล้าที่เสียภาษีให้กรมสรรพสามิตถูกต้องตามกฎหมาย เหล้าบ้านลุงหงวนจะมีรถจากตลาดเมืองแพร่ มารับไปขายที่พิษณุโลก เชียงราย อุตรดิตถ์ พะเยา และลำปาง ครอบครัวลุงหงวนมีรายได้จากการทำเหล้าเดือนละประมาณ 15,000 บาท พอเพียงและสบายพอสมควรสำหรับการใช้ชีวิตที่นี่
"คนสะเอียบถือว่า การทำเหล้าเป็นวิถีชีวิตอย่างหนึ่ง ทำกันมานานแล้ว เรื่องผิดศีลหรือไม่ผิดศีล ก็แล้วแต่ใครจะคิดกัน สำหรับลุงแล้ว ทุกสิ่งทุกอย่างต้องยึดเอาความพอดีเป็นหลัก มิฉะนั้นจะกลายเป็นความไม่ดีได้ เรื่องเหล้าก็เหมือนกัน กินน้อยเป็นยา แต่ถ้ากินมากก็จะเสียสติ ครองสติไม่ได้ ส่งผลไม่ดีกับตัวเอง"
ลุงหงวน ยังเป็น 1 ในทีมงานนักวิจัยชาวบ้าน ที่ร่วมกันทำงานวิจัยเรื่องทรัพยากรในพื้นที่บ้านสะเอียบ ของแก่งเสือเต้นอีกด้วย เพราะใครๆ ในหมู่บ้านจะรู้ว่า ลุงแกคือ ผู้เชี่ยวชาญอันดับต้นๆ ว่าด้วยเรื่องปลา และการหาปลา เนื่องจากแกจะอยู่กับน้ำเกือบตลอดเวลา "อยู่ตรงนี้ใกล้ๆ กับวังผาอิง ซึ่งเป็นพื้นที่ที่เรากำหนดว่าเป็นพื้นที่อนุรักษ์พันธุ์ปลา ห้ามใครมาทำการใดๆ ในพื้นที่เด็ดขาด เพราะจะกันไว้สำหรับอนุรักษ์พันธุ์ปลาจริงๆ ใครฝ่าฝืนจับปรับลูกเดียว ยิ่งคนฝ่าฝืนเป็นกรรมการหมู่บ้านด้วยก็จะถูกปรับ 2 เท่า เราจะได้เฝ้าดูพื้นที่ด้วย ว่ามีใครมาทำอะไรไม่ถูกต้องหรือเปล่า คนทำผิด ส่วนใหญ่เป็นคนข้างนอก คนในหมู่บ้านไม่ค่อยมี มีบ้างแต่น้อย คนที่นี่เขาเฝ้าพร่ำบอกลูกบอกหลานตัวเองเสมอว่า กฎเกณฑ์ที่เราช่วยกันวางในหมู่บ้านนั้น ไม่ใช่เพื่อใครที่ไหน แต่เพื่อเราทั้งนั้น วันนี้ไม่ดูแล ไม่อนุรักษ์ แล้ววันหน้าจะอยู่จะกินกันอย่างไร" ลุงหงวนพูดอย่างหนักแน่น
แม้วันนี้ จะมีคำมั่นออกมาจากปากนายกรัฐมนตรีแล้วว่า แก่งเสือเต้นจะยังไม่เกิดขึ้นในอนาคตอันใกล้แน่นอน แต่ทุกคนในสะเอียบยังคงทำหน้าที่เฝ้าระวัง ดูแลทรัพยากรดั่งเดิมไม่มีเปลี่ยนแปลง
ไม่มีใครรู้ว่าในอนาคตจะมีอะไรเปลี่ยนแปลงบ้าง รู้แต่ว่าทำวันนี้ให้ดีที่สุดเท่านั้นเอง
อ้างอิง : http://www.matichon.co.th/khaosod/khaosod.php?day=2004/06/01&s_tag=03pro12010647§ionid=0313&show=1&sk=2&searchks=''