eng homeabout usmekong riversalween rivermun riverthai baan researchpublication
 

 

แม่ชะนิ หนึ่งในเหยื่อที่เสียชีวิตรายล่าสุด

 

หมดสิ้นอาชีพเกษตร และป่วยจากฝุ่นระเบิด ทุกวันนี้แม่ไสเลี้ยงหลานด้วย เงินจากการถักไม้กวาด

 

ไม่มีใครยืนยันได้ว่า อภิมหาโครงการ ๒ หมื่นล้านนี้ได้ให้ประโยชน์แก่ ประชาชนบ้างหรือยัง

 

แม่ยวนและสามี กับมรดกความเจ็บป่วย

 

อีกนึ่งชาวบ้านที่เป็นขาประจำ โรงพยายาลโดยไม่ได้สมัครใจ

 

สำหรับชาวบ้าน พลังงานสะอาดที่เจ้าของ โครงการอ้าง มาจากเลือดเนื้อและ ชีวิตของพวกเขาเอง

 
ลมหายใจที่เหลือของเหยื่อ...

เรื่องและภาพ อาทิตย์ ธาราคำ
เครือข่ายแม่น้ำเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

ในมุ้งสีฟ้า คนป่วยขั้นสุดท้ายร่างกายผอมเหลือแต่กระดูกหุ้มด้วยผิวหนังแห้งกรัง กระพุ้งแก้มที่ถูกตัดไปถูกปิดไว้ด้วยผ้าก๊อซ ร่างของแม่ชะนิยังมีสัญญาณของชีวิตอยู่จากหน้าอกที่ค่อยๆ กระเพื่อมขึ้นลงตามลมหายใจ และจากแววตาที่จ้องมองมายังพวกเราฉันไม่อยากเชื่อว่านี่คือแม่ชะนิ คนเดียวกันกับหญิงวัย ๔๐ รูปร่างอ้วนท้วนแข็งแรงคนเก่าที่ฉันเคยรู้จัก “พูดกับเขาสิ เขาฟังรู้เรื่อง แต่พูดไม่ได้แล้ว ไม่รู้กรรมเวรอะไรของเรา” โต๊ะ (แม่ใหญ่) บอกฉันเสียงสั่นเครือ น้ำตาคลอ แม่ชะนิ คือหนึ่งในแกนนำชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบจากโครงการโรงไฟฟ้าพลังน้ำลำตะคองแบบสูบกลับ โครงการผลิตไฟฟ้าของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย จ. นครราชสีมา แม่ชะนิเป็นมะเร็งกรามช้างขั้นรุนแรง โรคร้ายที่เกิดจากการได้รับฝุ่นสารเคมีอย่างรุนแรง ทั้งที่บ้านอยู่บนเขาชายป่า อากาศเย็นสบาย ไม่น่าเป็นโรคนี้ได้“เมื่อก่อนเราเลี้ยงวัวนม ปลูกผัก หาของป่า มีความสุขกันประสาชาวบ้าน ลูกเต้าทุกคนแข็งแรง ช่วยกันทำสวน ขุดมัน ไม่เคยอดอยาก” โต๊ะเล่าให้ฟังถึงความหลังแต่เมื่อ ๘ ปีก่อน กฟผ. เข้ามาทำโครงการฯ ซึ่งขุดอ่างเก็บน้ำขนาดมหึมากว่า ๒๐๐ ไร่ บนเขายายเที่ยง และขุดอุโมงค์ส่งน้ำเพื่อดูดน้ำจากอ่างลำตะคองขึ้นมาเพื่อปล่อยลงไปปั่นไฟ การระเบิดอุโมงค์และสร้างอ่างเปลี่ยนแปลงชีวิตของแม่ชะนิ และชีวิตชาวบ้านทุกคนที่นี่ ตลอดไป...“มันระเบิดทุกวัน เที่ยงกับหกโมงเย็น ไม่มีวันหยุด ระเบิดเกือบ ๓ ปีเต็ม” ละ หลานสาวที่คอยพยาบาลอยู่เล่า “ระเบิดทีนึงบ้านสะเทือน ฝุ่นควันลอยขึ้นฟ้า คลุ้งลงมาเต็มบ้าน เต็มสวน ลมไปถึงไหนมันตกตกนั่น เหม็นมาก ต้องหาผ้ามาปิดจมูก คนมีลุกเล็กๆ ต้องเอาผ้าคลุมเปลไว้”หลังจากเริ่มมีการระเบิด ชาวบ้านมีอาการเจ็บป่วยเกี่ยวกับทางเดินหายใจ หายใจติดขัด ผิวหนังพุพอง เป็นไข้ ตาฝ้าฟาง และอาการเจ็บป่วยอื่นๆ ก็กลายเป็นส่วนหนึ่งของทุกชีวิตบนเขาแห่งนี้อาการ “หายใจไม่อิ่ม” เป็นโรคที่แทบทุกคนให้การเหมือนๆ กัน “นั่งๆ อยู่บางทีเหมือนลืมหายใจ ต้องสูดลมเข้าไปเยอะๆ ทำอะไรก็เหนื่อยง่าย ทำงานแทบไม่ไหว จะให้ไม่ป่วยได้ยังไง สูดฝุ่นเข้าไปสามปีเต็ม กินก็กินน้ำฝนผสมฝุ่น อาบก็อาบน้ำฝุ่นนี่แหละ มันมีสารพิษอะไรบ้างก็ไม่รู้ ขนาดต้นไม้ยังตาย คนโดนจะเหลืออะไร” โต๊ะ เสริมด้วยน้ำเสียงเบาๆเช่นเดียวกับครอบครัวอื่นๆ ที่นี่ ทุกคนในบ้านแม่ชะนิเจ็บป่วยออดๆ แอดๆ เข้าออกโรงพยาบาลกันตลอด แต่ช่วงแรกชาวบ้านก็ยังไม่รู้ว่าทำไมตนเองจึงป่วย หมอที่โรงพยาบาลและคลินิกละแวกนี้ ไม่ได้ให้คำอธิบายใดๆ ครั้งที่พ่อใหญ่ป่วยช่วงปีแรกของการระเบิด หมอที่โรงพยาบาลอำเภอตรวจอาการ ถามว่าบ้านอยู่ใกล้ถนนหรือโรงงานอุตสหกรรมหรือไม่ แต่ครอบครัวก็บอกว่าไม่มีโรงงานอะไรใกล้บ้าน “ตอนนั้นเราก็คิดไม่ถึงเลยว่าเป็นเพราะฝุ่นระเบิด จากนั้นไปหาหมออีก บอกหมอว่าที่บ้านอยู่เขายายเที่ยงที่กฟผ. มาทำอ่าง หมอก็เงียบไม่ว่าอะไร ให้ยากินจนพ่อตายไป เหมือนกันทุกคน ไปหาหมอ พอหมอรู้ว่ามาจากเขายายเที่ยงก็ไม่ยอมพูดอะไรอีก ให้ยากินรอดตายไปวันๆ ” โต๊ะกล่าวเสริมอาการคล้ายๆ กันก็เกิดกับชาวบ้านผู้โชคร้ายคนอื่นๆ ที่อาการสาหัส แต่หมอกลับไม่ยอมระบุสาเหตุของโรคพี่พิศ เล่าให้ฟังถึงอาการของลุงเธอว่า “ลุงแกแข็งแรงดี แต่พอมีการระเบิดอุโมงค์ได้ ๒ ปี แกก็แน่นหน้าอกมาก พาไปโรงพยาบาลอำเภอ หมอให้ส่งไปจังหวัด พอไปถึงหมอพาเข้าฉุกเฉิน พยาบาลก็เอาสายยางเข้าไปใยจมูกแก พอแหย่สายยางเข้าไป น้ำอะไรไม่รู้สีเหลืองคล้ำพุ่งออกมาจากจมูก เลอะเต็มห้อง หมอพยาบาลแตกกระเจิง พยาบาลคนนึงร้องว่า ฝุ่นอะไร แล้วลุงก็ตายคืนนั้น ฉันก็อยากรู้เหมือนกันว่ามันฝุ่นอะไรเข้าไปอัดในปอดแกจนตาย”โรคร้ายที่มาเยือนทุกคนในหมู่บ้านอย่างถ้วนหน้า เริ่มทำให้ชาวบ้านเข้าใจในที่สุดว่าเป็นเพราะฝุ่นการระเบิด และรวมตัวกันยื่นหนังสือเรียกร้องทางจังหวัดให้มาตรวจสอบ แต่นั่นก็เป็นเวลาที่การระเบิดเสร็จสิ้นไปแล้ว

“พอยื่นหนังสือ ทางการเขาก็มาตรวจ เขาบอกว่าเราเจ็บป่วยธรรมดา ฉันว่ามันจะธรรมดาได้ยังไง เป็นเหมือนกันพร้อมๆ กันทั้งหมู่บ้าน กินยาไม่ได้ขาดมาจนทุกวันนี้ กลายเป็นคนขี้โรคกันหมด ” พี่พิศว่า

...........................................

หลังจากลุกขึ้นสู้ด้วยตัวเอง ชาวบ้านก็เข้าร่วมการต่อสู้เรียกร้องความเป็นธรรมจากรัฐ ร่วมขบวนกับสมัชชาคนจน ซึ่งมีการตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง แต่ปัจจุบันผ่านไปแล้ว ๓ ปี คณะกรรมการก็ยังไม่สามารถดำเนินการตรวจสอบได้อย่างเป็นรูปธรรม ขณะที่ชีวิตชาวบ้านเหมือนตกอยู่ในนรกทั้งเป็น เจ็บป่วย ไร้อาชีพ มีหนี้สิน และภาระการรักษาตัวท่ำม่มีวี่แววว่าจะจบสิ้นชาวบ้านหมู่ ๖ ซึ่งหมู่บ้านตั้งอยู่ใกล้โครงการที่สุด แทบเรียกได้ว่าสูญสิ้นทุกอย่างจากโครงการนี้ เนื่องจากที่ดินถูกเวนคืนเพื่อสร้างอ่าง พื้นที่ไร่สวนจึงอันตรธานหายไปแลกด้วยค่าชดเชยอันน้อยนิด ชาวบ้านอยู่ในที่ดินผืนเล็กๆ ไม่มีไร่นา ไม่มีเรี่ยวแรงทำงาน ได้แต่ไพหญ้าคาขาย ตับละ ๔ บาท เพื่อแลกมากับเศษเงินเลี้ยงครอบครัว“เมื่อก่อนเราทำไร่ทำสวน ไพหญ้าคาเวลาว่างๆ ทำเป็นอาชีพเสริม ตอนนี้ลูกเอ้ย... บ้านไหนก็ไพหญ้าคากันหมด ที่เกี่ยวหญ้าก็ไม่มี ต้องเหมารถกันไปเกี่ยวที่อื่น เอาหญ้ามาไพขายได้กำไรบาทสองบาท แต่ก็ต้องทำ ไม่งั้นก็ไม่มีอะไรจะกิน อนาถใจเหลือเกินลูกเอ๊ย...มันมาทำลายเราทุกอย่าง” พ่อบัวพูดอย่างคนปลง“โครงการนี้เขาว่ามันดี พ่อว่ามันดีสำหรับเศรษฐี คนจนมันจะตายกันหมด” ส่วนหมู่ ๑๐ ที่อยู่ไกลออกไปจากโครงการประมาณ ๑ กิโลเมตร แม้ยังมีที่ดิน ก็ไม่ได้หมายความว่าจะอยู่ในฐานะที่ดีกว่า เนื่องจากพืชผลถูกทำลายด้วยฝุ่นปนเปื้อนจากการระเบิด ไร่สวนที่เคยให้ผลผลิตดีก็พังพินาศลง แม้วันนี้สภาพแวดล้อมจะดูเหมือนว่ากลับสู่สภาพปรกติ แต่ผลผลิตก็ตกต่ำ ไม่คุ้มทุน “ไร่ข้าวโพดของฉันพังหมด ช่วงระเบิดฝุ่นลงข้าวโพดไม่ออกฝักเลยเลย ฉันไปกูเถ้าแก่มาใส่ปุ๋ย ก็ยังไม่ดี ปีต่อไปก็กู้อีก มันล่มหมด หนี้ทับ ดอกเบี้ยบาน” แม่ใส ผู้มีอาการเจ็บหน้าอกค่อยๆ พูดอธิบายให้เราฟัง พลางสานไม้กวาด อาชีพหลักปัจจุบันของเธอ “ลูกฉันต้องออกไปรับจ้างในเมือง ทิ้งหลานไว้ให้เลี้ยง นานๆ ก็ส่งค่านมมาให้ ฉันก็มีแต่ค่าขายไม้กวาดนี่แหละ”

..........................................

ช่วงการก่อสร้างโครงการ ชาวบ้านบางส่วนมีรายได้จากการทำงานก่อสร้าง เงินเดือนดี แต่ผลที่ได้นั้นแถมมาด้วยโรคร้าย ดังกรณีของครอบครัวแม่ยวน ที่เข้าไปรับจ้างก่อสร้างทั้งสามีและภรรยา“ทำงานก่อสร้างในอุโมงค์ เจาะระเบิด วันๆ อยู่แต่ในอุโมงค์ตลอด เงินดี เอามาซื้อวัวเก็บไว้ แต่ตอนนี้ไม่เหลือเลย ขายจ่ายค่าหมอหมด” สามีของแม่ยวนเล่าพลางชูใบรับรองแพทย์ให้ดู “หาหมอไม่เว้นแต่ละเดือน ได้ใบรับรองแพทย์มาลางานเป็นปึกๆ ไม่มีเขาก็ไม่ให้หยุดงาน กลั้นใจทำมาจนก่อสร้างเสร็จ”เมื่อถูกถามถึงคนงานคนอื่นๆ ที่เคยทำงานในอุโมงค์ด้วยกัน แกตอบเสียงดัง “โอ้ย กลับไปตายกันที่บ้านเท่าไหร่ไม่รู้ เจ็บกันทุกคน ไม่ป่วยยังไงได้อยู่ในอุโมงค์กับระเบิดทั้งวัน” ทุกวันนี้ครอบครัวแม่ยวนไม่เหลืออะไร นอกจากบ้าน กับภาระค่ารักษาตัวของทุกคนในครอบครัว โดยเฉพาะตัวเองและสามีที่อาการหนักเนื่องจากได้ทำงานใกล้ชิดระเบิดโดยตรง รายได้ของแม่ยวนคือการไพหญ้าคาเหมือนชาวบ้านคนอื่นๆ ในหมู่บ้านถามว่าหากมีงานก่อสร้างโครงการอีกจะกลับไปทำหรือไม่ สามีแม่ยวนตอบเสียงดังฟังชัด “โอ๊ย ไม่ไปแล้วล่ะครับ เสี่ยงเป็นเสี่ยงตายมาเพื่ออะไรก็ไม่รู้ รอดมาได้นี่เป็นบุญ ถูกเขาหลอก กลับไปเหมือนเดิมทำไร่ทำสวนยังมีความสุขกว่า แต่ตอนนี้ก็ไม่เหลือแล้ว”“เขาไม่ยอมรับว่าการระเบิดทำให้เราเจ็บ ไม่ยอมรับความผิด เรียนจบกันมาสูงๆ ทั้งนั้น ไม่รู้เรียนมาทำไม เราจบแค่ ป.๔ ยังรู้จักผิดจักถูก” แม่ยวนเสริม .............................................. โครงการโรงไฟฟ้าพลังน้ำลำตะคองแบบสูบกลับ เป็นอภิมหาโครงการมูลค่าลงทุนกว่า ๒๐,๐๐๐ ล้านบาท เพื่อปั่นไฟในช่วงที่มีความต้องการไฟสูง แต่จนทุกวันนี้ก็ยังไม่เป็นที่ชัดเจนว่าโครงการได้เริ่มปั่นไฟเข้าระบบอย่างเป็นทางการแล้วหรือยัง เพราะภาพที่ชาวบ้านเห็นตลอดมาคือการซ่อมแซมอ่างเก็บน้ำ“อ่างมันรั่ว เขาซ่อมกันมาตั้งแต่สร้างเสร็จ ป่านนี้ยังซ่อมอยู่เลย ไม่รู้สร้างไปทำไม เงินตั้งหมื่นล้าน แล้วก็ไม่มาแก้ปัญหาพวกเราเลย” ชาวบ้านเล่าให้ฟังโครงการแพงระยับนี้ได้เงินกู้จากธนาคารโลก และธนาคารเพื่อความร่วมมือระหว่างประเทศญี่ปุ่น (เจบิก) ชาวบ้านได้พยายามส่งจดหมาย และเข้าเจรจากับธนาคารโลก เพื่อให้ลงมารับผิดชอบโครงการที่ตนเองสนับสนุน แต่ธนาคารโลกตอบว่าเจ้าของโครงการ คือ กฟผ. ต้องเป็นผู้รับผิดชอบ ส่วนทางเจบิกก็ตอบมาในลักษณะคล้ายกัน เมื่อต้นปี ๒๕๔๖ แม่ชะนิเคยเดินทางไปถึงกรุงโตเกียว เพื่อคุยกับเจ้าหน้าที่ระดับสูงของเจบิกที่สำนักงานใหญ่ แต่คำตอบที่ได้คือความว่างเปล่า ในวงการประชุมที่โตเกียวครั้งนั้น แม้จะไม่มีคำตอบจากองค์กร แต่ผู้บริหารเจบิกก็ต้องถึงกับน้ำตาซึมเมื่อแม่ชะนิเล่าเรื่องราวความทุกข์ของชาวบ้านที่เมืองไทย ที่ซึ่งพวกเขาให้เงินไปสร้างโครงการ“ถ้าคุณเป็นฉันคุณจะทำยังไง เขามาระเบิดที่บ้าน ป่วยกันทั้งบ้าน เงินจะรักษาตัวก็ไม่มี อาชีพก็พัง แล้วทำไมคุณทำถึงไม่รับผิดชอบกันบ้าง เงินของคุณให้เขามาทำร้ายชาวบ้าน คุณทำได้ยังไง” ประโยคของแม่ชะนิทำเอาทั้งห้องเงียบงัน แต่ก็ยังไม่มีคำตอบใดมาจนบัดนี้

...........................................

ธงสีฟ้าโบกสะบัด บนธงเป็นสัญลักษ์ของพลังงานไฟฟ้าจากน้ำ ซึ่งคนทั้งโลกถูกทำให้เชื่อว่าเป็นพลังงานสะอาด พริ้วธงปักติดรอบอ่างเก็บน้ำในงานแข่งขัน “ไตรกีฬา ทะเลสบสูบกลับระดับฟ้า” ที่เจ้าของโครงการพยายามโปรโมตให้อ่างดำมหึมานี้เป็นสถานที่ท่องเที่ยว เพื่อให้ประชาชนรู้สึกดีกับโครงการ ว่านอกจากจะผลิตไฟฟ้าแล้ว ยังเป็นสถานที่ท่องเที่ยวได้อีกด้วย ขวนรถรถจักรยานมากมายปั่นทะยานผ่านหน้าบ้านของชาวบ้านไปเป็นสาย พ่อบัวมองตามพลางบอกเรา“เขามาเที่ยวเขาก็นึกว่ามันดี โครงการระดับโลก แต่เขาไม่เคยรู้เรื่องพวกเราเลย” พ่อบัวพูดกับเราก่อนชวนเข้าบ้านเพราะไม่อยากเห็น

.........................................

“แม่ชะนิตายแล้ว จะฝังพรุ่งนี้เที่ยง” เสียงตามสายบอกข่าวร้ายแบบฟ้าผ่า ทำเอาคนฟังใจหายวาย เราเพิ่งจะกลับมาเมื่อ ๒ วันก่อน วันนี้ต้องออกเดินทางไปลำตะคองอีกครั้งเพื่อเข้าร่วมงานศพ

กลางแสงแดดจ้าของเวลาเที่ยงวันของเดือนมีนาคม ชาวบ้านหลายสิบคนยืนล้อมหลุมศพเรียบง่ายแบบมุสลิม ร่างของแม่ชะนิ กาซัน ชาวบ้านลำตะคองรายล่าสุดที่สิ้นชีวิตไป ร่างของเธอถูกฝังกลบ ให้หลับเธออยู่ใต้ผืนดินไปชั่วนิรันดร์ ทิ้งให้เพื่อนร่วมชะตากรรมคนอื่นมีลมหายใจต่อไป กับความทรมาน...

 
 

สมาคมแม่น้ำเพื่อชีวิต   138/1 หมู่ 4 ต.สุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่   50200
Living River Siam Association  138 Moo 4, Suthep, Muang, Chiang Mai, 50200   Thailand
Tel. & Fax.: (66)-       E-mail : admin@livingriversiam.org

ข้อมูลในเวปนี้สามารถนำไปเผยแพร่ได้โดยอ้างอิงแหล่งที่มา